คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1200/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้เป็นสามีภริยากันก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ถ้าจะขาดจากการสมรสภายหลังที่ใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ก็ต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ กรณีเรื่องขาดจากการสมรสไม่ใช่ความสัมพันธ์ในครอบครัวอันเกิดจากการสมรสตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2477 แต่เป็นกรณีที่จะสิ้นความสัมพันธ์ต่อกัน
การหย่ากันโดยความยินยอม โดยมิได้ทำเป็นหนังสือตามที่กฎหมายบัญญัติไว้นั้น ไม่มีผลทำให้ขาดจากการสมรส
โจทก์เป็นสามีภริยากับผู้ตาย เมื่อจำเลยอ้างว่าโจทก์กับผู้ตายขาดจากกัน จำเลยต้องนำสืบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภริยาชอบด้วยกฎหมายของขุนเจนจบทิศ พ.ศ.๒๔๘๗ ขุนเจนจบทิศได้จำเลยเป็นภริยา ขุนเจนจบทิศเป็นข้าราชการ ออกเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๗ ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๐๕ มีเงินจ่ายให้ทายาทตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญเป็นเงิน ๑๐๘,๗๕๐ บาท เงินค่าทำศพอีก ๓,๖๒๕ บาท โจทก์มีสิทธิได้รับ จำเลยขอรับเงินดังกล่าว ขอให้พิพากษาว่าทะเบียนสมรสระหว่างจำเลยกับขุนเจนจบทิศเป็นโมฆะ จำเลยไม่ใช่ภริยาชอบด้วยกฎหมายอันจะมีสิทธิรับเงิน
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยจดทะเบียนสมรสกับขุนเจนจบทิศเมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๐๓ โจทก์หย่าขาดจากขุนเจนจบทิศก่อนที่ขุนเจนจบทิศจะได้จำเลยเป็นภริยา จำเลยเป็นผู้มีสิทธิรับเงินบำเหน็จตกทอดลและเงินค่าทำศพ จึงขอให้ยกฟ้องโจทก์ และห้ามโจทก์มิให้ขัดขวางการรับเงินและพิพากษาว่าจำเลยมีสิทธิรับเงิน
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์มิได้หย่าขาดกับขุนเจนจบทิศ
ศาลชั้นต้นฟังว่า โจทก์เป็นภริยาชอบด้วยกฎหมายของขุนเจนจบทิศ ไม่ได้หย่าขาดจากกัน พิพากษาว่าการสมรสระหว่างขุนเจนจบทิศและจำเลยเป็นโมฆะ โจทก์มีสิทธิรับเงินให้ยกฟ้องแย้งจำเลย
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์เป็นสามีภริยากับขุนเจนจบทิศ เมื่อจำเลยอ้างว่าโจทก์กับขุนเจนจบทิศขาดจากกัน เป็นหน้าที่จำเลยต้องนำสืบ แม้ขุนเจนจบทิศกับโจทก์เป็นสามีภริยากันก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ ถ้าจะขาดจากการสมรสภายหลังที่ใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ ก็ต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ เพราะพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติ บรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.๒๔๗๗ ให้ใช้บรรพนี้ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๔๗๘ เป็นต้นไป ทั้งระบุไว้ในมาตรา ๔ ว่า บทบัญญัติแห่งบรรพนี้ไม่กระทบกระเทือนถึง (๑) การสมรสซึ่งได้มีอยู่ก่อนใช้ประมวลกฎหมายบรรพนี้ ทั้งสัมพันธ์ในครอบครัวอันเกิดแต่การสมรสนั้น (๒) การใช้อำนาจปกครอง ความปกครอง ฯลฯ ซึ่งแสดงอยู่ในตัวว่า ถ้าไม่เข้ากรณีตามมาตรา ๔ นี้ บทบัญญัติในบรรพ ๕ ก็ใช้บังคับทันที สำหรับกรณีเรื่องขาดจากการสมรส ไม่ใช่ความสัมพันธ์ในครอบครัวอันเกิดจากการสมรสตามมาตรา ๔ แต่เป็นกรณีที่จะสิ้นความสัมพันธ์ต่อกัน
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ บัญญัติถึงการขาดจากการสมรสไว้ ๓ ประการ คือ ตายจากกัน หย่ากันโดยความยินยอม และศาลพิพากษาให้หย่าขาดจากกัน การหย่ากันโดยความยินยอมนั้น มาตรา ๑๔๙๘ บัญญัติว่า ต้องทำเป็นหนังสือและมีพยานลงลายมือชื่ออย่างน้อยสองคน การเลิกเป็นสามีภริยากันโดยมิได้ทำเป็นหนังสือตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ จึงไม่มีผลทำให้ขาดจากการสมรส
ส่วนข้อเท็จจริงนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยนำสืบฟังไม่ได้ว่าโจทก์กับขุนเจนจบทิศขาดจากการสมรสก่อนและเมื่อใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ แล้ว
พิพากษายืน

Share