คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3861/2529

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ผู้ร้องที่ 1 เป็นบุตรจำเลย ผู้ร้องที่ 2 เป็นภรรยาจำเลยนำสืบพิสูจน์ไม่ได้ว่ามีสิทธิครอบครองเป็นเจ้าของในที่พิพาทดีกว่าโจทก์ที่ 2 ที่ 3 คำพิพากษาฎีกาที่พิพากษาว่าที่พิพาทเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกให้แบ่งออกเป็น 3 ส่วนเท่ากันโดยให้โจทก์ที่ 2 และที่ 3 กับจำเลยได้คนละ 1 ส่วนได้วินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์เป็นคุณแก่โจทก์ที่ 2 ที่ 3ย่อมใช้ยันแก่ผู้ร้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 145 วรรคสอง (2) ผู้ร้องไม่มีสิทธิขอกันส่วน เมื่อคดีเสร็จสิ้นการสืบพยานโจทก์ ทนายผู้ร้องแถลงขอให้ศาลไปเผชิญสืบที่พิพาทและที่ดินของโจทก์ที่ 2 ที่ 3ทนายโจทก์แถลงคัดค้านเมื่อพยานหลักฐานที่ผู้ร้องและโจทก์ที่ 2 ที่ 3 นำสืบมาเป็นการเพียงพอที่จะวินิจฉัยคดีได้โดยไม่จำเป็นต้องไปเผชิญสืบอีก ที่ศาลชั้นต้นสั่งให้งดเผชิญสืบ แล้วพิพากษาคดีไปนั้น จึงเป็นการถูกต้องชอบด้วยกระบวนพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 104 แล้ว เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยว่าผู้ร้องไม่มีสิทธิขอกันส่วนจึงไม่กระทบกระเทือนคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งยกคำร้องของผู้ร้องที่ขอให้งดการบังคับคดีในระหว่างที่ผู้ร้องกำลังร้องขอกันส่วน คำสั่งของศาลชั้นต้นจึงชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

ชั้นบังคับคดี ผู้ร้องทั้งสองร้องขอกันส่วนในที่ดิน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ผู้ร้องทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้เป็นยุติตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2303/2525 คดีระหว่างนางตุนาง คังกัน ที่ 1 นายโพธิ์ คังกัน ที่ 2 นางทุมมา คังกันที่ 3 โจทก์ นายหัศดี คังกัน จำเลย ว่า ผู้ร้องที่ 1 และที่ 2ต่างเป็นบุตรและภรรยาของจำเลยตามลำดับที่ดินพิพาท 2 แปลงตามคำร้องของผู้ร้องศาลได้พิพากษาถึงที่สุดแล้วว่าเป็นทรัพย์มรดกของนายหา นางตัน คังกัน เจ้ามรดก ให้แบ่งออกเป็น 3 ส่วนเท่ากันโดยให้โจทก์ที่ 2 และที่ 3 กับจำเลยได้คนละ 1 ส่วน
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องทั้งสองข้อหาแรกว่าที่พิพาทท้ายฟ้องอันดับ 1 และ 2 ตามที่ผู้ร้องทั้งสองขอกันส่วนนั้นเป็นของผู้ร้องทั้งสองหรือไม่ ได้ความจากคำเบิกความของผู้ร้องที่ 1 ว่า ได้หักร้างถางพงที่ดินพิพาทแปลงที่ 1ร่วมกับนางแก้วมารดาจำเลยและพี่ของผู้ร้องที่ 1เป็นเนื้อที่ 15 ไร่นั้น ปรากฏตามคำเบิกความของผู้ร้องที่ 2 ว่านางแก้วมารดาผู้ร้องที่ 1 ตายก่อนผู้ร้องที่ 2 แต่งงานกับจำเลย 2 ปี ผู้ร้องที่ 2 แต่งงานกับจำเลยมานาน 17 ปีแล้วเห็นว่าขณะยื่นคำร้องผู้ร้องที่ 1 มีอายุ 20 ปี ดังนั้นนางแก้วมารดาผู้ร้องที่ 1 จึงตายในขณะที่ผู้ร้องที่ 1 มีอายุไม่เกิน 3 ปีนับว่าผู้ร้องที่ 1 ยังเป็นเด็กทารกอยู่ เป็นไปไม่ได้ที่ผู้ร้องที่ 1 จะหักร้างถางพงที่ดินพิพาทแปลงที่ 1 ร่วมกับจำเลยและนางแก้วมารดาผู้ร้องที่ 1 สำหรับที่ดินพิพาทแปลงที่ 2ผู้ร้องที่ 1 เบิกความว่าร่วมกันครอบครองมาตั้งแต่จำเลยกับมารดาผู้ร้องที่ 1 แต่งงานกัน จึงเท่ากับผู้ร้องที่ 1ครอบครองที่ดินพิพาทแปลงที่ 2 ก่อนผู้ร้องที่ 1 เกิดย่อมเป็นไปไม่ได้ สำหรับผู้ร้องที่ 2 นั้นเบิกความว่า เมื่อเป็นภรรยาจำเลยแล้ว ได้ร่วมหักร้างถางพงที่ดินพิพาทแปลงที่ 1ต่อไปอีก 15 ไร่ แต่ครั้นเมื่อโจทก์ที่ 2 ที่ 3 ฟ้องจำเลยอ้างว่าที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นมรดกของนายทา นางตัน คังกันขอให้จำเลยแบ่งที่ดินพิพาททั้งสองแปลง ผู้ร้องที่ 2ได้รู้ว่าโจทก์ที่ 2 ที่ 3 ฟ้องขอให้จำเลยส่งมอบที่พิพาทแต่ก็เพิกเฉยเสียไม่ได้ร้องสอดเข้ามาในคดีเพื่อคุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของผู้ร้องในคดีดังกล่าว แสดงว่าผู้ร้องที่ 2ไม่ได้มีส่วนเป็นเจ้าของในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงแต่อย่างใดนอกจากนั้นยังได้ความจากนายวัน คังกัน พยานของผู้ร้องเบิกความยืนยันว่า ที่จำเลยได้ที่ดินมาระหว่างที่มีภรรยาคนเก่าและคนใหม่ช่วยกันหักร้างถางพงนั้น ที่จริงได้มาโดยบิดามารดาจำเลยให้มา พยานผู้ร้องที่นำสืบมาไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์และผู้ร้องทั้งสองนำสืบพิสูจน์ไม่ได้ว่ามีสิทธิครอบครองเป็นเจ้าของในที่พิพาทดีกว่าโจทก์ที่ 2 ที่ 3 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2303/2525ที่วินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์เป็นคุณแก่โจทก์ที่ 2 ที่ 3ย่อมใช้ยันแก่ผู้ร้องทั้งสองได้ ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคสอง (2) ผู้ร้องทั้งสองไม่มีสิทธิขอกันส่วน ไม่จำต้องวินิจฉัยคำว่า “บริวาร”ตามความเห็นของศาลอุทธรณ์ดังที่ผู้ร้องทั้งสองฎีกา
ผู้ร้องทั้งสองฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า การที่ผู้ร้องร้องขอให้ศาลชั้นต้นไปเผชิญสืบทรัพย์พิพาทเพื่อเป็นพยานหลักฐานสนับสนุนคดีของผู้ร้อง แต่ศาลชั้นต้นไม่ไปเผชิญสืบ จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณานั้น เห็นว่า ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 104 ให้ศาลมีอำนาจเต็มที่ในอันที่จะวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานที่คู่ความนำมาสืบนั้นจะเกี่ยวกับประเด็นและเป็นอันเพียงพอให้เชื่อฟังเป็นยุติได้หรือไม่แล้วพิพากษาคดีไปตามนั้น สำหรับคดีนี้ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ลงวันที่ 9 มกราคม 2527 ว่าเมื่อคดีเสร็จสิ้นการสืบพยานโจทก์ ทนายผู้ร้องแถลงขอให้ศาลไปเผชิญสืบที่พิพาทและที่ดินของโจทก์ที่ 2 ที่ 3 ทนายโจทก์แถลงคัดค้านว่า ไม่มีความจำเป็นเพราะข้อเท็จจริงพอวินิจฉัยได้แล้ว ศาลชั้นต้นสั่งว่า ได้สืบพยานผู้ร้องเสร็จสิ้นไปแล้ว จนดำเนินการสืบพยานโจทก์ต่อมาจนเสร็จพยานโจทก์และคดีไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปเผชิญสืบ จึงให้งดแล้วนัดฟังคำสั่งในวันที่ 26 มกราคม 2527 เช่นนี้ แสดงว่าพยานหลักฐานที่ผู้ร้องทั้งสองและโจทก์ที่ 2 ที่ 3 นำสืบมานั้นเป็นการเพียงพอที่จะวินิจฉัยคดีได้โดยไม่จำเป็นต้องไปเผชิญสืบอีกที่ศาลชั้นต้นสั่งให้งดเผชิญสืบแล้วพิพากษาคดีไปนั้น จึงเป็นการถูกต้องชอบด้วยกระบวนพิจารณาตามบทกฎหมายดังกล่าวแล้ว
สำหรับฎีกาข้อสุดท้ายของผู้ร้องทั้งสองที่ว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องที่ขอให้งดการบังคับคดีในระหว่างที่ผู้ร้องขอกันส่วนให้ศาลดำเนินคดีอยู่นั้น คำสั่งของศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น เห็นว่า เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยคดีนี้ว่าผู้ร้องทั้งสองไม่มีสิทธิขอกันส่วนจึงไม่กระทบกระเทือนคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งยกคำร้องของผู้ร้องที่ขอให้งดการบังคับคดีในระหว่างที่ผู้ร้องกำลังร้องขอกันส่วน คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย
ฎีกาของผู้ร้องทั้งสองทุกข้อฟังไม่ขึ้น ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษาให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสองเสียนั้น ชอบแล้ว”
พิพากษายืน ให้ผู้ร้องทั้งสองใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 600 บาทแทนโจทก์ที่ 2 และที่ 3

Share