แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ฟ้องโจทก์ที่มิได้ลงชื่อ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(7) เป็นฟ้องที่ไม่ถูกต้อง. เมื่อคดีขึ้นสู่ศาลฎีกา ศาลฎีกาย่อมพิพากษายกฟ้อง.
ย่อยาว
คดีนี้ โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองว่าขับรถโดยประมาท ทำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บ ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2477 มาตรา 28, 29, 66 จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นฟังว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถโดยประมาท จึงมีความผิดตามฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 2 หาได้ประมาทไม่ พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 หกเดือน ยกฟ้องจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 1 ฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่า ฟ้องโจทก์มิได้ลงชื่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(7) จึงเป็นฟ้องที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายแต่ทว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 161 ให้ศาลสั่งให้โจทก์แก้ฟ้อง ฯลฯ ซึ่งเรื่องนี้การที่จะกลับสั่งไม่ประทับฟ้องหรือให้โจทก์แก้ฟ้องเสียให้ถูกต้องนั้น ก็เป็นการล่วงเลยที่ควรปฏิบัติได้เสียแล้ว เนื่องจากศาลชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนพิจารณาจนเสร็จสิ้น ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลย จึงพิพากษายกฟ้องโจทก์.