คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1048/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย กำหนดวินัยของลูกจ้างไว้ว่า ต้องไม่ปฏิบัติงานล่าช้า ละทิ้งหน้าที่ละเลย หรือหลีกเลี่ยงการทำงานการที่โจทก์ทั้งสองกับพวกหยอกล้อและเล่นกันในระหว่างเวลาทำงานเป็นความผิดครั้งแรกและเล่นหมากฮอสในระหว่างเวลาทำงานเป็นความผิดครั้งหลังล้วนแต่เป็นการละทิ้งหน้าที่อันเป็นการกระทำผิดวินัยตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยดังกล่าวทั้งสองครั้ง เมื่อจำเลยได้ลงโทษตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร ในการที่โจทก์ทั้งสองละทิ้งหน้าที่อันเป็นความผิดครั้งแรกแล้ว โจทก์ทั้งสองกลับละทิ้งหน้าที่โดยเล่นหมากฮอสในระหว่างเวลาทำงานอันเป็นความผิดครั้งหลังอีก ถือได้ว่าโจทก์ทั้งสองฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้าง และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว ตามข้อ 47(3) แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย.

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องเป็นใจความทำนองเดียวกันว่าจำเลยจ้างโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 เป็นลูกจ้างประจำ ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองโดยอ้างว่าโจทก์ทั้งสองกระทำผิดซ้ำคำเตือนละทิ้งหน้าที่ ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบริษัท ซึ่งไม่เป็นความจริง จำเลยอ้างระเบียบข้อบังคับที่ออกมาในภายหลังมาลงโทษโจทก์ทั้งสองจึงไม่เป็นธรรมจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองโดยมิได้บอกกล่าวล่วงหน้า และไม่จ่ายค่าชดเชย ระหว่างทำงานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 ถึงต้นปีพ.ศ. 2530 จำเลยไม่เคยจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดตามประเพณีปีละ 13 วัน และไม่เคยจัดให้หยุดพักผ่อนประจำปีปีละ 6 วันให้แก่โจทก์ทั้งสอง ระเบียบข้อบังคับของจำเลยที่ออกมาใหม่เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างไม่เป็นคุณต่อโจทก์ทั้งสองจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าทำงานในวันหยุดแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองเนื่องจากโจทก์ทั้งสองฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานฐานกระทำผิดซ้ำคำเตือน โดยครั้งแรกเมื่อผ่านเวลาทำงานหลังจากหยุดพักมาแล้ว 20 นาทีโจทก์กับพวกยังไม่ลงมือทำงานแต่ยังคงหยอกล้อและเล่นกันอยู่ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายบริหารเดินเข้าไป โจทก์กับพวกจึงได้หยุดผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายบริหารจึงเรียกโจทก์กับพวกรวม 3คน มาพิจารณาลงโทษว่ากล่าวตักเตือนเป็นหนังสือ โดยโจทก์กับพวกได้ยอมรับว่าได้กระทำผิดและลงชื่อรับทราบคำเตือนไว้เรียบร้อยแล้ว ครั้นต่อมาผู้จัดการฝ่ายบุคคลตรวจการทำงานของพนักงานในโรงงาน ได้พบโจทก์กับพวกกำลังนั่งเล่นหมากฮอสกันอยู่โดยมีนายวัฒนา กุลสุวรรณ นั่งรวมกลุ่มดูโจทก์เล่นอยู่ด้วย จำเลยจึงได้พิจารณาการกระทำของโจทก์ประกอบกับประวัติการทำงาน ซึ่งไม่ค่อยให้ความร่วมมือในการทำงานกับจำเลย กับเคยกระทำความผิดและถูกตักเตือนเป็นหนังสือมาแล้วในระยะเวลาที่ผ่านมาเพียงไม่กี่เดือน โจทก์ก็ได้กระทำผิดซ้ำอีกอันเป็นความผิดในลักษณะเดียวกัน จำเลยจึงเลิกจ้างฐานฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับและประกาศคำสั่งของจำเลยโดยจำเลยได้ตักเตือนเป็นหนังสือมาแล้วครั้งหนึ่งตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 (3) โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและค่าจ้างในวันหยุดตามประเพณี ตามที่โจทก์ฟ้อง ขอให้พิพากษายกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า การที่โจทก์ทั้งสองหยอกล้อกับเพื่อนในระหว่างเวลาทำงาน และจำเลยได้มีหนังสือเตือนแล้วครั้นต่อมาในระหว่างเวลาทำงาน โจทก์ทั้งสองเล่นหมากฮอสอีกแต่การกระทำครั้งหลังของโจทก์ทั้งสองเป็นการกระทำที่แตกต่างไปจากการกระทำครั้งแรก ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำซ้ำคำเตือนเป็นหนังสือของจำเลย ทั้งการกระทำครั้งหลังก็มิใช่กรณีร้ายแรงดังกำหนดไว้ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ทั้งสอง พิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 19,009บาท แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 11,816 บาท
จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่าตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย กำหนดวินัยของลูกจ้างไว้ว่า ‘ต้องไม่ปฏิบัติงานล่าช้า ละทิ้งหน้าที่ละเลยหรือหลีกเลี่ยงการทำงาน’ โดยกำหนดโทษตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรแก่ลูกจ้างผู้กระทำผิดวินัยไว้ตามข้อ 2.2 สถานหนึ่ง การที่โจทก์ทั้งสองกับพวกหยอกล้อและเล่นกันในระหว่างเวลาทำงาน ครั้งแรกก็ดีการที่โจทก์ทั้งสองเล่นหมากฮอสในระหว่างเวลาทำงานครั้งหลังก็ดี ล้วนแต่เป็นการละทิ้งหน้าที่ อันเป็นการกระทำผิดวินัยตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบริษัทจำเลยดังกล่าวข้างต้นทั้งสองครั้ง ทั้งการที่โจทก์ทั้งสองละทิ้งหน้าที่อันเป็นความผิดครั้งแรกจำเลยก็ได้ลงโทษตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรแล้วแต่โจทก์ทั้งสองกลับละทิ้งหน้าที่โดยละทิ้งหน้าที่โดยเล่นหมากฮอสในระหว่างเวลาทำงานอันเป็นความผิดครั้งหลังอีก แม้การกระทำครั้งหลังจะเป็นการเล่นที่แตกต่างกับครั้งแรกดังที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยก็ตาม แต่ก็เป็นเรื่องที่โจทก์ทั้งสองละทิ้งหน้าที่อันเป็นการกระทำผิดวินัยเรื่องเดียวกันและฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของบริษัทจำเลยหมวดที่ 8 ว่าด้วยวินัยและโทษทางวินัยข้อ 1.1.1 ข้อเดียว จึงถือได้ว่าโจทก์ทั้งสองฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของบริษัทจำเลยผู้เป็นนายจ้างและนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้วอันเป็นการกระทำผิดซ้ำคำเตือนตามข้อ 47 (3) แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานซึ่งจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น
ดังนั้น โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามข้อ 47 (3) และไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามข้อ 45 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน สำหรับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้นเมื่อกรณีได้ความเป็นยุติแล้วว่าโจทก์ทั้งสองละทิ้งหน้าที่การงานไปเสียเช่นนี้ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 583 อีกเช่นเดียวกัน
ส่วนค่าจ้างสำหรับวันหยุดตามประเพณีนั้น ข้อเท็จจริงได้ความเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางแล้วว่าโจทก์ที่ 1 มีสิทธิหยุดตามประเพณีรวม 19 วัน โจทก์ที่ 2 มีสิทธิหยุดตามประเพณีรวม 14 วันและโจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างประจำได้รับค่าจ้างวันละ 73 บาท โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดตามประเพณีเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตามข้อ 32 (2) แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ฉะนั้นจำเลยจึงต้องชำระค่าจ้างสำหรับวันหยุดตามประเพณีรวม 19 วันแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงินจำนวน 1,387 บาท และต้องชำระค่าจ้างสำหรับวันหยุดตามประเพณีรวม 14 วันแก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงินจำนวน1,022 บาทด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายเฉพาะค่าจ้างสำหรับวันหยุดตามประเพณีแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงินจำนวน 1,387 บาท และโจทก์ที่ 2 เป็นเงินจำนวน 1,022 บาท.

Share