แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ผู้ตายได้ทำพินัยกรรมไว้มีข้อความและลักษณะครบถ้วนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1656 และ มาตรา 1671ทุกประการ เป็นแต่ ป. ผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้เขียนและพยานในพินัยกรรมจะเป็นผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมไม่ได้เท่านั้นเพราะเป็นการฝ่าฝืน มาตรา 1653 และ มาตรา 1705 ส่วนข้อกำหนดพินัยกรรมในส่วนอื่นยังสมบูรณ์อยู่ ดังนั้น แม้ผู้ตายจะได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมด ให้ผู้ร้องแต่ ผู้เดียวตามพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 12 มกราคม 2523 ต่อมาผู้ตายทำพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2523 ยกทรัพย์มรดกทั้งหมด ให้แก่บุตรทุกคนคือผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งเจ็ด พินัยกรรมฉบับก่อน เป็นอันเพิกถอนโดยพินัยกรรมฉบับหลัง
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้อง และมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้คัดค้านที่ 1 ผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งเจ็ดฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีนี้คู่ความทั้งสองฝ่ายต่างอ้างพินัยกรรมของผู้ตายฝ่ายละ 1 ฉบับ เป็นพยานหลักฐานเพื่อสนับสนุนข้อกล่าวอ้างของตนโดยผู้ร้องอ้างพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 12 มกราคม 2523 ซึ่งระบุให้ยกทรัพย์มรดกทั้งหมดแก่ผู้ร้องแต่ผู้เดียวตามเอกสารหมาย ร.2 ฝ่ายคัดค้านทั้งเจ็ดอ้างพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2523 ซึ่งระบุให้ยกทรัพย์มรดกทั้งหมดแก่บุตรทุกคน คือผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งเจ็ดและให้ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกตามเอกสารหมาย ค.1 และในการสืบพยานนั้นคู่ความทั้งสองฝ่ายต่างให้ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายของตนทำการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อของผู้ตายในพินัยกรรมว่าเป็นลายมือชื่อของผู้ตายใช่หรือไม่ และผู้เชี่ยวชาญของแต่ละฝ่ายมาเบิกความประกอบความเห็นต่อศาลด้วย ศาลชั้นต้นจึงตั้งปัญหาวินิจฉัยว่า พินัยกรรมของฝ่ายใดเป็นพินัยกรรมที่แท้จริง แล้ววินิจฉัยชี้ขาดว่าน่าเชื่อว่าผู้ตายได้ทำพินัยกรรมมาย ค.1 ไว้จริงพินัยกรรมฉบับแรกหมาย ร.2 จะเป็นพินัยกรรมที่ถูกต้องแท้จริงหรือไม่ พินัยกรรมฉบับหลังหมาย ค.1 ย่อมเพิกถอนพินัยกรรมฉบับแรกศาลฎีกาเห็นว่า การวินิจฉัยของศาลชั้นต้นดังกล่าวเป็นการวินิจฉัยพยานหลักฐานที่คู่ความอ้างอิงในสำนวนและเป็นการชี้ขาดในประเด็นที่คู่ความโต้เถียงกันโดยตรงเป็นการถูกต้องและชอบด้วยกระบวนพิจารณา ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ข้อพิพาทนี้จะต้องฟ้องร้องให้ศาลวินิจฉัยเป็นอีกคดีหนึ่งนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย สำหรับในปัญหาที่ว่า พินัยกรรมของฝ่ายใดเป็นพินัยกรรมที่แท้จริงนั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว คดีไม่ปรากฏจากข้อนำสืบของฝ่ายใดว่าพินัยกรรมตามเอกสารหมาย ร.2 และตามเอกสารหมาย ค.1 ไม่สมบูรณ์แต่ประการใด เป็นแต่ทั้งสองฝ่ายต่างส่งพินัยกรรมไปให้ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายของตนทำการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อของผู้ตายในพินัยกรรมว่าเป็นลายมือชื่อผู้ตายใช่หรือไม่เท่านั้น ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายผู้ร้องคือ พันตำรวจเอก (พิเศษ) จำรัส ฟอลเล็ต ได้ตรวจพิสูจน์เปรียบเทียบลายมือชื่อผู้ตายในพินัยกรรมหมาย ค.1 กับลายมือชื่อผู้ตายในเอกสารอื่นหลายฉบับ แล้วมีความเห็นว่าปากกาลูกลื่นที่ใช้เขียนชื่อผู้ตายในพินัยกรรมหมาย ร.2 เป็นปากกาชนิดดีกว่าปากกาที่เขียนพินัยกรรมหมาย ค.1 และเส้นหมึกในพินัยกรรมหมาย ค.1 ก็เขียนหนักกว่าในพินัยกรรมหมาย ร.2 จึงเห็นว่า ลายมือชื่อของนางทองใบในพินัยกรรมหมาย ค.1 ไม่ใช่ลายเซ็นของนางทองใบ ส่วนผู้เชี่ยวชาญฝ่ายผู้คัดค้าน คือพันตำรวจโทวิสุทธิ สุวรรณสุทธิได้ตรวจพิสูจน์เปรียบเทียบลายมือชื่อของผู้ตายในพินัยกรรมหมาย ค.1 กับตัวอย่างลายมือชื่อที่แท้จริงของผู้ตายในบัตรตัวอย่างลายมือชื่อของผู้ตายที่ธนาคารไทยทนุ จำกัด และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พูลพิพัฒน์ จำกัด แล้วมีความเห็นว่า มีคุณสมบัติของการเขียนและรูปลักษณะตัวอักษรคล้อยคลึงกัน แต่เนื่องจากลายมือชื่อที่เป็นปัญหามีจำนวนตัวอักษรน้อยตัวและมีลักษณะการเขียนลายมือที่ไม่สันทัดในการเขียนภาษาไทยประกอบกับตัวอย่างลายมือชื่อมีจำนวนน้อย และมีลักษณะการเขียนไม่คงที่เพียงพอในกรณีนี้จึงไม่อาจลงความเห็นยืนยันให้เป็นหลักฐานได้ ศาลฎีกาเห็นว่า ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญทั้งสองฝ่ายแตกต่างไม่ลงรอยกันจึงรับฟังเป็นยุติแน่นอนไม่ได้ ข้อเท็จจริงจึงต้องพิจารณาจากพยานบุคคลที่คู่ความนำสืบต่อไป ได้ความจากนายประดิษฐ์ผู้คัดค้านที่ 5 ซึ่งเป็นบุตรชายคนที่ 3 ของผู้ตาย และนายเทียนปอหอประทานสุข ซึ่งเป็นลุงของคู่ความทั้งสองฝ่ายเบิกความต้องกันว่า เมื่อวันที่1 พฤศจิกายน 2523 ผู้ตายมีความประสงค์จะทำพินัยกรรม นายประดิษฐ์จึงพาผู้ตายไปที่บ้านนายเทียนปอซึ่งอยู่ติดกันและได้เป็นผู้เขียนพินัยกรรมหมาย ค.1 ขึ้น ตามความประสงค์ของผู้ตายโดยให้แบ่งทรัพย์มรดกแก่ลูก ๆ รวม 8 คน คนละส่วนเท่า ๆ กัน และให้นายประมุขบุตรชายคนสุดท้องเป็นผู้จัดการมรดก เขียนแล้วได้อ่านให้ผู้ตายฟังแล้วนายเทียนปอก็รับไปอ่านและอธิบายให้ผู้ตายฟังแล้วผู้ตายก็ลงลายมือชื่อเป็นภาษาไทย จากนั้นนายเทียนปอก็ลงลายมือชื่อเป็นพยานแล้วนายประดิษฐ์ก็ลงลายมือชื่อเป็นพยานและผู้เขียนขณะนั้นผู้ตายมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ มีสุขภาพดี ผู้ตายมอบพินัยกรรมหมาย ค.1 นี้ให้กับนายเทียนปอเก็บรักษาไว้โดยทั้งนายเทียนปอและนายประดิษฐ์ไม่ได้แจ้งเรื่องนี้ให้ใครทราบก่อนมีกรณีพิพาทกัน ศาลฎีกาเห็นว่านายเทียนปอ หอประสาทสุข มีอายุ 76 ปี เป็นญาติผู้ใหญ่ของคู่ความทั้งสองฝ่ายมิได้มีส่วนได้เสียกับฝ่ายใด คำเบิกความของนายเทียนปอ หอประสาทสุข จึงมีน้ำหนักเชื่อถือได้และรับฟังได้ว่า ผู้ตายได้ทำพินัยกรรมหมาย ค.1 ไว้จริง ปรากฏว่าพินัยกรรมหมาย ค.1 มีข้อความและลักษณะครบถ้วนตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายและพาณิชย์ มาตรา 1656 และมาตรา 1671 ทุกประการเป็นแต่นายประดิษฐ์ผู้คัดค้านที่ 4 ซึ่งเป็นผู้เขียนและพยานในพินัยกรรมจะเป็นผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมนั้นไม่ได้เท่านั้นเพราะเป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1653 และมาตรา 1705 ส่วนข้อกำหนดพินัยกรรมในส่วนอื่นยังสมบูรณ์อยู่ ดังนั้นถึงแม้ผู้ตายจะได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่ผู้ร้องแต่ผู้เดียวตามพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 12 มกราคม 2523 เอกสารหมาย ร.2 แต่ต่อมาผู้ตายได้ทำพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2523 ยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่บุตรทุกคนคือผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งเจ็ด และให้ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกตามเอกสารหมาย ค.1 พินัยกรรมฉบับลงวันที่ 12 มกราคม 2523 ตามเอกสารหมาย ร.2 จึงขัดกับพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2523ตามเอกสารหมาย ค.1 พินัยกรรมฉบับลงวันที่ 12 มกราคม 2523 ตามเอกสารหมาย ร.2 อันเป็นพินัยกรรมฉบับก่อนเป็นอันเพิกถอนโดยพินัยกรรมฉบับลงวันที่1 พฤศจิกายน 2523 ตามเอกสารหมาย ค.1 อันเป็นพินัยกรรมฉบับหลังตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1697 ผู้ร้องจึงหมดสิทธิรับทรัพย์มรดกทั้งหมดตามพินัยกรรมหมาย ร.2 คงมีสิทธิรับทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมหมาย ค.1
คดีคงมีปัญหาต่อไปว่า ควรให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแต่ฝ่ายเดียวหรือเป็นผู้จัดการของผู้ตายร่วมกับผู้คัดค้านที่ 1 หรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พินัยกรรมเอกสารหมาย ค.1 มีข้อกำหนดให้ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกรายนี้ และคดีไม่ปรากฏว่า ข้อกำหนดพินัยกรรมซึ่งตั้งผู้จัดการมรดกดังกล่าวไม่มีผลบังคับได้ด้วยประการใด ๆ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 วรรคท้ายบัญญัติให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกตามข้อกำหนดพินัยกรรม นอกจากนั้นยังได้ความจากคำเบิกความของผู้ร้องและนางวิลาวัณย์ภริยาผู้ร้องเองว่า ก่อนผู้ตายถึงแก่กรรม 9 วัน ผู้ร้องได้พาผู้ตายไปเปิดตู้นิรภัยที่ธนาคารไทยทนุ จำกัด สำนักงานใหญ่ เอาทรัพย์สินทั้งหมดในตู้นิรภัยนั้นมาฝากนางวิลาวัณย์ไว้ และปัจจุบันผู้ร้องและนางวิลาวัณย์ได้ขายเครื่องเพชรดังกล่าวไปบ้างแล้ว ซึ่งขัดกับคำร้องของผู้ร้องที่กล่าวอ้างว่าการจัดการมรดกมีเหตุขัดข้องเนื่องจากธนาคารไม่ยินยอมให้ผู้ร้องเปิดตู้นิรภัยของผู้ตาย และส่อให้เห็นถึงความไม่สุจริตของผู้ร้องอีกด้วย และยังได้ความต่อไปจากคำเบิกความของนางวิลาวัณย์ภริยาของผู้ร้องและพยานฝ่ายผู้คัดค้านโดยเฉพาะนายเทียนปอ หอประสาทสุข ซึ่งเป็นญาติผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายว่าผู้ร้องเป็นคนชอบเล่นการพนันอีกด้วย ศาลฎีกาจึงเห็นว่า ไม่มีเหตุที่จะให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแต่ฝ่ายเดียว และไม่สมควรให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกับผู้คัดค้านที่ 1 ด้วย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการของผู้ตายร่วมกับผู้คัดค้านที่ 1 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น แต่ฎีกาของผู้คัดค้านฟังขึ้น”
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า ให้เป็นไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ