คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8032/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีอาญาต่อศาลแขวงพระโขนง จากมูลหนี้ที่จำเลยทั้งสองไม่คืนวาล์วประตูน้ำพิพาทแก่โจทก์ในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ศาลแขวงพระโขนงพิพากษายกฟ้องโดยฟังว่าการที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระราคาเป็นเรื่องผิดสัญญาในทางแพ่งไม่ใช่เป็นการยักยอกทรัพย์สินของโจทก์ จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ส่วนคดีแพ่งโจทก์ฟ้องขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยืมโดยอาศัยมูลหนี้ในเรื่องยืม อันเป็นสิทธิเรียกร้องที่ไม่ต้องอาศัยมูลความผิดทางอาญาในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ จึงไม่ใช่คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา จะนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 46 มาใช้บังคับไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันคืนวาล์วประตูน้ำขนาด 3.4 นิ้ว ยี่ห้อโวก แรงดัน 800 ปอนด์ แบบเอ็ม (เอสดับบลิว) เอ็กซ์ เอฟ เอ็น ที พี หมายเลขฮีท ดี 00.8/เอ็ม เอ็กซ์ ซี จำนวน 120 ตัว แก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 414,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ เฉพาะดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 26,980 บาท
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 คืนวาล์วประตูน้ำขนาด 3.4 นิ้ว ยี่ห้อโวก แรงดัน 800 ปอนด์ แบบเอ็ม (เอสดับบลิว) เอ็กซ์ เอฟ เอ็น ที พี หมายเลข ฮีท ดี 00.8/เอ็ม เอ็กซ์ ซี จำนวน 120 ตัวแก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 414,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 คำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 ได้รับวาล์วประตูน้ำจากโจทก์ 622 ตัว แล้วต่อมาจำเลยที่ 1 ส่งคืนแก่โจทก์ 502 ตัว ส่วนอีกจำนวน 120 ตัวตามฟ้อง จำเลยที่ 1 ยังมิได้ส่งคืนแก่โจทก์ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการแรกว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญายืมและกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 อ้างในฎีกาว่า โจทก์ได้ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีอาญาต่อศาลแขวงพระโขนง จากมูลหนี้ที่จำเลยทั้งสองไม่คืนวาล์วประตูน้ำพิพาทจำนวน 120 ตัวแก่โจทก์ ในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 849/2542 คดีหมายเลขแดงที่ 5360/2543 ศาลแขวงพระโขนงพิพากษายกฟ้อง โดยวินิจฉัยว่านิติกรรมระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองเป็นการซื้อขายเผื่อชอบ คดีถึงที่สุดแล้ว ในการพิจารณาคดีนี้ซึ่งเป็นคดีส่วนแพ่ง ศาลต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาดังกล่าวซึ่งเป็นคดีส่วนอาญานั้น เห็นว่า คดีดังกล่าวศาลแขวงพระโขนงพิพากษายกฟ้อง โดยฟังข้อเท็จจริงว่าการที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระราคาเป็นเรื่องผิดสัญญาในทางแพ่ง ไม่ใช่เป็นการยักยอกทรัพย์สินของโจทก์ จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ส่วนคดีแพ่งโจทก์ฟ้องขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยืมโดยอาศัยมูลหนี้ในเรื่องยืม อันเป็นสิทธิเรียกร้องที่ไม่ต้องอาศัยมูลความผิดทางอาญาในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ จึงไม่ใช่คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา จะนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 มาใช้บังคับไม่ได้ และในคดีนี้โจทก์มีนายอุดม จิระสิริกุล กรรมการผู้จัดการโจทก์เบิกความยืนยันว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้มาติดต่อขอยืมสินค้าประเภทวาล์วประตูน้ำจากโจทก์และได้ให้พนักงานของจำเลยที่ 1 มารับสินค้าดังกล่าวไป โดยมีสำเนาใบยืมของมาแสดงเป็นหลักฐาน พร้อมทั้งเบิกความอธิบายว่า เหตุที่โจทก์ออกใบยืมสินค้าเพราะฝ่ายจำเลยแจ้งว่าขอนำสินค้าทั้งหมดไปตรวจสอบ ยังไม่มีการตกลงซื้อขายกัน หากฝ่ายจำเลยตกลงจะซื้อก็ต้องตกลงเรื่องราคากับโจทก์และทำใบสั่งซื้อมาให้โจทก์ ซึ่งจำเลยที่ 2 กรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ก็เบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์ยอมรับว่าวาล์วประตูน้ำทั้งหมดจำนวน 622 ตัว มีหลายชนิดและมีราคาแตกต่างกัน ราคาวาล์วประตูน้ำที่ระบุไว้ในสำเนาใบยืมของตัวละ 950 บาท นั้น เป็นราคาเฉลี่ยของวาล์วประตูน้ำทั้ง 622 ตัว ทั้งยังยอมรับด้วยว่า วาล์วประตูน้ำที่จำเลยที่ 1 คืนแก่โจทก์จำนวน 502 ตัวนั้น ไม่เสียทุกตัว เหตุที่คืนเนื่องจากนายอุดมขอคืนเอง แสดงให้เห็นแจ้งชัดว่าสินค้าวาล์วประตูน้ำทั้งหมดจำนวน 622 ตัวยังมิได้มีการตกลงซื้อขายกันเพราะยังมิได้ตกลงราคากัน ทั้งเหตุที่คืนแก่โจทก์จำนวน 502 ตัวก็มิใช่วาล์วประตูน้ำส่วนใหญ่ชำรุดฝ่ายจำเลยจึงติดต่อขอคืนแก่โจทก์ ดังนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่คืนวาล์วประตูน้ำพิพาทจำนวน 120 ตัวแก่โจทก์ โดยได้นำไปขายเสียก่อนแล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองฟังว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญายืมซึ่งทำผูกพันต่อโจทก์ และการที่ฝ่ายจำเลยนำสินค้าวาล์วประตูน้ำพิพาทจำนวน 120 ตัวที่ไม่คืนไปจำหน่ายโดยมิได้รับความยินยอมจากโจทก์เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการที่สองว่า วาล์วประตูน้ำพิพาทมีราคาเท่าใด และโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยตั้งแต่เมื่อไร โจทก์นำสืบว่า วาล์วประตูน้ำพิพาทที่จำเลยที่ 1 รับไปจากโจทก์มีหลายชนิดยี่ห้อมีราคาแตกต่างกันที่ระบุไว้ในใบยืมสินค้าจำนวน 622 ตัว ตัวละ 950 บาท เกินราคาเฉลี่ยขายเหมารวม จำเลยที่ 1 เบิกความยอมรับว่า ราคาวาล์วประตูน้ำที่ระบุไว้ ตัวละ 950 บาท เป็นราคาเฉลี่ยของวาล์วประตูน้ำทั้ง 622 ตัว ซึ่งมีหลายชนิดและมีราคาแตกต่างกัน เจือสมด้วยข้อนำสืบของโจทก์ วาล์วประตูน้ำจำนวน 120 ตัว ที่พิพาทเป็นวาล์วประตูน้ำที่มีแรงดันสูงสุดในบรรดาวาล์วประตูน้ำที่จำเลยที่ 1 รับไปจากโจทก์คือ 800 ปอนด์ จำเลยที่ 1 อ้างว่าขายไปตัวละ 1,720 บาท โจทก์ให้จำเลยที่ 1 ส่งหลักฐานการขายสินค้าไปให้โจทก์ตรวจดู โดยโจทก์ยินยอมจะให้ส่วนลดแก่จำเลย 15 เปอร์เซ็นต์ จากราคาที่ขายไป แต่จำเลยที่ 1 กลับไม่ส่งหลักฐานให้โจทก์ตรวจดู คงส่งให้แต่ฉบับสำเนาและภาพถ่ายซึ่งย่อมไม่สามารถตรวจสอบความถูกต้องแท้จริงได้ จำเลยที่ 1 นำไปขายโดยยังไม่ได้ตกลงราคาที่แท้จริงกับโจทก์ ทั้งพยานหลักฐานที่อ้างเป็นเพียงภาพถ่าย บางฉบับเป็นภาษาต่างประเทศไม่มีคำแปล โดยเฉพาะใบเสร็จรับเงินของกรมศุลกากรและเอกสารการท่าเรือแห่งประเทศไทยเป็นภาพถ่ายไม่มีผู้เกี่ยวข้องรับรอง ส่วนโจทก์มีพยานเอกสารซึ่งมีลายมือชื่อและประทับตราเป็นสำคัญไว้ มีคำแปลชัดเจนระบุให้เห็นว่าเป็นสินค้ายี่ห้อและประเภทเดียวกับสินค้าพิพาททั้งมีแรงดัน 800 ปอนด์เช่นเดียวกัน เมื่อชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยที่ 1 แล้ว พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักกว่า เชื่อได้ว่าวาล์วประตูน้ำพิพาทจำนวน 120 ตัว มีราคาตัวละ 3,450 บาท โจทก์ได้บอกกล่าวทวงถามให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้ราคาสินค้าแล้ว จำเลยที่ 1 นำสินค้ามาคืนแก่โจทก์จำนวน 502 ตัว เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2541 ตามเอกสารหมาย จ.6 ส่วนอีก 120 ตัว จำเลยที่ 1 ไม่ได้คืนและไม่ใช้ราคาจึงตกเป็นผู้ผิดนัด ส่วนที่จำเลยที่ 1 อ้างว่า ตกลงจะชำระราคาให้แก่โจทก์แล้วโจทก์ไม่ยินยอมรับชำระนั้น เนื่องจากจำเลยที่ 1 เสนอชำระราคาที่ไม่ถูกต้องโจทก์ย่อมสามารถปฏิเสธไม่รับได้ ไม่ถือว่าโจทก์เป็นผู้ผิดสัญญา หนี้สินค้าวาล็วประตูน้ำ 120 ตัว ราคา 414,000 บาท เป็นหนี้เงิน โจทก์จึงชอบที่จะเรียกดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 414,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share