คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 120/2496

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บทบัญญัติมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2493ซึ่งบัญญัติว่า ‘คนต่างด้าวผู้ใดอยู่ในราชอาณาจักรด้วยการเข้ามาโดยฝ่าฝืนมาตรา 11 หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 21หรือโดยฝ่าฝืนหลีกเลี่ยงไม่กลับออกไปตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ มีความผิดฯลฯ’ นั้นมุ่งหมายให้ใช้สำหรับคนต่างด้าวที่เข้ามาภายหลังวันใช้ พระราชบัญญัติคนเข้าเมืองพ.ศ.2493 ถ้าเข้ามาอยู่ก่อนวันใช้ พระราชบัญญัติคนเข้าเมืองพ.ศ.2493 ย่อมไม่มีความผิดตามมาตราที่กล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2492 เวลาไม่ปรากฏ จนถึงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2495 จำเลยซึ่งเป็นคนต่างด้าวได้บังอาจอยู่ในราชอาณาจักรไทย ด้วยการเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้ผ่านการตรวจของพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อน และไม่มีหนังสือเดินทางอันถูกต้อง ฯลฯ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองพ.ศ. 2493 มาตรา 21-58

จำเลยแก้ว่า ได้อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2489คราวประเทศไทยคืนดินแดนที่ได้มาจากอินโดจีน

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ความผิดตามที่โจทก์ฟ้องตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2493 นี้ มุ่งหมายถึงคนต่างด้าวที่เข้ามาจะต้องผ่านการตรวจของพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อน ส่วนผู้ที่ยังไม่ได้ผ่านการตรวจจะต้องไปรายงานโดยมิชักช้าต่อเจ้าพนักงานที่ใกล้ที่สุดในการที่เข้ามา หาใช่มุ่งหมายจะให้ผู้ที่เข้ามาอยู่ก่อนวันใช้พระราชบัญญัติฉบับ พ.ศ. 2493 ต้องกลับย้อนไปเดินทางให้ผ่านการตรวจของพนักงานเจ้าหน้าที่ และต้องกลับไปรายงานต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ที่ทำการตรวจคนเข้าเมืองที่ใกล้ที่สุดในทางที่เข้ามาโดยมิชักช้าอีกไม่ บทบัญญัติมาตรานี้มุ่งหมายให้ใช้สำหรับคนต่างด้าวที่เข้ามาภายหลังวันใช้พระราชบัญญัติฉบับหลัง กล่าวคือเมื่อเข้ามาในราชอาณาจักรต้องผ่านการตรวจของพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อน ถ้ายังไม่ได้ผ่านก็ต้องไปรายงานตนเอง ณ ที่ทำการที่ใกล้ที่สุดในทางที่เข้ามาโดยมิชักช้า การที่จำเลยได้เข้ามาอยู่ก่อนวันใช้พระราชบัญญัติฉบับหลัง จึงไม่มีความผิด

พิพากษายืน

Share