คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12104/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์จำเลยได้ระบุถึงเงินช่วยเหลือที่จำเลยจะต้องจ่ายให้โจทก์ไว้ในข้อ 1 ว่า “โจทก์ตกลงรับเงินช่วยเหลือที่จำเลยเสนอจ่ายเป็นเงิน 3,000,000 บาท โดยจำเลยจะนำเงินจำนวนดังกล่าวมาวางที่ศาลแรงงานกลางภายในวันที่ 16 กรกฎาคม 2545” เท่านั้น มิได้มีข้อความว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินสุทธิที่จำเลยจะจ่ายให้แก่โจทก์หรือจำเลยจะชำระภาษีแทนโจทก์แต่อย่างใด ข้อความดังกล่าวเป็นข้อความที่ชัดเจน ไม่มีข้อสงสัยหรืออาจตีความได้สองนัย จึงไม่อาจนำบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 368 มาตีความให้เป็นอย่างอื่นได้ จำเลยยอมจ่ายเงินช่วยเหลือให้โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความก็เพราะถูกโจทก์ฟ้องเรียกร้องเงินอันเนื่องมาจากการที่โจทก์จำเลยมีนิติสัมพันธ์กันในฐานะนายจ้างกับลูกจ้าง ถือได้ว่าเป็นเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตาม ป. รัษฎากรฯ มาตรา 40 (1) จำเลยผู้จ่ายเงินได้จึงมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตาม ป. รัษฎากรฯ มาตรา 50 ประกอบมาตรา 3 จตุทศ นำส่ง ณ ที่ว่าการอำเภอซึ่งรวมถึงที่ว่าการเขตภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้จ่ายเงินตามมาตรา 52 การที่จำเลยจ่ายเงินให้โจทก์ 1,890,000 บาท โดยหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้ 1,110,000 บาท และนำส่งสรรพากรเขตปทุมวัน จึงเป็นการชำระหนี้ครบถ้วนตามคำพิพากษาตามยอมแล้วหากโจทก์เห็นว่าตนได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีตามอนุสัญญาภาษีซ้อนระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลสหรัฐอเมริกาหรือถูกหักภาษีไว้เกินกว่าจำนวนที่ควรต้องเสีย โจทก์ชอบที่จะยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานประเมินเพื่อขอรับเงินจำนวนที่เกินนั้นคืนได้ภายใน 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งปีซึ่งถูกหักภาษีเกินไปตามมาตรา 63

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้าง ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี เงินโบนัส ค่าใช้จ่ายในการเดินทางและขนย้ายสิ่งของส่วนตัวกลับภูมิลำเนาค่าจ้างในการยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้ค่าจ้างเพิ่ม ค่ารักษาพยาล ค่ารถประจำตำแหน่ง ค่าภาษีของประเทศสหรัฐอเมริกาที่จำเลยหักไว้ ณ ที่จ่าย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมพร้อมดอกเบี้ยระหว่างการพิจารณาโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2545 ความว่าจำเลยยอมจ่ายเงินช่วยเหลือให้แก่โจทก์จำนวน 3,000,000 บาท โดยจะนำมาวางศาลภายในวันที่ 16 กรกฎาคม 2545 และจำเลยยอมเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายปกติในการยื่นแบบเสียภาษีให้โจทก์สำหรับปีภาษี 2544 หากจำเลยไม่ชำระเงินช่วยเหลือและรับผิดชอบค่าใช้จ่ายปกติในการยื่นแบบเสียภาษีให้โจทก์ ให้ถือว่าผิดนัดยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันทีพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี โจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องสิ่งอื่นใดอีก ซึ่งศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาตามยอมแล้ว ต่อมาวันที่ 16 กรกฎาคม 2545 จำเลยนำเช็คจำนวน 1,890,000 บาท และหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายจำนวน 1,110,000 บาท พร้อมสำเนาใบเสร็จรับเงินจำนวนดังกล่าวของสรรพากรเขตปทุมวันมาวางศาลเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์ ครั้นวันที่ 17 กรกฎาคม 2545 โจทก์ยื่นคำแถลงว่าจำเลยชำระเงินช่วยเหลือให้โจทก์ไม่ครบตามคำพิพากษาตามยอม เพราะสัญญาประนีประนอมยอมความระบุไว้ชัดเจนว่าจำเลยจะชำระเงินจำนวน 3,000,000 บาทให้แก่โจทก์ เนื่องจากจำเลยมีหน้าที่ตามสัญญาจ้างที่จะต้องรับผิดชำระภาษีแทนโจทก์และการตกลงดังกล่าวก็คิดคำนวณจากค่าจ้างสุทธิมิได้รวมภาษี เจตนารมณ์ของสัญญาประนีประนอมยอมความก็คือจำเลยต้องชำระเงินให้โจทก์ 3,000,000 บาท ขอให้ออกหมายตั้งเจ้าพน้กงานบังคับคดีเพื่อบังคับคดีให้ครบถ้วน
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่า เงินช่วยเหลือที่จำเลยจ่ายแก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร จำเลยผู้จ่ายมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย แล้วนำส่งกรมสรรพากรตามมาตรา 50 ประกอบมาตรา 3 จตุทศ การที่จำเลยจ่ายเงินช่วยเหลือแก่โจทก์โดยหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้ตามใบเสร็จรับเงินและหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายท้ายคำร้องขอวางเงินเป็นการชำระหนี้ครบถ้วนตามคำพิพากษาตามยอมแล้ว หากโจทก์แห็นว่าโจทก์ไม่มีหน้าที่จะต้องเสียภาษีหรือถูกหักไว้เกินกว่าจำนวนที่จะต้องเสียก็ชอบที่จะดำเนินการว่าด้วยการคืนภาษีตามมาตรา 63 ยกคำแถลง
โจทก์อุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความตกลงให้เงินช่วยเหลือโจทก์ 3,000,000 บาท แล้วจำเลยจ่ายเงินให้โจทก์ 1,890,000 บาท โดยหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย 1,110,000 บาท นำส่งกรมสรรพากรเป็นการชำระหนี้ครบถ้วนตามคำพิพากษาตามยอมหรือไม่ เห็นว่า สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์จำเลยได้ระบุถึงเงินช่วยเหลือที่จำเลยจะต้องจ่ายให้โจทก์ไว้ในข้อ 1 ว่า “โจทก์ตกลงรับเงินช่วยเหลือที่จำเลยเสนอจ่ายเป็นเงิน 3,000,000 บาท โดยจำเลยจะนำเงินจำนวนดังกล่าวมาวางที่ศาลแรงงานกลางภายในวันที่ 16 กรกฎาคม 2545″ เท่านั้น มิได้มีข้อความว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินสุทธิที่จำเลยจะจ่ายให้แก่โจทก์หรือจำเลยจะชำระภาษีแทนโจทก์แต่อย่างใดข้อความดังกล่าวเป็นข้อความที่ชัดเจน ไม่มีข้อสงสัยหรืออาจตีความได้สองนัย จึงไม่อาจนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 368 มาตีความให้เป็นอย่างอื่นได้ จำเลยยอมจ่ายเงินช่วยเหลือให้โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความก็เพราะถูกโจทก์ฟ้องเรียกร้องเงินอันเนื่องมาจากการที่โจทก์จำเลยมีนิติสัมพันธ์กันในฐานะนายจ้างกับลูกจ้าง ถือได้ว่าเป็นเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (1) จำเลยผู้จ่ายเงินได้จึงมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 50 ประกอบมาตรา 3 จตุทศ นำส่ง ณ ที่ว่าการอำเภอซึ่งรวมถึงที่ว่าการเขตภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้จ่ายเงินตามมาตรา 52 การที่จำเลยจ่ายเงินให้โจทก์ 1,890,000 บาท โดยหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้ 1,110,000 บาท และนำส่งสรรพากรเขตปทุมวัน จึงเป็นการชำระหนี้ครบถ้วนตามคำพิพากษาตามยอมแล้ว หากโจทก์เห็นว่าตนได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีตามอนุสัญญาภาษีซ้อนระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลสหรัฐอเมริกาหรือหักภาษีไว้เกินกว่าจำนวนที่ควรต้องเสีย โจทก์ชอบที่จะยื่นคำร้องต่อพนักงานประเมินเพื่อขอรับเงินจำนวนที่เกินนั้นคืนได้ภายใน 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งปีซึ่งถูกหักภาษีเกินไปตามมาตรา 63 คำสั่งของศาลแรงงานกลางชอบแล้ว อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขั้น”
พิพากษายืน

Share