คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11978/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 รู้อยู่แล้วว่าตนเองไม่มีสิทธิรับมรดกของ ค. เนื่องจาก ค. ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์กับพวก แต่ไปร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของ ค. ต่อศาล จนกระทั่งศาลมีคำสั่งตั้งให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดก และเมื่อได้เป็นผู้จัดการมรดกแล้ว จำเลยที่ 1 ไปแจ้งความอันเป็นเท็จต่อพนักงานสอบสวนว่าโฉนดที่ดินพิพาทสูญหาย แล้วนำหลักฐานการแจ้งความไปขอใบแทนโฉนดที่ดินแปลงพิพาท ทั้งที่ขณะนั้นโฉนดที่ดินตัวจริงอยู่กับโจทก์ จากนั้นจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธ์ที่ดินเป็นชื่อของตนโดยใช้ใบแทนโฉนดที่ดินเป็นหลักฐาน การได้มาซึ่งที่ดินของจำเลยที่ 1 เป็นการได้มาโดยทุจริตอาศัยคำสั่งศาลที่สั่งโดยหลงผิด และการแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานในระหว่างที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของ ค. ย่อมเป็นตัวแทนบรรดาทายาทในการจัดการมรดก จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องดำเนินการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทของ ค. ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1719 และจะทำนิติกรรมใดๆ ซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกหาได้ไม่ การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกไปรับโอนที่ดินพิพาทอันเป็นมรดกของ ค. มาเป็นของตนเองในฐานะส่วนตัวโดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ที่มิได้รับประโยชน์จากพินัยกรรมและเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดก จึงไม่เป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกตามหน้าที่ผู้จัดการมรดกโดยสุจริตตามข้อกำหนดในพินัยกรรม แต่เป็นการทำนิติกรรมให้จำเลยที่ 1 มีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกของ ค. อันเป็นการต้องห้ามโดยชัดแจ้งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1712 นิติกรรมการโอนตกเป็นโมฆะตามมาตรา 150 ถือเสมือนว่ามิได้มีนิติกรรมการโอนเกิดขึ้นเลย กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทจึงยังคงเป็นของกองมรดกของ ค. อยู่ตามเดิม หาตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวไม่ เมื่อจำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเสียแล้ว ก็ไม่มีสิทธิจะเอาที่ดินพิพาทไปจำนองแก่ผู้ใดได้ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับจำนองที่ดินพิพาทไว้จากจำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัว ซึ่งเป็นผู้ไม่มีสิทธิจะจำนองได้ ย่อมไม่เกิดผลให้จำเลยที่ 2 มีสิทธิตามนิติกรรมจำนอง แม้จำเลยที่ 2 จะอ้างว่ารับจำนองไว้โดยสุจริตก็ตามการจำนองจึงไม่ผูกพันโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนใบแทนโฉนดที่ดินเลขที่ 17212 รายการจดทะเบียนจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายคง รายการจดทะเบียนในใบแทนโฉนดที่ดินที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายคงโอนมรดกเป็นของจำเลยที่ 1 และรายการจดทะเบียนจำนองในใบแทนโฉนดที่ดิน และจำนองเพิ่มวงเงินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายคงเป็นไปโดยความยินยอมของโจทก์และทายาทของนายคงทุกคน ส่วนการนำที่ดินไปจำนองแก่จำเลยที่ 2 ก็เพื่อจะนำเงินมาแบ่งปันกันระหว่างทายาท ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงิน 2,200,000 บาท โดยรับจำนองที่ดินพิพาทไว้โดยสุจริตเพื่อต้องการดอกเบี้ย จำเลยที่ 2 เป็นบุคคลภายนอกและจดทะเบียนโดยสุจริต ไม่ได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า การออกใบแทนโฉนดที่ดิน รายการจดทะเบียนจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายคง รายการโอนที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 รายการจดทะเบียนจำนองและจำนองเพิ่มวงเงินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ดำเนินการไปโดยถูกต้องตามกฎหมาย โจทก์ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกหลักจากจดทะเบียนดังกล่าวแล้ว จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 3 ก็มิใช่ผู้มีอำนาจหน้าที่ที่จะเพิกถอนใบแทนโฉนดที่ดินและเพิกถอนรายการจดทะเบียนตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนใบแทนโฉนดที่ดินเลขที่ 17212 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น และให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนเป็นผู้จัดการมรดกของจำเลยที่ 1 ตามรายการจดทะบียนในใบแทนโฉนดที่ดินลงวันที่ 10 เมษายน 2540 เพิกถอนรายการจดทะเบียนในใบแทนโฉนดที่ดินที่จำเลยที่ 1 ฐานะผู้จัดการมรดกโอนเป็นของจำเลยที่ 1 ตามรายการจดทะเบียนวันที่ 11 เมษายน 2540 เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองและจำนองเพิ่มวงเงินในใบแทนโฉนดที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ตามรายการจดทะเบียนวันที่ 11 เมษายน 2540 และวันที่ 23 มิถุนายน 2540 จำเลยที่ 3 ให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ฎีกาโต้แย้งฟังได้ว่าเดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 17212 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น เป็นของนายคง นายคงทำพินัยกรรมตามสำเนาเอกสารหมาย จ.5 ยกให้แก่โจทก์ นางสาวทองหล่ำ และนายสมพงษ์ ซึ่งเป็นบุตร นายคงถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2520 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรนายคงเช่นกัน ฟ้องโจทก์กับพวกขอแบ่งมรดก ศาลชั้นต้นฟังว่านายคงทำพินัยกรรมไว้ จำเลยที่ 1 ไม่ใช่ทายาทตามพินัยกรรม พิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีถึงที่สุด ต่อมาจำเลยที่ 1 ร้องต่อศาลชั้นต้นขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายคง ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดก จากนั้นแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่าโฉนดที่ดินแปลงพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของนายคงสูญหาย แล้วนำหลักฐานไปขอใบแทนโฉนดที่ดิน เมื่อได้ใบแทนโฉนดที่ดินแล้วจดทะเบียนโอนที่ดินเป็นของตนเองเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2540 แล้วในวันเดียวกันได้จดทะเบียนจำนองที่ดินไว้แก่จำเลยที่ 2 โจทก์ทราบเรื่องได้ร้องขอให้ถอนการเป็นผู้จัดการมรดกของจำเลยที่ 1 และร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ในข้อหาแจ้งความเท็จ ศาลชั้นต้นถอนจำเลยที่ 1 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกนายคง จำเลยที่ 1 ถูกดำเนินคดีข้อหาแจ้งความเท็จ จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ศาลแขวงขอนแก่นลงโทษจำคุก 2 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 1 และศาลฎีกาพิพากษายืน มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 2 ว่า สัญญาจำนองผูกพันโจทก์หรือไม่ เห็นว่า คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 143/2521 ที่เลยที่ 1 กับพวกฟ้องโจทก์กับพวกเรียกทรัพย์มรดกของนายคงตามสำเนาคำพิพากษาเอกสารหมาย จ.6 โจทก์ให้การต่อสู้คดีว่านายคงทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์กับพวกตามสำเนาพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.5 จำเลยที่ 1 ถูกตัดมิให้รับมรดก ศาลชั้นต้นฟังว่านายคงทำพินัยกรรมตามเอกสารหมาย จ.5 จริง เท่ากับตัดจำเลยที่ 1 มิให้รับมรดก ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีถึงที่สุด และศาลชั้นต้นออกหนังสือรับรองคดีถึงที่สุดให้เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2537 ตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.8 คำพิพากษาผูกพันจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 รู้อยู่แก่ใจแล้วว่าตนเองไม่มีสิทธิรับมรดกของนายคง แต่ไปร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายคงต่อศาลชั้นต้นเป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 3101/2539 จนกระทั่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดก แสดงว่าการร้องขอและการนำสืบพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 เป็นไปโดยไม่สุจริตปกปิดข้อเท็จจริง ทำให้ศาลตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกโดยหลงผิด และเมื่อได้เป็นผู้จัดการมรดกแล้วจำเลยที่ 1 ไปแจ้งความอันเป็นเท็จต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองขอนแก่นเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2540 ว่า โฉนดที่ดินพิพาทสูญหายตามสำเนารายงานประจำวันเอกสารหมาย จ.10 นำไปเป็นหลักฐานขอใบแทนโฉนดที่ดินแปลงพิพาท ทั้งที่ขณะนั้นโฉนดที่ดินตัวจริงอยู่กับโจทก์ จากนั้นจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นชื่อของตนโดยใช้ใบแทนโฉนดที่ดินเป็นหลักฐาน การได้มาซึ่งที่ดินของจำเลยที่ 1 เป็นการได้มาโดยทุจริตอาศัยคำสั่งศาลที่สั่งโดยหลงผิดและการแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน ในระหว่างที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายคง ย่อมเป็นตัวแทนของบรรดาทายาทในการจัดการมรดก จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องดำเนินการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทของนายคงตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719 และจะทำนิติกรรมใด ๆ ซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกหาได้ไม่ การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกไปรับโอนที่ดินพิพาทอันเป็นมรดกของนายคงมาเป็นของตนเองในฐานะส่วนตัวโดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ที่มิได้รับประโยชน์จากพินัยกรรม และเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกจำเลยที่ 1 จึงมิใช่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนายคง ไม่เป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกตามหน้าที่ผู้จัดการมรดกโดยสุจริตตามข้อกำหนดในพินัยกรรม แต่เป็นการทำนิติกรรมให้จำเลยที่ 1 มีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกของนายคง อันเป็นการต้องห้ามโดยชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1722 นิติกรรมการโอนตกเป็นโมฆะตามมาตรา 150 ถือเสมือนว่ามิได้มีนิติกรรมการโอนเกิดขึ้นเลย กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทจึงยังคงเป็นของกองมรดกของนายคงอยู่ตามเดิม หาตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวไม่ เมื่อจำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเสียแล้ว จำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวก็ไม่มีสิทธิจะเอาที่ดินพิพาทไปจำนองแก่ผู้ใดได้ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับจำนองที่ดินพิพาทไว้จากจำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัว ซึ่งเป็นผู้ไม่มีสิทธิจะจำนองได้ ย่อมไม่เกิดผลให้จำเลยที่ 2 มีสิทธิตามนิติกรรมจำนอง แม้จำเลยที่ 2 จะอ้างว่ารับจำนองไว้โดยสุจริตก็ตาม ก็หามีผลให้จำเลยที่ 2 กลับมีสิทธิตามนิติกรรมจำนองไม่ การจำนองจึงไม่ผูกพันโจทก์ ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share