คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1209/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในกรณีที่เด็กอายุเกิน 7 ปี แต่ไม่เกิน 14 ปี กระทำผิดอาญานั้น กฎหมายไม่เอาโทษอาญาอยู่แล้ว และให้อำนาจศาลจัดการแก่เด็กตามสมควรแก่กรณีเป็นขั้นๆ ไปถึง 5 ข้อ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 74 ซึ่งเกี่ยวข้องกับบิดามารดาของเด็ก หรือผู้ปกครองเด็ก หรือบุคคลที่เด็กอาศัยอยู่ ศาลจึงควรสอบถามเด็กและเรียกบุคคลดังกล่าวมาสอบถามพร้อมโจทก์ เพื่อจะได้ใช้ดุลพินิจจัดการแก่เด็กให้เหมาะสม จะพิจารณาแต่เฉพาะสภาพความผิดที่เด็กกระทำอย่างเดียวไม่ควร ไม่ว่าเด็กจะกระทำผิดร้ายแรงเพียงไร ก็ชอบที่จะได้พิจารณาถึงสาเหตุแห่งการกระทำผิด สภาพความเป็นอยู่ของเด็กและครอบครัวของเด็กรวมทั้งสิ่งแวดล้อมทั้งปวง การส่งตัวเด็กไปยังสถานฝึกและอบรมเด็กตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 74(5) นั้น ควรกระทำต่อเมื่อจำเป็นต้องกระทำ หรือไม่มีวิธีอื่นใดที่จะกระทำได้ตามอนุมาตรา 1 ถึง 4 แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องจำเลยให้การรับสารภาพว่า ได้ใช้กำลังชกต่อยทำร้ายผู้เสียหายและกระทำอนาจารโดยพยายามข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหาย

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295, 277, 279, 80 แต่ไม่ต้องรับโทษ ให้ส่งตัวจำเลยไปรับการอบรมยังสถานฝึกและอบรมเยาวชนบ้านห้วยโป่ง จังหวัดระยองจนกว่าจำเลยจะมีอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 74(5)

จำเลยอุทธรณ์ว่ายังเยาว์วัยอยู่มาก และสำนึกในความผิดแล้วเกรงกลัวต่อการถูกส่งตัวไปควบคุมกับเด็กอื่น ๆ ที่มีความผิดจำเลยรับรองจะกลับตัวได้ บิดาจำเลยได้มาเยี่ยมจำเลย และจะขอความกรุณาต่อศาลเพื่อรับตัวจำเลยไปปกครองดูแล ปรากฏตามคำร้องของพันจ่าเอกเหม่ง สินชัยกิจ บิดาจำเลยที่ได้เสนอมาพร้อมอุทธรณ์นี้ด้วยแล้ว

ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ ส่วนคำร้องของบิดาจำเลย ศาลสั่งว่าจะมอบตัวให้รับไปไม่ได้ เพราะขัดต่อคำพิพากษา ให้ยกคำร้อง

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้มอบตัวจำเลยแก่บิดาจำเลยรับไปอบรมระมัดระวังมิให้ก่อเหตุร้ายขึ้นอีกภายในกำหนด 3 ปี ถ้าจำเลยก่อเหตุร้ายขึ้นในกำหนดดังกล่าว ให้บิดาจำเลยชำระเงินต่อศาลครั้งละหนึ่งพันบาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 74(2) นอกจากนี้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ในกรณีที่เด็กอายุเกิน 7 ปี แต่ไม่เกิน 14 ปี กระทำผิดอาญานั้น กฎหมายไม่เอาโทษอาญาอยู่แล้ว และให้อำนาจศาลจัดการแก่เด็กตามสมควรแต่กรณีเป็นขั้น ๆ ไปถึง 5 ข้อตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 74 ซึ่งเกี่ยวข้องกับบิดามารดาของเด็กหรือผู้ปกครองเด็ก หรือบุคคลที่เด็กอาศัยอยู่ ศาลจึงควรสอบถามเด็กและเรียกบุคคลดังกล่าวมาสอบถามพร้อมโจทก์ เพื่อจะได้ใช้ดุลพินิจจัดการแก่เด็กให้เหมาะสม จะพิจารณาแต่เฉพาะสภาพความผิดที่เด็กกระทำอย่างเดียวไม่ควร ไม่ว่าเด็กจะกระทำผิดร้ายแรงเพียงไรก็ชอบที่จะได้พิจารณาถึงสาเหตุแห่งการกระทำผิด สภาพความเป็นอยู่ของเด็กและครอบครัวของเด็ก รวมทั้งสิ่งแวดล้อมทั้งปวง การส่งตัวเด็กไปยังสถานฝึกและอบรมเด็กตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 74(5) นั้น ควรจะกระทำต่อเมื่อจำเป็นต้องกระทำ หรือไม่มีวิธีอื่นใดที่จะทำได้ตามอนุมาตรา 1 ถึง 4 แล้ว

ข้อที่โจทก์ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ไม่ควรรับฟังคำร้องของบิดาจำเลยขึ้นมาวินิจฉัยประกอบข้ออุทธรณ์ของจำเลย เพราะยื่นภายหลังที่ศาลชั้นต้นพิพากษาแล้ว และศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องแล้วนั้น ความจริงจำเลยอุทธรณ์ข้อนี้และอ้างถึงคำร้องของบิดาจำเลยที่เสนอมาพร้อมอุทธรณ์ ซึ่งต้องหมายความว่า จำเลยและบิดาจำเลยมีคำขอต่อศาลอุทธรณ์ขอให้พิจารณาตามอุทธรณ์ของจำเลย ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของจำเลยแล้วก็ควรสั่งรับคำร้องของบิดาจำเลย เพื่อให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาโดยส่งสำเนาให้โจทก์ด้วย เพื่อให้โอกาสโจทก์จะคัดค้านคำร้องของบิดาจำเลยอย่างไรหรือไม่ ปรากฏว่าโจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้วและได้แก้อุทธรณ์อ้างถึงคำร้องของบิดาจำเลยโดยคัดค้านแต่เพียงว่าบิดาจำเลยรับราชการอยู่ที่ฐานทัพเรือสัตตหีบ จังหวัดชลบุรี เมื่อถึงวันเสาร์วันอาทิตย์จึงจะกลับมาเยี่ยมบ้านสักครั้งหนึ่งจึงไม่มีโอกาสใกล้ชิดที่จะอบรมสั่งสอนจำเลยได้ บัดนี้ โจทก์จะมาคัดค้านว่าศาลอุทธรณ์ไม่ควรรับคำร้องของบิดาจำเลยขึ้นพิจารณาประกอบข้ออุทธรณ์ของจำเลยอย่างไรได้

พิพากษายืน ให้ยกฎีกาโจทก์

Share