คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7490/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2496 มาตรา 27 และมาตรา 27 ทวิ เป็นคนละฐานความผิดกัน และมีบทกำหนดโทษแตกต่างกัน ทั้งตามคำฟ้องโจทก์แสดงว่าโจทก์ประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในข้อหาใดข้อหาข้อหนึ่งเพียงข้อหาเดียวดังนั้นจะลงโทษจำเลยที่ 1 ทั้งสองข้อหาไม่ได้ คำรับสารภาพของจำเลยที่ 1 ที่ว่า ขอให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ทุกประการนั้นไม่ชัดเจนพอจะชี้ขาดว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำผิดฐานใด และเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องนำสืบต่อไปให้ได้ความถึงข้อเท็จจริงอันเกี่ยวกับการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 โดยชัดแจ้ง เพื่อศาลจะได้นำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาปรับบทลงโทษได้ และการที่ศาลจะเลือกปรับบทลงโทษจำเลยได้นั้นหมายถึงกรณีที่ข้อเท็จจริงในคดีเป็นอันยุติแล้วว่าจำเลยได้กระทำอย่างไร หากข้อเท็จจริงยังไม่เป็นที่ชัดแจ้งแล้ว ศาลก็ไม่อาจวินิจฉัยได้ว่าจำเลยมีความผิดฐานใดหรือไม่เมื่อโจทก์ไม่สืบพยาน ศาลจะลงโทษจำเลยที่ 1 โดยอาศัยเพียงแต่คำรับสารภาพดังกล่าวหาได้ไม่ และคดีไม่มีเหตุที่จะย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสอบถามคำให้การจำเลยที่ 1ใหม่ ศาลต้องพิพากษายกฟ้องโจทก์ การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานมีไม้ยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองมาด้วยนั้นเป็นการไม่ชอบ เพราะคำขอท้ายฟ้องโจทก์มิได้ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ มาตรา 69 อันเป็นมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดมาด้วย ถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษในความผิดข้อหาดังกล่าว ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยทั้งสองมิได้อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ. 2484 มาตรา 11, 48, 73, 74, 74 ทวิ, 74 จัตวาประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 33 พระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2466 มาตรา 27, 27 ทวิ พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 4, 5, 6, 7, 8, 9 ริบของกลางจ่ายเงินสินบนนำจับแก่ผู้นำจับ จ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 11, 48 (ที่ถูกมาตรา 48 วรรคหนึ่ง) 73 วรรคหนึ่ง, 74, 74 ทวิ, 74 จัตวาประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91 พระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 27, 27 ทวิ, พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 4, 5, 6, 7, 8, 9เรียงกระทงลงโทษฐานทำไม้ จำคุกคนละ 1 ปี ปรับคนละ 6,000 บาทฐานมีไม้แปรรูปปรับคนละ 5,000 บาท ฐานแปรรูปไม้ ปรับคนละ5,000 บาท และฐานมีไม้ยังมิได้แปรรูป ปรับคนละ 5,000 บาทและปรับจำเลยที่ 1 ฐานนำเข้าหรือรับไว้ซึ่งของผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติศุลกากรปรับ 27,820 บาท รวมจำคุกจำเลยที่ 1มีกำหนด 1 ปี ปรับ 48,820 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปีปรับ 21,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุกคนละ 6 เดือน ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน24,410 บาท ปรับจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 10,500 บาท ให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองไว้คนละ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56ริบของกลาง ให้ใช้เงินสินบนนำจับแก่ผู้นำจับจ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับตามกฎหมาย
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ไม่รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะความผิดฐานทำไม้ไม่รอการลงโทษให้จำเลยทั้งสอง ไม่ลงโทษปรับ และไม่จ่ายเงินสินบนนำจับ ยกฟ้องความผิดต่อพระราชบัญญัติศุลกากร และไม่จ่ายเงินรางวัล นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติศุลกากร เป็นการชอบหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ตามความในมาตรา 27, 27 ทวิ ฐานใดฐานหนึ่งชอบด้วยมาตรา 158 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพว่าได้กระทำผิดตามฟ้อง ศาลก็ย่อมมีอำนาจเลือกปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ให้ถูกต้อง หรือหากศาลเห็นว่าคำรับสารภาพของจำเลยที่ 1 ไม่ชัดแจ้งศาลก็ย่อมสอบถามจำเลยที่ 1 ให้แน่ชัดว่าจะรับในความผิดฐานใดเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่ใช้อำนาจดังกล่าวเป็นการไม่ชอบด้วยหลักการแห่งกฎหมาย ขอให้ศาลฎีกาย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินการตรวจสอบพยานหลักฐานต่อไป แล้วพิจารณาพิพากษาใหม่นั้น เห็นว่าตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 บัญญัติว่า “ผู้ใดนำหรือพาของที่ยังมิได้เสียค่าภาษี หรือของต้องจำกัดหรือของต้องห้าม หรือที่ยังไม่ได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องเข้ามาในพระราชอาณาจักรสยามก็ดี หรือพยายามหลีกเลี่ยงบทกฎหมาย และข้อจำกัดใด ๆ อันเกี่ยวแก่การนำของเข้า โดยเจตนาจะฉ้อค่าภาษีของรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่จะต้องเสียสำหรับของนั้น ๆ ก็ดี หรือหลีกเลี่ยงข้อห้าม หรือข้อจำกัดอันเกี่ยวแก่ของนั้นก็ดี สำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ ให้ปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือจำคุกไม่เกินสิบปีหรือทั้งปรับทั้งจำ” และมาตรา 27 ทวิ บัญญัติว่า “ผู้ใดช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใดซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากรข้อห้ามหรือข้อจำกัด มีความผิดต้องระวางโทษปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วหรือจำคุกไม่เกินห้าปี หรือทั้งปรับทั้งจำ” จากบทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าข้อหาความผิดตามมาตรา 27 กับมาตรา 27 ทวิ นั้นเป็นคนละฐานความผิดกัน และมีบทกำหนดโทษแตกต่างกัน ทั้งตามคำฟ้องโจทก์แสดงว่าโจทก์ประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในข้อหาใดข้อหาหนึ่งเพียงข้อหาเดียว ดังนั้นจะลงโทษจำเลยที่ 1 ทั้งสองข้อหาไม่ได้ คำรับสารภาพของจำเลยที่ 1 ที่ว่า ขอให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ทุกประการนั้นไม่ชัดเจนพอจะชี้ขาดว่าจำเลยที่ 1ได้กระทำผิดฐานใดและเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องนำสืบต่อไปให้ได้ความถึงข้อเท็จจริงอันเกี่ยวกับการกระทำผิดของจำเลยที่ 1โดยชัดแจ้งเพื่อศาลจะได้นำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาปรับบทลงโทษได้และการที่ศาลจะเลือกปรับบทลงโทษจำเลยได้นั้น หมายถึงกรณีที่ข้อเท็จจริงในคดีเป็นอันยุติแล้วว่าจำเลยได้กระทำอย่างไรหากข้อเท็จจริงยังไม่เป็นที่ชัดแจ้งแล้วศาลก็ไม่อาจวินิจฉัยได้ว่าจำเลยมีความผิดฐานใดหรือไม่ เมื่อโจทก์ไม่สืบพยานศาลจะลงโทษจำเลยที่ 1 โดยอาศัยเพียงแต่คำรับสารภาพดังกล่าวหาได้ไม่ และคดีไม่มีเหตุที่จะย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสอบถามคำให้การจำเลยที่ 1 ใหม่ตามที่โจทก์อ้างที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1พิพากษายกฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ในข้อหาดังกล่าวจึงเป็นการชอบด้วยกฎหมายแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่ามีเหตุสมควรที่จะรอการลงโทษแก่จำเลยทั้งสองในความผิดฐานทำไม้หรือไม่ เห็นว่า จำเลยทำไม้โดยตัดฟันไม้ประดู่เพียง 1 ต้นซึ่งเป็นจำนวนเล็กน้อย ไม่ได้ความว่าจำเลยทั้งสองกระทำเพื่อการค้า ถือไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นเรื่องร้ายแรงจำเลยทั้งสองมีอาชีพทำนามีภาระต้องอุปการะเลี้ยงดูครอบครัวไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองมีความประพฤติเสียหายหรือเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ทั้งจำเลยที่ 1 มีผู้ใหญ่บ้านในท้องที่รับรองความประพฤติและจำเลยที่ 2 เป็นสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลกรณีมีเหตุอันควรปรานีที่จะให้โอกาสจำเลยทั้งสองได้กลับตัวเป็นพลเมืองดีต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองโดยไม่รอการลงโทษในความผิดฐานทำไม้นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นฟ้องด้วยฎีกาจำเลยทั้งสองฟังขึ้น และศาลฎีกาเห็นสมควรลงโทษปรับจำเลยทั้งสองในความผิดฐานทำไม้อีกสถานหนึ่ง โดยให้คุมความประพฤติจำเลยทั้งสองไว้ด้วย
หนึ่ง ที่ศาลทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานมีไม้ยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองมาด้วยนั้นเป็นการไม่ชอบเพราะคำขอท้ายฟ้องโจทก์มิได้ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้มาตรา 69 อันเป็นมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดมาด้วยถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษในความผิดข้อหาดังกล่าว ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้จำเลยทั้งสองมิได้อุทธรณ์ฎีกาศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาฐานมีไม้ยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครอง ส่วนโทษที่จะลงแก่จำเลยทั้งสองในข้อหาอื่นนั้นให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยรอการลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองไว้มีกำหนด 2 ปี คุมความประพฤติโดยให้จำเลยทั้งสองไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือนต่อครั้ง ภายในเวลาที่รอการลงโทษ ให้จำเลยทั้งสองกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักคุมประพฤติและจำเลยทั้งสองเห็นสมควรเป็นเวลาคนละ 48 ชั่วโมง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share