คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7716/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

อนุสิทธิบัตรของจำเลยที่ใช้ชื่อและแสดงถึงสิ่งประดิษฐ์ว่าเป็นโต๊ะที่ประกอบจากชิ้นส่วนที่ขึ้นรูปครั้งเดียว โดยมีคำอธิบายส่วนภูมิหลังว่าวิธีการดังกล่าวจะช่วยลดความเสียหายจากขั้นตอนของการต่อชิ้นส่วน หากผู้ประกอบไม่ชำนาญพอ และอื่นๆ โดยมีข้อถือสิทธิในวิธีการประดิษฐ์ว่าเป็นโต๊ะที่ประกอบด้วยชิ้นส่วนขาโต๊ะซึ่งทำจากการฉีดพลาสติกขึ้นรูปครั้งเดียวและมีบทสรุปว่า โต๊ะมีลักษณะประกอบด้วยชิ้นส่วนขาโต๊ะที่ขึ้นรูปครั้งเดียว ความสำคัญของอนุสิทธิบัตรของจำเลยจึงเป็นเรื่องของกรรมวิธีการประดิษฐ์เมื่อชุดขาโต๊ะตามอนุสิทธิบัตรของจำเลยทำการฉีดพลาสติกขึ้นรูปครั้งเดียวตรงกับฟ้องโจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะฟ้องจำเลยเพื่อขอให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรของจำเลยได้ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 65 นว วรรคสองแล้ว
คำขอรับอนุสิทธิบัตรของจำเลยมีชื่อที่แสดงถึงการประดิษฐ์คือโต๊ะที่ประกอบจากชิ้นส่วนที่ขึ้นรูปครั้งเดียวและตามข้อถือสิทธิว่าการประดิษฐ์ที่ขอคุ้มครองคือโต๊ะที่มีลักษณะประกอบด้วยชิ้นส่วนขาโต๊ะทำจากการฉีดพลาสติกขึ้นรูปครั้งเดียว สาระสำคัญทางการประดิษฐ์ที่จำเลยจดอนุสิทธิบัตรคือการฉีดพลาสติกขาโต๊ะขึ้นรูปครั้งเดียว แต่การฉีดขึ้นรูปพลาสติกเพียงครั้งเดียวเป็นวิธีการผลิตที่มีมานานแล้ว งานประดิษฐ์ของจำเลยจึงมิใช่การประดิษฐ์ขึ้นใหม่ ตามความหมายในมาตรา 65 ทวิ ประกอบด้วย มาตรา 6 วรรค (1) (2) และมาตรา 65 ทศ แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 รวมถึงข้อถือสิทธิที่กล่าวถึงการประกอบขาโต๊ะทั้งสองด้านเข้าด้วยกันโดยใช้ท่อหรือคานเหล็กสองเส้นที่เจาะเป็นช่องทั้งปลายบนและล่างเพื่อใช้สกรูยึดด้านบน ส่วนด้านล่างใช้สำหรับสอดใส่ตะแกรง รวมทั้งลวดลายประกอบขาโต๊ะซึ่งทั้งหมดเป็นเพียงรายละเอียดที่ไม่ซับซ้อนดังมีคำอธิบายอยู่ในหนังสือ การออกแบบเครื่องเรือน ซึ่งเป็นหนังสือคู่มือการศึกษาที่แพร่หลายมาก่อนหน้าวันขอรับอนุสิทธิบัตรของจำเลย จึงถือว่าไม่ใช่การประดิษฐ์ใหม่เช่นกัน กรณีมีเหตุที่ควรเพิกถอนอนุสิทธิบัตรของจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองประกอบธุรกิจผลิตฉีดขึ้นรูปพลาสติกจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์และสินค้าทำด้วยพลาสติก โดยใช้ชื่อทางการค้าว่า สงวนชัย ซึ่งเป็นที่รู้จักแพร่หลายมาตั้งแต่ปี 2517 จนถึงปัจจุบัน โจทก์ทั้งสองได้ออกแบบและผลิตโต๊ะอเนกประสงค์โดยใช้วิธีฉีดขึ้นรูปพลาสติกอันเป็นที่รู้จักแพร่หลายแล้ว จำหน่ายสู่ท้องตลาดในประเทศและต่างประเทศมาตั้งแต่ก่อนปี 2544 โต๊ะอเนกประสงค์มีหลายรูปแบบแต่มีลักษณะเหมือนกันคือ ขาโต๊ะหรือชิ้นส่วนประกอบอื่นผลิตขึ้นจากการสร้างแบบหล่อ (Mold) เพียงชิ้นเดียว แล้วใช้เครื่องฉีดพลาสติกทั่วไปฉีดขึ้นรูปตามแบบหล่อดังกล่าวเพียงครั้งเดียวออกมาเป็นขาโต๊ะหรือชิ้นส่วนประกอบเพื่อประหยัดต้นทุนและทำให้จำหน่ายได้ในราคาที่ถูกลง จำเลยเป็นผู้ทรงอนุสิทธิบัตร เลขที่ 349 สำหรับการประดิษฐ์โต๊ะที่ประกอบจากชิ้นส่วนที่ขึ้นรูปครั้งเดียว โดยยื่นคำขอวันที่ 27 มิถุนายน 2544 และออกอนุสิทธิบัตรเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2544 ต่อมาประมาณต้นปี 2546 จำเลยได้ขู่ว่า จะดำเนินคดีอาญาตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2542 ต่อลูกค้ารายย่อยของโจทก์ทั้งสองหากพบว่ามีสินค้าของโจทก์ทั้งสองอันมีลักษณะที่ละเมิดอนุสิทธิบัตรของจำเลยดังกล่าวอยู่ในความครอบครองหรือจำหน่ายต่อประชาชน การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ทั้งสองได้ความเสียหายเพราะลูกค้ารายย่อยของโจทก์ทั้งสองต่างตกใจกลัว ปฏิเสธไม่รับสินค้าที่ทำด้วยพลาสติกขึ้นรูปของโจทก์ทั้งสองไม่ว่าประเภทใดๆ โต๊ะที่ประกอบจากชิ้นส่วนขึ้นรูปครั้งเดียว ตามที่จำเลยอ้างในอนุสิทธิบัตรดังกล่าว ความจริงแล้วไม่เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ตามความหมายของมาตรา 65 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 เพราะผู้ผลิตทั้งในและต่างประเทศรวมทั้งโจทก์ทั้งสองได้ใช้กรรมวิธีดังกล่าวผลิตเป็นสินค้าขึ้นมาจำหน่ายแพร่หลายต่อสาธารณชนทั่วไปอยู่ก่อนวันจำเลยขอรับอนุสิทธิบัตรแล้ว ดังนั้นการประดิษฐ์ตามที่จำเลยอ้างจึงเป็นอนุสิทธิบัตรที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้กรมทรัพย์สินทางปัญญาจะออกอนุสิทธิบัตรหมายเลขที่ 349 ให้แก่จำเลยก็ตาม ถือว่าเป็นอนุสิทธิบัตรที่ไม่สมบูรณ์ตามมาตรา 65 นว แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 ขอให้พิพากษาเพิกถอนอนุสิทธิบัตรเลขที่ 349 สำหรับการประดิษฐ์โต๊ะที่ประกอบจากชิ้นส่วนที่ขึ้นรูปครั้งเดียวของจำเลย และให้จำเลยแจ้งคำพิพากษาดังกล่าวต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เพื่อเพิกถอนทางทะเบียนซึ่งอนุสิทธิบัตรดังกล่าวด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยเองทั้งสิ้น
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นผู้ทรงอนุสิทธิบัตรเลขที่ 349 ซึ่งได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2544 ต่อมาวันที่ 12 กันยายน 2544 อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ออกอนุสิทธิบัตรดังกล่าวให้แก่จำเลย เมื่อประมาณกลางปี 2545 บริษัทคลาสสิคเฟอร์ริช จำกัด ซึ่งมีจำเลยเป็นกรรมการผู้จัดการได้ว่าจ้างให้โรงงานฉีดพลาสติกทำการฉีดขาโต๊ะตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 349 ให้เพื่อส่งออกจำหน่าย แต่โรงงานดังกล่าวฉีดขาโต๊ะไม่เป็นไปตามอนุสิทธิบัตร ในระหว่างนั้นจำเลยได้ซื้อยางรองขาเตียงและยางรองขาโต๊ะต่างๆ จากโจทก์ทั้งสอง เมื่อประมาณปลายปี 2545 จำเลยได้นำตัวอย่างขาโต๊ะที่ฉีดขึ้นตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 349 ไปให้โจทก์ที่ 1 ดู และได้ว่าจ้างให้โจทก์ที่ 1 ทำแม่พิมพ์และฉีดขาโต๊ะตามอนุสิทธิบัตรของจำเลยโดยตกลงจ่ายค่าแม่พิมพ์ 100,000 บาท และค่าฉีดขาโต๊ะชุดละ 75 บาท ต่อมาวันที่ 22 มกราคม 2546 โจทก์ที่ 1 ได้นำขาโต๊ะจำนวน 872 ชุด มาส่งมอบให้จำเลย จำเลยรับสินค้าไว้โดยยังไม่ได้ตรวจสอบ และในวันเดียวกันนั้นโจทก์ที่ 1 ได้นำใบเสนอราคากับคำสั่งซื้อสินค้ามาให้จำเลยลงลายมือชื่อ ต่อมาจำเลยได้ตรวจสอบพบว่าชุดขาโต๊ะที่โจทก์ที่ 1 นำมาส่งมอบนั้นมีชื่อ สงวนชัย ปั๊มติดไว้ที่ท่อพลาสติกเชื่อมระหว่างขาโต๊ะ จำเลยจึงแจ้งให้โจทก์ที่ 1 มารับชุดขาโต๊ะทั้งหมดคืนไปแก้ไขไม่ให้มีชื่อดังกล่าว และต่อมาได้แจ้งยกเลิกการผลิตกับให้คืนแม่พิมพ์ แต่โจทก์ที่ 1 เพิกเฉย ต่อมาจำเลยทราบว่าโจทก์ที่ 1 นำโต๊ะที่ผลิตขึ้นตามอนุสิทธิบัตรของจำเลยออกจำหน่ายแก่ลูกค้า จำเลยพบเห็นจึงแจ้งให้ลูกค้าของโจทก์ที่ 1 ทราบว่าจำเลยเป็นเจ้าของอนุสิทธิบัตรลูกค้าของโจทก์ที่ 1 จึงส่งสินค้าโต๊ะที่ผลิตขึ้นตามอนุสิทธิบัตรของจำเลยคืนให้โจทก์ที่ 1 จำเลยมิได้ขู่ลูกค้าของโจทก์ที่ 1 แต่ประการใด นอกจากนี้โต๊ะอเนกประสงค์ของโจทก์มีกรรมวิธีการประดิษฐ์ที่แตกต่างจากโต๊ะที่ผลิตขึ้นตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 349 ของจำเลย จึงไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิและละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องและจำเลยไม่รู้จักไม่เคยติดต่อค้าขายกับโจทก์ที่ 2 มาก่อน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญญาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองในประการแรกว่า โจทก์ทั้งสองเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะฟ้องเพิกถอนอนุสิทธิบัตรของจำเลยได้หรือไม่ ในประการนี้เมื่อพิจารณาอนุสิทธิบัตรของจำเลยที่ใช้ชื่อและแสดงถึงสิ่งประดิษฐ์ว่าเป็นโต๊ะที่ประกอบจากชิ้นส่วนที่ขึ้นรูปครั้งเดียว โดยมีคำอธิบายส่วนภูมิหลังว่าวิธีการดังกล่าวจะช่วยลดความเสียหายจากขั้นตอนของการต่อชิ้นส่วน หากผู้ประกอบ (ช่าง) ไม่ชำนาญพอ และอื่นๆ โดยมีข้อถือสิทธิในวิธีการประดิษฐ์ว่าเป็นโต๊ะที่ประกอบด้วยชิ้นส่วนขาโต๊ะซึ่งทำจากการฉีดพลาสติกขึ้นรูปครั้งเดียวและมีบทสรุปว่าโต๊ะมีลักษณะประกอบด้วยชิ้นส่วนขาโต๊ะที่ขึ้นรูปครั้งเดียว ความสำคัญของอนุสิทธิบัตรของจำเลยจึงเป็นเรื่องของกรรมวิธีการประดิษฐ์ซึ่งโจทก์ทั้งสองก็ได้ฟ้องและนำสืบให้เห็นว่าเป็นกรรมวิธีเดียวกับการผลิตสินค้าของโจทก์ทั้งสอง นอกจากนี้การที่จำเลยนำพันตำรวจตรีสมเกียรติ ธรรมสาส์น พนักงานสอบสวน กองบังคับการสืบสวน สอบสวนคดีเศรษฐกิจ มาเบิกความว่า จำเลยนำชั้นวางของอันเป็นวัตถุพยาน (วล.1) พร้อมอนุสิทธิบัตร หมายเลข 349 ของจำเลยไปพบและแจ้งความว่ามีผู้กระทำละเมิดอนุสิทธิบัตรของจำเลย ซึ่งแม้จะยังไม่ได้ระบุชื่อผู้ถูกกล่าวหา แต่ก็ได้ความจากโจทก์ที่ 1 ว่าวัตถุพยาน วล.1 (หรือ ล.16) ซึ่งตรงกับสิ่งประดิษฐ์ตามภาพถ่ายหมาย จ.3 เป็นสินค้าที่โจทก์ทั้งสองผลิตจำหน่าย อีกประการหนึ่งตัวจำเลยเองก็ยังเบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์ทั้งสองว่าวัตถุพยาน วล.1 (หรือ ล.16 หรือ จ.3) ของโจทก์ทั้งสองเฉพาะส่วนขาโต๊ะน่าจะฉีดขึ้นรูปพลาสติกครั้งเดียวเช่นกัน นอกเหนือไปจากที่ได้มีบันทึกถ้อยคำ ในข้อ 6 ที่ว่าชุดขาโต๊ะตามอนุสิทธิบัตรของจำเลยทำการฉีดพลาสติกขึ้นรูปครั้งเดียวซึ่งก็ตรงกับฟ้องโจทก์หาใช่ไม่ตรงดังที่จำเลยกล่าวในคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยไม่ แม้ว่าวัตถุพยาน วล.1 (หรือ ล.16 หรือ จ.3) จะมีขาโต๊ะเป็น 6 ขา ต่างจากรูปทรงประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรของจำเลยที่เป็นขาโต๊ะ 4 ขา กรณีรับฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสองเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะฟ้องจำเลยเพื่อขอให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรของจำเลยได้ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 65 นว. วรรคสองแล้ว โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้อง หาใช่ไม่มีอำนาจฟ้องดังที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยไม่ อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ทั้งสองจึงฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในประการต่อไปว่า สิทธิบัตรของจำเลยไม่สมบูรณ์ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 นว. และมีเหตุเพิกถอนอนุสิทธิบัตรของจำเลยหรือไม่ ปัญหานี้แม้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะยังมิได้วินิจฉัยแต่ศาลฎีกาเห็นว่าข้อเท็จจริงเพียงพอแก่การรับฟังแล้ว จึงวินิจฉัยไปโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยก่อน ซึ่งในประเด็นนี้ตัวโจทก์ทั้งสองได้ให้ถ้อยคำว่าสรุปรวมความว่า วิธีการฉีดพลาสติกขึ้นรูปครั้งเดียวมีมานานแล้ว รวมทั้งในต่างประเทศดังตัวอย่างที่บริษัทวังอนุบาล จำกัด นำเข้าและผลิตจำหน่ายเพราะไม่ได้ใช้เทคนิคซับซ้อนแต่ประการใด ทั้งขณะจำเลยมาติดต่อการค้ากับโจทก์ทั้งสอง โจทก์ที่ 1 ยังได้นำเสนอสินค้าที่โจทก์ทั้งสองผลิตขึ้นด้วยวิธีฉีดพลาสติกขึ้นรูปครั้งเดียว ในทำนองเดียวกับสินค้าที่จำเลยนำมาให้ดูเป็นตัวอย่างและโจทก์ทั้งสองก็ยังผลิตโต๊ะอเนกประสงค์ตามภาพถ่ายหมาย จ.3 (หรือ วล.1 หรือ จ.16) ที่เห็นในโฆษณาระบุวันที่ 11 ธันวาคม 2543 อันเป็นวันเวลาก่อนวันที่จำเลยจะยื่นคำขอรับอนุสิทธิบัตร (วันที่ 27 มิถุนายน 2544) นอกจากนี้รูปทรงโต๊ะตามอนุสิทธิบัตรของจำเลยยังไม่นับเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ เพราะโต๊ะสี่ขาเป็นเครื่องเรือนที่ใช้กันอยู่ทั่วไป ทั้งการประกอบโต๊ะที่นำชิ้นส่วนมาประกอบกัน (Knock Down) ก็เป็นวิทยาการที่มีมานานแล้วดังตัวอย่างตามหนังสือการออกแบบเครื่องเรือน (Furniture Design) เอกสารหมาย จ.16 หน้า 31, 33, 83 ถึง 90 หรือแม้แต่ในเรื่องลักษณะของผลิตภัณฑ์ตามอนุสิทธิบัตรของจำเลยก็มีรายละเอียดอยู่ในหนังสือกระบวนการแปรรูปพลาสติกเอกสารหมาย จ.18 ซึ่งพิมพ์จำหน่ายครั้งแรกเมื่อปี 2542 และโจทก์ทั้งสองยังมีนายวีระศักดิ์ ไม้วัฒนา หัวหน้ากลุ่มอนุสิทธิบัตร 1 กรมทรัพย์สินทางปัญญา มาเป็นพยานเบิกความว่า สิ่งประดิษฐ์ที่มีโครงสร้างสมมาตร แม้จะใช้วัสดุคนละชนิด เช่น ไม้หรือเหล็ก ก็ถือว่าไม่เป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ รวมทั้งการเปลี่ยนลวดลายที่ไม่ได้ทำให้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างด้วย ฝ่ายจำเลยมีตัวจำเลยมานำสืบต่อสู้ว่า จำเลยประกอบธุรกิจเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ อาทิ โต๊ะ เตียง เก้าอี้ ตั้งแต่ปี 2544 โดยเป็นผู้คิดประดิษฐ์โต๊ะที่ประกอบจากชิ้นส่วนที่ขึ้นรูปครั้งเดียวด้วยพลาสติกและนำไปขอจดอนุสิทธิบัตรเมื่อเดือนมิถุนายน 2544 ก่อนที่จะนำตัวอย่างไปว่าจ้างโจทก์ที่ 1 ทำแม่พิมพ์และฉีดขาโต๊ะตามอนุสิทธิบัตรต่อมาเมื่อเดือนมกราคม 2546 โจทก์ทั้งสองได้นำชุดขาโต๊ะที่ผลิตขึ้นตามอนุสิทธิบัตรของจำเลยไปจำหน่ายให้แก่ลูกค้ารายอื่น จำเลยจึงแจ้งให้ลูกค้ารายนั้นทราบว่า เป็นการกระทำโดยไม่ได้รับอนุญาตจากจำเลย สำหรับโต๊ะอเนกประสงค์ที่โจทก์ทั้งสองนำมาฟ้องตามภาพถ่ายท้ายฟ้อง หมายเลย 1 (คือ จ.3 หรือ ล.16 หรือ วล.1) มีความแตกต่างจากชุดขาโต๊ะที่ผลิตขึ้นตามอนุสิทธิบัตรของจำเลยและจำเลยมีนายประทีป กิจเจริญวงศ์ ผู้ประกอบอาชีพรับจ้างทำแม่พิมพ์และฉีดพลาสติก กับนายสกล วิธูรจิตต์ เจ้าหน้าที่สำนักสิทธิบัตร กรมทรัพย์สินทางปัญญามาเบิกความสนับสนุน โดยนายประทีปว่าไม่เคยเห็นสินค้าที่ผลิตตามรูปแบบของจำเลยมีจำหน่ายในท้องตลาดมาก่อน ส่วนโต๊ะพลาสติกที่ขึ้นรูปครั้งเดียวที่พบเห็นในท้องตลาดก็มีกรรมวิธีการผลิตหรือการประดิษฐ์ที่แตกต่างกันกับของจำเลย ส่วนนายสกลว่าอนุสิทธิบัตรไม่จำต้องมีขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น ขอเพียงเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ใหม่และสามารถประยุกต์ในงานอุตสาหกรรมได้เท่านั้น ทั้งขั้นตอนการพิจารณาก็เพียงตรวจดูว่ามีสิ่งประดิษฐ์ที่จดทะเบียนแล้วคล้ายกับที่ขอจดทะเบียนหรือไม่เป็นหลักในการพิจารณา ซึ่งตรวจดูของจำเลยแล้วไม่ปรากฎว่ามีสิ่งประดิษฐ์ที่เหมือนหรือคล้ายกับของจำเลยมาก่อน สำหรับวัตถุพยาน วล.1 (หรือ จ.3 หรือ ล.16) เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับอนุสิทธิบัตรของจำเลยแล้วมีส่วนที่แตกต่างกัน เห็นว่าปรากฎตามคำขอรับอนุสิทธิบัตรของจำเลยว่า ชื่อที่แสดงถึงการประดิษฐ์คือโต๊ะที่ประกอบจากชิ้นส่วนที่ขึ้นรูปครั้งเดียว และปรากฏตามข้อถือสิทธิว่าการประดิษฐ์ที่ขอคุ้มครองคือโต๊ะที่มีลักษณะประกอบด้วยชิ้นส่วนขาโต๊ะทำจากการฉีดพลาสติกขึ้นรูปครั้งเดียว ดังนั้นสาระสำคัญทางการประดิษฐ์ที่จำเลยจดอนุสิทธิบัตรคือการฉีดพลาสติกขาโต๊ะขึ้นรูปครั้งเดียว ซึ่งนายสกล พยานจำเลยที่เป็นข้าราชการประจำสำนักสิทธิบัตร กรมทรัพย์สินทางปัญญา ก็ได้เบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์โดยรับว่าการฉีดขึ้นรูปพลาสติกเพียงครั้งเดียวเป็นวิธีการผลิตที่มีมานานแล้ว เมื่อพิจารณากอปรกับใบรวมแผ่นหน้าเพลทที่เป็นในโฆษณาสินค้าของโจทก์ที่ทำจากชิ้นพลาสติกขึ้นรูปครั้งเดียว ตามเอกสารหมาย จ.3 ที่ในตอนล่างด้านขวาระบุวันเดือนปี ที่11 – 12 – 43 แสดงว่าใบโฆษณานี้ตีพิมพ์ในปี 2543 และโจทก์ที่ 2 ยังแสดงหลักฐานเป็นคู่มือการเรียนตามหนังสือเอกสารหมาย จ.17 ชื่อ ออกแบบผลิตภัณฑ์ และ จ.18 ชื่อ กระบวนการแปรรูปพลาสติก ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรก เมื่อปี 2538 และปี 2542 ตามลำดับอันเป็นเวลาก่อนวันที่จำเลยยื่นคำขอรับอนุสิทธิบัตร โดยหนังสือเอกสารหมาย จ.17 ได้กล่าวถึงการใช้ประโยชน์จากพลาสติกในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ ส่วนหนังสือเอกสารหมาย จ.18 ซึ่งเป็นหนังสือแบบเรียนก็ได้อธิบายถึงเรื่องการฉีดพลาสติกเข้าเบ้า (Injection Molding) อยู่ในบทที่ 5 โดยมีลักษณะของการประดิษฐ์ไม่ต่างอะไรจากการประดิษฐ์ตามที่จำเลยจดอนุสิทธิบัตร งานประดิษฐ์ของจำเลยถึงมิใช่การประดิษฐ์ขึ้นใหม่ตามความหมายในมาตรา 65 ทวิ ประกอบด้วย มาตรา 6 วรรค (1) (2) และมาตรา 65 ทศ แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 รวมถึงข้อถือสิทธิที่กล่าวถึงการประกอบขาโต๊ะทั้งสองด้านเข้าด้วยกัน โดยใช้ท่อหรือคานเหล็กสองเส้นที่เจาะเป็นช่องทั้งปลายบนและล่างเพื่อใช้สกรูยึดด้านบน ส่วนด้านล่างใช้สำหรับสอดใส่ตะแกรง รวมทั้งลวดลายประกอบขาโต๊ะซึ่งทั้งหมดเป็นเพียงรายละเอียดที่ไม่ซับซ้อนดังมีคำอธิบายอยู่ในหนังสือ การออกแบบเครื่องเรือน หน้า 83 ถึง 90 ซึ่งเป็นหนังสือคู่มือการศึกษาที่แพร่หลายมาก่อนหน้าวันขอรับอนุสิทธิบัตรของจำเลย จึงถือว่าไม่ใช่การประดิษฐ์ใหม่เช่นกัน กรณีมีเหตุที่ควรเพิกถอนอนุสิทธิบัตรเลขที่ 349 ของจำเลย อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองฟังขึ้น อนึ่ง เนื่องจากคำพิพากษามีสภาพบังคับจึงไม่ต้องดำเนินการแจ้งการเพิกถอนไปยังกรมทรัพย์สินทางปัญญาตามคำขอท้ายฟ้อง”
พิพากษากลับว่า ให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรเลขที่ 349 ของจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ.

Share