คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1199/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลรัษฎากรบัญญัติให้เรียกเงินเพิ่มสองเท่า และให้เสียเงินเพิ่มร้อยละ 1 ต่อเดือนอีกด้วย จึงแสดงให้เห็นอย่างแจ้งชัดว่า กฎหมายได้บัญญัติทางแก้สำหรับกรณีลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระค่าหนี้อากรที่ค้างไว้โดยเฉพาะแล้ว ฉะนั้น จะนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 ว่าด้วยดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดมาเรียกร้องเอากับลูกหนี้ซ้ำอีกหาได้ไม่
การดำเนินกระบวนพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 289 ย่อมมีค่าฤชาธรรมเนียมตามที่กฎหมายกำหนดไว้เมื่อศาลมีคำสั่งให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้บุริมสิทธิศาลก็ย่อมสั่งให้ผู้ร้องได้รับชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมที่เสียไปในการดำเนินกระบวนพิจารณาของผู้ร้องได้ แต่ค่าฤชาธรรมเนียมนี้ไม่เป็นบุริมสิทธิ ไม่ใช่หนี้อุปกรณ์ของหนี้ภาษีอากร เพราะมิได้เกิดขึ้นและสิ้นไปตามหนี้ภาษีอากร ผู้ร้องจึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้ค่าฤชาธรรมเนียมในฐานเจ้าหนี้สามัญเท่านั้น

ย่อยาว

คดีนี้คู่ความประนีประนอมยอมความ จำเลยยอมใช้เงินกู้แก่โจทก์ตามฟ้องพร้อมด้วยดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียม เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดที่ดินขายทอดตลาดราคา 10,700 บาท ต่อมามีผู้ร้อง คือ

1. กรมสรรพากรยื่นคำร้องว่า จำเลยค้างชำระค่าภาษีการค้า พ.ศ. 2508 จำนวน 2 งวด เป็นเงิน 640 บาท รายได้จังหวัด หรือ ร.ว.64 บาท และไม่ยื่นแบบแสดงรายการการค้ารายเดือน ต้องเสียเบี้ยปรับ 2 เท่าเป็นเงินภาษีการค้า 1,280 บาท เงินเพิ่มร้อยละ 1 ต่อเดือน คิดเป็นเงิน 128 รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 2,048 บาท เป็นหนี้บุริมสิทธิสามัญขอให้ศาลสั่งให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้อื่น คือ ภาษีการค้า 2,048 บาท ดอกเบี้ยในจำนวนนี้ร้อยละ 7 เศษหนึ่งส่วนสอง จนกว่าจะชำระเสร็จ เงินเพิ่มร้อยละ 1 ต่อเดือน และค่าฤชาธรรมเนียม

2. จังหวัดนครศรีธรรมราชยื่นคำร้องว่า จำเลยค้างชำระเงินรายได้จังหวัด (ร.ว.) จากภาษีการค้าในข้อ 1.ข้างต้น 64 บาท เบี้ยปรับ 2 เท่า 128 บาท เงินเพิ่มร้อยละ 1 ต่อเดือน เป็นเงิน 12.80 บาท คงค้างทั้งสิ้น 204.80 บาท เป็นหนี้บุริมสิทธิ จึงขอรับชำระหนี้ก่อน คือ ค่าภาษีเงิน ร.ว.204.80 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 7 เศษหนึ่งส่วนสอง ต่อปี เงินเพิ่มร้อยละ 1 กับค่าฤชาธรรมเนียม

จำเลยไม่โต้แย้งคำร้องของผู้ร้องแต่ประการใด ฝ่ายโจทก์แถลงไม่ขัดข้องในการขอรับเงินค่าภาษีและเบี้ยปรับสองเท่ากับเงินเพิ่มร้อยละ 1 ของผู้ร้องทั้งสอง แต่ดอกเบี้ยร้อยละ 7 เศษหนึ่งส่วนสอง ต่อปี ผู้ร้องไม่มีสิทธิจะเรียกร้องได้ ส่วนค่าธรรมเนียมค่าทนายความนั้น ผู้ร้องไม่มีสิทธิจะได้รับ ไม่ว่าด้วยกรณีใด ๆ ทั้งสิ้น

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ตามคำร้องฉบับแรก ผู้ร้องมีบุริมสิทธิในจำนวนเงิน 640 บาท เบี้ยปรับ 2 เท่า 1,280 บาท เงินเพิ่มร้อยละ1 จำนวน 128 บาท แต่ดอกเบี้ยไม่รวมอยู่ในเงินค่าภาษีอากร ค่าธรรมเนียมเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีผู้ร้องทำขึ้นมาเองไม่มีบทกฎหมายใดสนับสนุนให้เรียกร้องกันได้ จึงไม่มีบุริมสิทธิตามคำร้องฉบับที่สอง ก็คงมีบุริมสิทธิเฉพาะรายได้จังหวัด 64 บาท เบี้ยปรับ 128 บาท เงินเพิ่มร้อยละ 1 เป็นเงิน 12.80 บาท ส่วนดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียมไม่เป็นบุริมสิทธิ จึงอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิได้ทั้งสองรายการจำนวนดังกล่าวแล้ว

ผู้ร้องทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

ผู้ร้องทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า สำหรับดอกเบี้ยนั้น เมื่อประมวลรัษฎากรบัญญัติให้เรียกเงินเพิ่มสองเท่า และให้เสียเงินเพิ่มร้อยละ 1 ต่อเดือนอีกด้วยแล้ว ก็แสดงให้เห็นอย่างแจ้งชัดว่ากฎหมายได้บัญญัติทางแก้สำหรับกรณีลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้อากรที่ค้างไว้โดยเฉพาะ จะนำเอาประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 ว่าด้วยดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดมาเรียกร้องเอากับลูกหนี้ซ้ำอีกหาได้ไม่ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิจะได้รับดอกเบี้ยดังที่ร้องขอมา ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 บัญญัติให้เจ้าหนี้ยื่นคำร้องขอต่อศาลในกรณีนี้ได้ก่อนส่งคำบอกกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 319 การดำเนินกระบวนพิจารณาตามมาตรา 289 นี้ ย่อมมีค่าฤชาธรรมเนียมตามที่กฎหมายกำหนดไว้ความรับผิดชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมของคู่ความย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 161 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เมื่อศาลมีคำสั่งให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้บุริมสิทธิศาลก็ย่อมสั่งให้ผู้ร้องได้รับชดใช้ค่าธรรมเนียมที่เสียไปในการดำเนินกระบวนพิจารณาของผู้ร้องได้ด้วยแต่เฉพาะค่าฤชาธรรมเนียมนี้ไม่เป็นหนี้บุริมสิทธิที่ผู้ร้องจะเรียกร้องเอาดุจเป็นหนี้ภาษีอากรด้วย เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นไปในทำนองนั้น และไม่ใช่หนี้อุปกรณ์ของหนี้ภาษีอากรเพราะมิได้เกิดขึ้นและสิ้นไปตามหนี้ภาษีอากร ผู้ร้องจึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้ค่าฤชาธรรมเนียมในฐานเป็นเจ้าหนี้สามัญเท่านั้น

พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เฉพาะในส่วนค่าฤชาธรรมเนียมของผู้ร้องทั้งสามศาลว่า ให้ผู้ร้องเข้าเฉลี่ยหนี้ในทรัพย์สินของจำเลยได้ในฐานเจ้าหนี้สามัญ

Share