คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 120/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เกิดในประเทศไทยโดยมีบิดาเป็นคนต่างด้าว เดินทางไปประเทศจีนเมื่อ พ.ศ. 2490 และกลับมาประเทศไทยเมื่อพ.ศ. 2491 แล้วไปขอรับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวในปีนั้นและต่ออายุใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวตลอดมา แม้พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 21 จะบัญญัติว่า’ผู้ซึ่งมีสัญชาติไทยเพราะเกิดในราชอาณาจักรไทยโดยมีบิดาเป็นคนต่างด้าวถ้าได้รับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนคนต่างด้าวแล้ว ให้เสียสัญชาติไทย’ โดยไม่มีข้อความว่า ‘ไม่ว่าจะได้รับใบสำคัญประจำตัวก่อนหรือหลังวันพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ’ ดังบัญญัติไว้ใน พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2495 มาตรา 16 ทวิ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2496 มาตรา 5 ที่ยกเลิกไปแล้วก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ถือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนคนต่างด้าวตลอดมาจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 21 ซึ่งมีผลให้โจทก์เสียสัญชาติไทย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีสัญชาติไทย เกิดที่จังหวัดพัทลุง บิดาเป็นคนต่างด้าว พ.ศ. 2490 โจทก์ไปประเทศจีน กลับมาประเทศไทยพ.ศ. 2491 ไม่มีหลักฐานแสดงว่าเป็นคนไทย ตรวจคนเข้าเมืองให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมเข้าเมืองเป็นคนต่างด้าวและขึ้นทะเบียนเป็นคนต่างด้าว ต่อมาโจทก์ร้องขอคืนสัญชาติไทยไปยังจำเลยทั้งสองจำเลยทั้งสองว่าโจทก์เสียสัญชาติไทยไปแล้ว ไม่ยอมให้โจทก์มีสัญชาติไทย ขอศาลพิพากษาว่าโจทก์มีสัญชาติไทย ให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนคืนสัญชาติไทยแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์เสียสัญชาติไทยไปแล้ว ไม่มีสิทธิขอสัญชาติไทย โจทก์ยังถือและต่ออายุใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวทุกปี แสดงว่าเจตนาสละสัญชาติไทย

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์มีสัญชาติไทย

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์เกิดในประเทศไทยโดยมีบิดาเป็นคนต่างด้าว พ.ศ. 2490 โจทก์ไปประเทศจีน กลับมาประเทศไทยเมื่อพ.ศ. 2491 แล้วโจทก์ไปขอรับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวในปีเดียวกันทั้งได้ต่ออายุใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวติดต่อตลอดมา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 21บัญญัติว่า “ผู้ซึ่งมีสัญชาติไทยเพราะเกิดในราชอาณาจักรไทยโดยมีบิดาเป็นคนต่างด้าว ถ้าได้รับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนคนต่างด้าวแล้ว ให้เสียสัญชาติไทย” แม้ไม่มีข้อความว่า “ไม่ว่าจะได้รับใบสำคัญประจำตัวก่อนหรือหลังวันพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ” ดังบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2495 มาตรา 16 ทวิ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2496 มาตรา 5 ที่ยกเลิกไปแล้วก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ถือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวตั้งแต่ พ.ศ. 2491 ตลอดมา จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 21 ย่อมมีผลให้โจทก์เสียสัญชาติไทย

พิพากษายืน

Share