แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา 104 (2) บัญญัติว่า ให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวมีอำนาจใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแทนการลงโทษทางอาญา โดยเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมตามเวลาที่ศาลกำหนดแต่ต้องไม่เกินกว่าเด็กหรือเยาวชนนั้นมีอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์ บทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้ห้ามเรื่องการนับระยะเวลาฝึกอบรมต่อเนื่องกัน กรณีจึงเป็นอำนาจของศาลที่จะใช้ดุลพินิจว่าสมควรจะให้นับระยะเวลาฝึกอบรมต่อเนื่องกับระยะเวลาฝึกอบรมของคดีอื่นหรือไม่ก็ได้ ทั้งนี้โดยคำนึงถึงสวัสดิภาพและอนาคตของเด็กหรือเยาวชนซึ่งควรได้รับการฝึกอบรมสั่งสอนและสงเคราะห์ให้กลับตัวเป็นพลเมืองดีและให้เหมาะสมกับตัวเด็กหรือเยาวชนเป็นคน ๆ ไปตามมาตรา 82 ของกฎหมายดังกล่าวเมื่อศาลชั้นต้นเห็นสมควรจะให้จำเลยทั้งสามฝึกอบรมต่อเนื่องกับการฝึกอบรมในคดีก่อนของศาลชั้นต้นแล้ว ก็มีอำนาจที่จะพิพากษาหรือมีคำสั่งได้ โดยการฝึกอบรมต้องไม่ให้ระยะเวลาเกินกว่าจำเลยทั้งสามจะมีอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335, 336 ทวิ, 357, 83, 33 ริบของกลาง และให้จำเลยทั้งสามคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนจำนวน 35,100 บาท แก่ผู้เสียหาย นับโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3 ต่อจากโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 439/2545 ของศาลชั้นต้น กับนับโทษจำเลยทั้งสามต่อจากโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 457/2545 ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพฐานลักทรัพย์ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) วรรคแรก, 336 ทวิ, 83 (ที่ถูก มาตรา 335 (7) วรรคแรก ประกอบมาตรา 336 ทวิ, 83 ) เมื่อคำนึงถึงอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ นิสัย อาชีพ สิ่งแวดล้อม ทั้งสภาพของความผิดประกอบกับรายงานแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเด็กหรือเยาวชนของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครสวรรค์ ปรากฏว่าขณะกระทำผิดจำเลยที่ 1 และที่ 2 อายุ 17 ปีเศษ ส่วนจำเลยที่ 3 อายุ 16 ปีเศษ จึงลดมาตราส่วนโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76, 75 ตามลำดับ คนละกึ่งหนึ่ง จำคุกคนละ 2 ปี จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 1 ปี จำเลยทั้งสามกระทำผิดเพราะความเยาว์วัย หากได้รับการอบรมขัดเกลานิสัยและความประพฤติย่อมเป็นผลดีแก่จำเลยทั้งสามยิ่งกว่าจะได้รับโทษจำคุก ฉะนั้น อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 104 (2) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยทั้งสามไปฝึกอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครสวรรค์ มีกำหนดคนละ 1 ปี นับระยะเวลาฝึกอบรมจำเลยทั้งสามต่อจากระยะเวลาฝึกอบรมของจำเลยทั้งสาม ตามขอในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 457/2545 คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 472/2545 ของศาลชั้นต้น ริบของกลาง ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือชดใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนจำนวน 35,100 บาท แก่ผู้เสียหาย ข้อหารับของโจรและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนครสวรรค์ อนุญาตให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 122
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า ไม่นับระยะเวลาฝึกอบรมจำเลยทั้งสามต่อจากระยะเวลาฝึกอบรมของจำเลยทั้งสามในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 472/2545 ของศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ศาลชั้นต้นจะนับระยะเวลาฝึกอบรมของจำเลยทั้งสามในคดีนี้ต่อจากระยะเวลาฝึกอบรบของจำเลยทั้งสามในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 457/2545 คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 472/2545 ของศาลชั้นต้น ในคดีก่อนได้หรือไม่ เห็นว่าตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 104 (2) บัญญัติว่า ให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวมีอำนาจใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแทนการลงโทษทางอาญา โดยเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมตามเวลาที่ศาลกำหนดแต่ต้องไม่เกินกว่าเด็กหรือเยาวชนนั้นมีอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์ บทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้ห้ามเรื่องการนับระยะเวลาฝึกอบรมต่อเนื่องกัน กรณีจึงเป็นอำนาจของศาลที่จะใช้ดุลพินิจว่าสมควรจะให้นับระยะเวลาฝึกอบรมต่อเนื่องกับระยะเวลาฝึกอบรมของคดีอื่นหรือไม่ก็ได้ ทั้งนี้โดยคำนึงถึงสวัสดิภาพและอนาคตของเด็กหรือเยาวชนซึ่งควรได้รับการฝึกอบรมสั่งสอนและสงเคราะห์ให้กลับตัวเป็นพลเมืองดี และให้เหมาะสมกับตัวเด็กหรือเยาวชนเป็นคน ๆ ไปตามมาตรา 82 ของกฎหมายดังกล่าว สำหรับคดีนี้เมื่อศาลชั้นต้นเห็นสมควรจะให้จำเลยทั้งสามฝึกอบรมต่อเนื่องกับการฝึกอบรมในคดีก่อนของศาลชั้นต้นแล้ว ก็มีอำนาจที่จะพิพากษาหรือมีคำสั่งได้โดยการฝึกอบรมต้องไม่ให้ระยะเวลาเกินกว่าจำเลยทั้งสามจะมีอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์ ที่ศาลอุทธรณ์ ภาค 6 พิพากษาไม่ให้นับระยะเวลาฝึกและอบรมต่อจากคดีก่อนนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยการฝึกอบรมต้องไม่ให้ระยะเวลาเกินกว่าจำเลยทั้งสามจะมีอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบรูณ์ร