คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1203/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บริษัทโจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์รายวันแนวหน้าแห่งยุคเดลินิวส์มีโจทก์ที่ 2 เป็นผู้อำนวยการ จำเลยที่ 2 เป็นห้วหน้ากองบรรณาธิการ จำเลยที่ 3 เป็นบรรณาธิการข่าวในประเทศ หนังสือพิมพ์ฉบับนี้มีเงินสวัสดิการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในกองบรรณาธิการรวมหนึ่งล้านเก้าแสนแปดหมื่นเจ็ดพัน บาทเศษ และบริษัทโจทก์ยังไม่ได้แบ่งรายได้ค่าโฆษณาเข้าสมทบอีก 1,247,402 บาท 40 สตางค์ จำเลยที่ 2, 3 กับเจ้าหน้าที่ในกองบรรณาธิการหลายสิบคนเข้าชื่อกันมีหนังสือถึงโจทก์ที่ 2 ให้จ่ายเงินจำนวนดังกล่าวเข้าสมทบเงินสวัสดิการ โจทก์ไม่ยอมจ่าย เพราะเกรงว่าจำเลยที่ 2 จะเอาไปจ่ายให้เฉพาะผู้ที่ออกจากงานพร้อมกับจำเลยที่ 2 ซึ่งมีเหตุที่จะอ้างเช่นนั้นได้ และต่อมาก็ปรากฏว่าเงินสวัสดิการหนึ่งล้านเก้าแสนบาทเศษที่อยู่ที่จำเลยที่ 2 นั้น จำเลยที่ 2 ได้จ่ายให้ผู้ที่ออกจากงานพร้อมกับจำเลยที่ 2 จนหมดสิ้น จึงไม่ใช่เรื่องโจทก์บิดพลิ้วไม่ยอมจ่ายเงิน ฉะนั้นการที่จำเลยที่ 2 เขียนข้อความลงในหน้าหนังสือพิมพ์บางกอกเดลิไทม์ จำหน่ายโฆษณาแก่ประชาชนทั่วราชอาณาจักรกล่าวหาว่าโจทก์โกงแม้กระทั่งเงินสวัสดิการของออฟฟิสบอยและคนถู-บ้านก็ดี โจทก์มีเหลี่ยมโกงและทำความระยำก็ดี ตลอดจนเปลี่ยนนามสกุลโจทก์ที่ 2 เป็นเบี้ยตระกูล ซึ่งคำว่าเบี้ยวนี้ จำเลยที่ 2 ก็ยอมรับว่าหมายถึงฉ้อโกง ดังนี้ก็ดี หาเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเพื่อป้องกันสวนได้เสียของตน หรือเป็นการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมไม่ แต่เป็นเรื่องจำเลยที่ 2 มุ่งใส่ความโจทก์ทั้งสองให้ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้เขียนและบรรณาธิการจึงมีความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ประกอบด้วยมาตรา 326
ได้ความเพียงว่าจำเลยที่ 2 ผู้เป็นประธานกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 ได้หมิ่นประมาทโจทก์เพราะมีสาเหตุกันเป็นส่วนตัว ข้อเท็จจริงไม่พอฟังว่ากระทำไปในฐานะประธานกรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 บริษัทจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและเพิ่มเติมฟ้องว่า โจทก์ที่ ๑ เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์รายวันชื่อแนวหน้าแห่งยุคเดลินิวส์ มีโจทก์ที่ ๒ เป็นผู้อำนวยการ จำเลยที่ ๒ เป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการ จำเลยที่ ๓ เป็นบรรณาธิการข่าวในประเทศ โจทก์ที่ ๑ ได้จัดให้มีเงินสวัสดิการสำหรับเจ้าหน้าที่ในกองบรรณาธิการโดยแบ่งรายได้ค่าโฆษณามาตั้งเป็นกองทุนเงินสวัสดิการ เมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๑๗ มีเงินสวัสดิการอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยที่ ๒ หนึ่งล้านเก้าแสนบาทเศษ และที่โจทก์ยึดถือไว้อีกหนึ่งล้านสองแสนบาท วันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๑๗ จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และผู้ร่วมงานอีกประมาณ ๗๘ คนได้ละทิ้งงานจากบริษัทโจทก์ไปดำเนินงานในบริษัทจำเลยที่ ๑ ผู้เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ชื่อบางกอกเดลิไทม์ โดยจำเลยที่ ๒ เป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา จำเลยที่ ๓ เป็นบรรณาธิการและผู้จัดการ ระหว่างวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๑๗ ถึงวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๑๗ เวลากลางวันและกลางคืน จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันโฆษณาข้อความใส่ความหมิ่นประมาทโจทก์ทั้งสองคือ
ก. ฉบับลงวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๑๗ หน้า ๓ คอลัมน์เรือใบมุย ซึ่งจำเลยที่ ๒ เป็นผู้เขียนว่า “แสง เบี้ยตระกูล พัง ถ้าจะโกงเรือใบก็โกงไปเหอะถ้าจะโกงเงินสวัสดิการ นักข่าว ตากล้อง ออฟฟิสบอยและคนถูบ้านด้วยเงินเพียงล้านสอง แม้จะตายอยู่ในฮวงซุ้ยก็จะถูกถ่มถูกถุยน้ำลายจนกว่าโลกจะสิ้น ฟ้าจะพัง ไม่ละอายใจมั่งหรือ”
ข. ฉบับลงวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๑๗ หน้า ๓ คอลัมน์เรือใบมุย ซึ่งจำเลยที่ ๒ เป็นผู้เขียนว่า “บริษัทสี่พระยา จำกัด โดยนายแสง เหตระกูล พิมพ์แถลงการณ์พิมพ์ในเดลินิวส์ฉบับวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๑๗ ยอมรับว่าหนี้สินเงินสวัสดิการค้างกับคนข่าว ช่างภาพและคนอื่น ๆ ล้านสองแสนกว่าบาท และยังคุยต่อไปว่าพร้อมที่จะจ่ายให้ทันทีจะไม่มีการบิดพลิ้ว แต่บัดนี้ปรากฏว่าบุคคลคนเดียวกันนี้ได้มีจดหมายแจ้งว่าเงินที่ค้างจ่ายนี้เป็นของบริษัท จะจ่ายให้ก็ได้ ไม่จ่ายก็ได้ เรือใบขอให้สาธารณชนพิจารณาดูเอาเองว่านายทุนมหาเศรษฐีผู้นี้พูดเท็จต่อหน้าประชาชนทั่วประเทศอย่างหน้าด้าน ๆ หรือไม่ ถ้าโกงกันดื้อ ๆ ยังงี้รับรองได้ เรือใบแฉความระยำไม่เลี้ยงจะยอมเสียคนเมื่อแก่เพราะโกงเงินล้านสองก็ให้มันรู้ไป ข้อคิดวันนี้ โกงเท่าไหร่ล้มละลายเท่านั้น”
ค. ฉบับลงวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๑๗ หน้าแรกพาดหัวข่าวว่า “ฟ้องเจ้าของหนังสือพิมพ์เดลินิวส์โกงสวัสดิการลูกจ้าง”
ง. ฉบับลงวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๑๗ หน้า ๓ คอลัมน์เรือใบมุย ซึ่งจำเลยที่ ๒ เป็นผู้เขียนว่า “ส่วนคดีแสง เหตระกูล โกงเงินสวัสดิการหยาดเหงื่อคนข่าวช่างภาพล้านสอง คนก็สนใจใคร่รู้กันทั้งเมืองไม่น้อยไปกว่าเรือใบ จะเปิดโปงเหลี่ยมโกงทั้งหมดบนศาลเร็วที่สุดเหมือนกัน โกงเท่าไหร่ตายแล้วก็เอาใส่โลงไปด้วยไม่ได้หรอกน่ะ”
ข้อความดังกล่าวที่ว่า โจทก์ทั้งสองโกงเงินสวัสดิการหรือเบี้ยวเงินสวัสดิการล้านสอง เป็นข้อความที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นเกลียดชัง เหตุเกิดที่แขวงลาดยาว เขตบางเขน แขวงพระโขนง เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร และเหตุเกิดเกี่ยวพันกันทุกแขวงทุกเขตในกรุงเทพมหานคร ทุกตำบล ทุกอำเภอ ทั่วราชอาณาจักรขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖, ๓๒๘, ๓๓๒, ๘๓ กับยึดและทำลายข้อความที่ลงหมิ่นประมาทในหนังสือพิมพ์บางกอกเดลิไทม์ทั้งสี่ฉบับกับโฆษณาคำพิพากษาของศาลในหนังสือพิมพ์รายวันทุกฉบับ โดยจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าโฆษณา
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วสั่งประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสามให้การว่า ข้อเขียนของจำเลยเป็นการต่อสู้เพื่อผลประโยชน์อันชอบธรรมของจำเลยโดยสุจริต ชอบธรรม ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คำว่า “โกง” หรือ “ขี้โกง” มีความหมายว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นบุคคลไม่ซื่อ ทุจริต อาจทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ข้อความที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ของจำเลยทุกฉบับเป็นข้อความหมิ่นประมาทโจทก์และไม่เป็นการป้องกันตนโดยสุจริต ไม่ได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๙ (๑) จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ มีความผิด ส่วนจำเลยที่ ๓ มิได้เป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา ซึ่งจะต้องร่วมรับผิดเป็นตัวการตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติการพิมพ์ และไม่มีพยานหลักฐานว่าได้ร่วมกระทำผิดด้วย พิพากษาว่าจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๒๖, ๓๒๘, ๘๓ รวม ๔ กระทง ให้เรียงกระทงลงโทษตามมาตรา ๓๒๘ อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามมาตรา ๙๐ ปรับจำเลยที่ ๑ กระทงละ ๑,๐๐๐ บาท รวม ๔,๐๐๐ บาท จำคุกจำเลยที่ ๒ กระทงละ ๑๐ วัน และปรับกระทงละ ๕๐๐ บาท รวมจำคุก ๔๐ วัน ปรับ ๒,๐๐๐ บาท แต่ให้รอการลงโทษจำคุกไว้ ๒ ปี คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยกเสียให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ ๓
โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ ๑,๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ข้อความที่จำเลยที่ ๒ เขียนลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ของจำเลยตามฟ้องเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรม ป้อนกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตน ตามคลองธรรมและเป็นการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาล จำเลยที่ ๒ ไม่มีความผิด ส่วนจำเลยที่ ๑ เป็นเพียงเจ้าของหนังสือพิมพ์ จำเลยที่ ๓ เป็นบรรณาธิการบริหารและผู้จัดการ ไม่มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดทำ ตรวจแก้ คัดเลือก หรือควบคุมบทประพันธ์ ไม่เป็นบรรณาธิการตามความหมายของพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๔๘ จึงไม่มีความผิด พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๑,๒ ด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสองฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาเฉพาะข้อที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๑,๒ ส่วนข้อที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๓ ศาลชั้นต้นสั่งว่าคดีต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒๐ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๘) พ.ศ.๒๕๑๗ มาตรา ๘ จึงไม่รับฎีกา โจทก์มิได้อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น คดีเฉพาะตัวจำเลยที่ ๓ จึงเป็นอันยุติ
ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ไม่ปฏิเสธที่จะจ่ายเงินสวัสดิการแก่เจ้าหน้าที่ในกองบรรณาธิการ ไม่ว่าจะเป็นคนข่าวหรือคนถูบ้าน โจทก์เพียงแต่ไม่ยอมจ่ายเงินนั้นให้จำเลยที่ ๒ เพราะเกรงว่าจำเลยที่ ๒ จะเอาเงินสวัสดิการไปจ่ายให้เฉพาะผู้ที่ออกจากงานพร้อมจำเลยที่ ๒ อยู่ต่อมาก็ปรากฏว่าเงินสวัสดิการหนึ่งล้านเก้าแสนบาทเศษที่อยู่ที่จำเลยที่ ๒ นั้น จำเลยที่ ๒ จ่ายให้ผู้ที่ออกจากงานพร้อมกับจำเลยที่ ๒ จนหมดสิ้น จึงไม่ใช่เรื่องโจทก์บิดพลิ้วไม่ยอมจ่ายเงิน การที่จำเลยที่ ๒ เขียนข้อความลงในหน้าหนังสือพิมพ์กล่าวหาว่าโจทก์โกงแม้กระทั่งเงินสวัสดิการของออฟฟิสบอยและคนถูบ้านก็ดี โจทก์มีเหลี่ยมโกงและทำความระยำก็ดี ตลอดจนเปลี่ยนนามสกุลโจทก์ที่ ๒ เป็นเบี้ยวตระกูล ซึ่งคำว่าเบี้ยวนี้ จำเลยที่ ๒ ก็ยอมรับว่าหมายถึงฉ้อโกง ดังนี้ก็ดี หาเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเพื่อป้องกันส่วนได้เสียของตนหรือเป็นการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมไม่ แต่เป็นเรื่องจำเลยที่ ๒ มุ่งใส่ความโจทก์ทั้งสองให้ได้รับความเสียหาย เพราะไม่พอใจที่โจทก์ขัดขืนไม่ยอมจ่ายเงินให้ ย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองจากบทกฎหมายที่กล่าวไว้ข้างต้น จำเลยที่ ๒ ในฐานะผู้เขียนและในฐานะบรรณาธิการจึงมีความผิด แต่สำหรับจำเลยที่ ๑ นั้นคงได้ความเพียงแต่เพียงว่าจำเลยที่ ๒ ผู้เป็นประธานกรรมการของบริษัทจำเลยที่ ๑ ได้หมิ่นประมาทโจทก์เพราะมีสาเหตุกันเป็นส่วนตัว ข้อเท็จจริงยังไม่พอฟังว่ากระทำไปในฐานประธานกรรมการบริษัทจำเลยที่ ๑ บริษัทจำเลยที่ ๑ จึงไม่ต้องร่วมรับผิดด้วย ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า นายสนิท เอกชัย จำเลยที่ ๒ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๘ ประกอบด้วยมาตรา ๓๒๖ รวม ๔ กระทง ให้จำคุกกระทงละ ๑๐ วัน ปรับกระทงละ ๕๐๐ บาท รวมเป็นโทษจำคุก ๔๐ วัน ปรับ ๒,๐๐๐ บาท แต่ให้รอการลงโทษจำคุกไว้ ๒ ปี คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยกเสีย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share