คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 258/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ถ้าไม่มีกฎหมายกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น อำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาตกเป็นของอธิบดีกรมที่ดิน ตาม ป. ที่ดิน มาตรา 8 แต่สำหรับทางสาธารณประโยชน์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) พ.ร.บ. ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 มาตรา 122 ได้บัญญัติให้กรมการอำเภอเป็นผู้มีหน้าที่ตรวจตรารักษา ซึ่งต่อมาได้โอนมาเป็นอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอ ตาม พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 62 วรรคสาม ดังนั้น อำนาจในการกำหนดแนวเขตทางสาธารณะจึงมิใช่เป็นอำนาจหน้าที่ของจำเลย การที่เจ้าพนักงานที่ดินในสังกัดส่วนราชการของจำเลยได้รังวัดที่ดินและระบุว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะตามที่ผู้ได้รับมอบหมายจากนายอำเภอนำชี้และระวังแนวเขตที่ดิน จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยเพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ดินอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่กำหนดให้ทางพิพาทเป็นทางสาธารณประโยชน์พ้นสภาพจากการเป็นทางสาธารณประโยชน์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมของทั้งสองฝ่ายให้ตกเป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๗ พิพากษากลับว่า ทางพิพาทซึ่งอยู่ในบริเวณที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓) เล่มที่ ๑ หน้า ๑๑๖ เลขที่ ๗๙ และที่ดินตามใบเสียภาษีบำรุงท้องที่ เลขสำรวจที่ ๖๖/๓๗ ตำบลหินเหล็กไฟ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นของโจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดิน ๒ แปลง โดยมีทางสาธารณประโยชน์คั่นอยู่ระหว่างที่ดินทั้งสองแปลง ด้านทิศตะวันออกของที่ดินทั้งสองแปลงติดกับทางพิพาท มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยหรือไม่ โจทก์ฟ้องอ้างว่าสำนักงานที่ดินอำเภอหัวหินซึ่งเป็นส่วนราชการของจำเลยได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ โดยเป็นผู้กำหนดให้ทางพิพาทซึ่งโจทก์เป็นผู้สร้างขึ้นในที่ดินของโจทก์ให้ตกเป็นทางสาธารณประโยชน์ โดยโจทก์ไม่รู้เห็นยินยอม ขอให้บังคับจำเลยเพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ดินอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่กำหนดให้ทางพิพาทเป็นทางสาธารณประโยชน์ให้พ้นสภาพจากการเป็นทางสาธารณประโยชน์ เห็นว่า ทางสาธารณประโยชน์นั้นเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่มีไว้เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๐๔ (๒) ซึ่งที่ดินส่วนหนึ่งส่วนใดที่ตกเป็นที่สาธารณประโยชน์ ถ้าไม่มีกฎหมายกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น อำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาย่อมตกเป็นของอธิบดีกรมที่ดิน ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๘ แต่สำหรับทางสาธารณประโยชน์นั้น พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. ๒๔๕๗ มาตรา ๑๒๒ ได้บัญญัติให้กรมการอำเภอเป็นผู้มีหน้าที่ตรวจตรารักษา ซึ่งต่อมาได้โอนมาเป็นอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๖๒ วรรคสาม จึงเห็นได้ว่าอำนาจในการกำหนดแนวเขตทางหรืออำนาจในการดูแลรักษาทางอันเป็นทางสาธารณประโยชน์ มิใช่เป็นอำนาจหน้าที่ของจำเลยและส่วนราชการของจำเลย ดังนี้ เมื่อส่วนราชการของจำเลยไม่มีหน้าที่กำหนดให้ทางพิพาทเป็นทางสาธารณประโยชน์ การที่เจ้าพนักงานที่ดินในสังกัดส่วนราชการของจำเลยได้รังวัดที่ดินและระบุว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะตามที่ผู้ได้รับมอบหมายจากนายอำเภอหัวหินนำชี้และระวังแนวเขตที่ดิน จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ.

Share