คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8224/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การกระทำของฝ่ายจำเลยซึ่งเป็นฝ่ายปกครอง แม้มีผลกระทบกระเทือนต่อสิทธิ เสรีภาพ หรือประโยชน์อันชอบธรรมของโจทก์ซึ่งเป็นเอกชน แต่เมื่อเป็นการกระทำที่มีกฎหมายให้อำนาจให้กระทำได้ และได้กระทำการดังกล่าวภายในกรอบที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายได้กำหนดไว้ จำเลยย่อมมีอำนาจกระทำได้โดยชอบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสี่ให้เพิกถอนการกระทำดังกล่าวของจำเลยได้
ขณะเกิดเหตุ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521มาตรา 33 วรรคสาม บัญญัติว่า การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อการอันเป็นสาธารณูปโภคหรือการอันจำเป็นในการป้องกันประเทศ หรือการได้มาซึ่งทรัพยากรธรรมชาติ หรือเพื่อการผังเมือง หรือเพื่อการพัฒนาการเกษตร หรือการอุตสาหกรรม หรือเพื่อการปฏิรูปที่ดิน หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น และต้องชดใช้ค่าทดแทนภายในเวลาอันควรแก่เจ้าของตลอดจนผู้ทรงสิทธิบรรดาที่ได้รับความเสียหายในการเวนคืนนั้นทั้งนี้ตามที่ระบุไว้ในกฎหมาย และมี พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530 ใช้บังคับ มาตรา 5 บัญญัติให้รัฐเมื่อมีความจำเป็นที่จะต้องได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์เพื่อกิจการใด ๆ อันจำเป็นเพื่อการอันเป็นสาธารณูปโภคหรือการอันจำเป็นในการป้องกันประเทศหรือการได้มาซึ่งทรัพยากรธรรมชาติหรือเพื่อการผังเมือง หรือเพื่อการพัฒนาการเกษตรหรือการอุตสาหกรรม หรือเพื่อการปฏิรูปที่ดินหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น ถ้ามิได้ตกลงในเรื่องการโอนไว้เป็นอย่างอื่นให้ดำเนินการเวนคืนตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ส่วนในกรณีที่มีบทบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนไว้ในกฎหมายอื่นโดยเฉพาะแล้ว ถ้าจะต้องดำเนินการเวนคืนเพื่อกิจการตามกฎหมายดังกล่าว เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นสมควรจะมีมติให้ดำเนินการเวนคืนตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้แทนก็ได้ และเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการเวนคืนตามวรรคหนึ่งจะตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนไว้ก่อนก็ได้ และสำหรับ พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนต้องระบุความประสงค์ของการเวนคืน เจ้าหน้าที่เวนคืน กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเท่าที่จำเป็น กับให้มีแผนที่หรือแผนผังประเมินเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนและแสดงเขตที่ดินที่อยู่ในบริเวณที่ประเมินนั้น ติดไว้ท้ายพระราชกฤษฎีกานั้น …”และสำหรับ พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตลาดพร้าวเขตบึงกุ่ม เขตบางกะปิ เขตห้วยขวาง เขตคลองเตย และเขตพระโขนง กรุงเทพ-มหานคร พ.ศ.2533 ก็ได้ตราขึ้นใช้บังคับตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหา-ริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ทุกประการ ซึ่ง พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนฯ ดังกล่าวได้ระบุความประสงค์ของการเวนคืนไว้ว่า เพื่อประโยชน์สาธารณะในการสร้างทางพิเศษสายรามอินทรา – อาจณรงค์ เพื่ออำนวยความสะดวกและความรวดเร็วแก่การจราจรและการขนส่งอันเป็นกิจการสาธารณูปโภคโดยกำหนดให้จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืน และมีแผนที่แผนผังประเมินเขตที่ดินติดไว้ท้ายพระราชกฤษฎีกา โดยมีมติของคณะรัฐมนตรีให้ดำเนินการสร้างทางดังกล่าว เมื่อปรากฏว่าทางหลวงคู่ขนานที่กรุงเทพมหานครสร้างซึ่งอยู่ในแนวเขตที่ดินที่ถูกเวนคืนตาม พ.ร.ฎ.ฉบับนี้ และประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่290 ข้อ 1 ได้กำหนดความหมายของ “ทางพิเศษ” ไว้ว่า หมายถึงทางหรือถนนซึ่งจัดสร้างขึ้นใหม่ไม่ว่าในระดับพื้นดิน ใต้พื้นดิน เหนือพ้นพื้นดิน หรือพื้นน้ำ เพื่ออำนวยความสะดวกในการจราจรเป็นพิเศษ… ดังนั้น การที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้สร้างทางพิเศษในรูปทางด่วนและมีถนนคู่ขนานตลอดแนวทางด่วน ทั้งทางด่วนและถนนคู่ขนานหรือทางหลวงคู่ขนานดังกล่าวก็ยังถือได้ว่าเป็นทางพิเศษตามความหมายในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 นั้นอยู่นั่นเอง และต่อมาเมื่อได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดให้การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวเป็นกรณีที่มีความจำเป็นโดยเร่งด่วน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 มีอำนาจเข้าครอบครองหรือใช้อสังหาริมทรัพย์นั้นตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530ได้ ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือแจ้งไปยังโจทก์แจ้งการเข้าครอบครองหรือใช้อสังหา-ริมทรัพย์ และโจทก์ได้รับหนังสือดังกล่าวแล้ว กับจำเลยที่ 1 ได้แจ้งการวางเงินค่าทดแทนและกำหนดเวลาให้โจทก์รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ให้โจทก์ทราบแล้ว ดังนี้จำเลยที่ 1 จึงได้ดำเนินการตามมาตรา 30 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 แล้ว

ย่อยาว

ศาลแพ่ง นายชีพ จุลมนต์ศาลอุทธรณ์ นายบรรจง โพธิ์ปลั่ง
นายเลิศชัย ภักดีฉนวน – ตรวจ
นายเกษมสันต์ วิลาวรรณ – ผู้ช่วยผู้พิพากษาฯ
นายเอกศักดิ์ ยันตรปกรณ์ – ย่อ
สุมาลี พิมพ์

Share