แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยทั้งสามในมูลละเมิดโดยบรรยายในส่วนของค่าเสียหายคือค่าจัดการศพ35,000บาทค่าซ่อมรถจักรยานยนต์2,500บาทและค่าขาดไร้อุปการะ600,000บาทแต่โจทก์ทั้งสองขอคิดค่าเสียหายทั้งหมดเพียง537,000บาทขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมรับผิดชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมทั้งดอกเบี้ยศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นค่าจัดการศพ30,000บาทเป็นค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์ที่1และโจทก์ที่2เป็นเงิน200,000บาทและ100,000บาทตามลำดับพร้อมทั้งดอกเบี้ยศาลอุทธรณ์พิพากษายืนเช่นนี้ในส่วนของค่าจัดการศพซึ่งศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยทั้งสามชดใช้ให้แก่โจทก์ทั้งสอง30,000บาทนั้นต้องนำไปคิดรวมเป็นทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนด้วยดังนั้นรวมเป็นค่าเสียหายในส่วนของโจทก์ที่2เพียง130,000บาทจำเลยที่2ฎีกาขอให้ยกฟ้องจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีการะหว่างจำเลยที่2กับโจทก์ที่2คงมีเพียง130,000บาทซึ่งต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา248วรรคหนึ่งการที่จำเลยที่2ฎีกาว่าเหตุที่เกิดขึ้นมิได้เป็นเพราะการกระทำละเมิดของจำเลยที่3ค่าเสียหายในส่วนค่าขาดไร้อุปการะที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้นั้นสูงเกินไปถือว่าโต้แย้งดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ในการรับฟังพยานหลักฐานเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยของจำเลยที่2ในส่วนของโจทก์ที่2
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ที่ 2และนายอำนาจ อินทวิรัตน์ จำเลยที่ 1 เป็นผู้ประกอบกิจการเดินรถรับส่งคนโดยสารประจำทางสายที่ 1 วงกลมนนทบุรี – สนามบินน้ำและเป็นผู้ประกอบการขนส่งรถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียน10-0659 นนทบุรี ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองและใช้ประโยชน์โดยจำเลยที่ 1 ยินยอมให้จำเลยที่ 2 นำรถยนต์โดยสารคันดังกล่าวแล่นรับส่งคนโดยสารในเส้นทางดังกล่าวได้ เมื่อวันที่7 พฤษภาคม 2533 เวลาประมาณ 10 นาฬิกา จำเลยที่ 3ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขับรถยนต์โดยสารคันดังกล่าวไปบนถนนนนทบุรีในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ด้วยความประมาท โดยใช้ความเร็วสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และไม่ลดความเร็วเมื่อแล่นผ่านทางโค้งที่เกิดเหตุจึงเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน นนทบุรี ข-7733 ที่นายอำนาจขับอยู่ด้านหน้าเป็นเหตุให้นายอำนาจถึงแก่ความตายและรถจักรยานยนต์ดังกล่าวได้รับความเสียหายทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย ต้องเสียค่าจัดการศพเป็นเงิน 35,000 บาทค่าซ่อมรถจักรยานยนต์ 2,500 บาทและค่าขาดไร้อุปการะ 600,000 บาท แต่โจทก์ทั้งสองขอคิดค่าเสียหายทั้งหมดเพียง 537,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายจำนวน 537,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 3 มิได้เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และมิได้ประมาท เหตุเกิดจากความประมาทของผู้ขับรถจักรยานยนต์นายอำนาจเป็นเพียงผู้นั่งซ้อนท้ายมิใช่ผู้ขับ โจทก์เรียกร้องค่าเสียหายมาสูงเกินไปค่าจัดการศพไม่เกิน 10,000 บาทค่าซ่อมรถจักรยานยนต์ไม่เกิน 500 บาท และค่าขาดไร้อุปการะไม่เกิน30,000 บาท หากจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดก็ไม่เกิน 40,500 บาทขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นค่าจัดการศพนายอำนาจให้แก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 30,000 บาทเป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นเงิน 200,000 บาทและ 100,000 บาท ตามลำดับพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลย ที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลย ที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยทั้งสามในมูลละเมิดโดยบรรยายในส่วนของค่าเสียหายคือ ค่าจัดการศพ 35,000 บาท ค่าซ่อมรถจักรยานยนต์ 2,500 บาท และค่าขาดไร้อุปการะ 600,000 บาท แต่โจทก์ทั้งสองขอคิดค่าเสียหายทั้งหมดเพียง 537,000 บาทขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมรับผิดชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมทั้งดอกเบี้ย ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นค่าจัดการศพ 30,000 บาท เป็นค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์ที่ 1และโจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 200,000 บาท และ 100,000 บาท ตามลำดับพร้อมทั้งดอกเบี้ย ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน เช่นนี้ในส่วนของค่าจัดการศพซึ่งศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยทั้งสามชดใช้ให้แก่โจทก์ทั้งสอง 30,000 บาท นั้นต้องนำไปคิดรวมเป็นทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนด้วย ดังนั้นรวมเป็นค่าเสียหายในส่วนของโจทก์ที่ 2เพียง 130,000 บาท จำเลยที่ 2 ฎีกาขอให้ยกฟ้อง จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกา ระหว่างจำเลยที่ 2 กับโจทก์ที่ 2 คงมีเพียง130,000 บาท ซึ่งต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่งการที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า เหตุที่เกิดขึ้นมิได้เป็นเพราะการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 3 ค่าเสียหายในส่วนค่าขาดไร้อุปการะที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้นั้นสูงเกินไป ถือว่าโต้แย้งดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในการรับฟังพยานหลักฐาน เป็นฎีกาในข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 2 ในส่วนของโจทก์ที่ 2
พิพากษายืนและให้ยกฎีกาจำเลยที่ 2 ในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 2