คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11987/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่โจทก์ตกลงที่จะจ่ายค่าจ้างให้พนักงานขับรถตลอดเวลาที่ยังทำงานให้โดยโจทก์มุ่งที่จะใช้การงานของพนักงานขับรถมากกว่าคำนึงถึงผลสำเร็จแห่งงานที่ทำ พนักงานขับรถต้องทำงานภายใต้การควบคุมบังคับบัญชาของโจทก์ โดยใช้ความรู้ความสามารถของตนเพื่อรักษาผลประโยชน์ให้กับโจทก์ และโจทก์มีอำนาจให้คุณให้โทษ เช่น ว่ากล่าวตักเตือน พักงาน เลิกจ้าง เป็นต้น สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับพนักงานขับรถจึงมีลักษณะเป็นสัญญาจ้างแรงงาน และอยู่ในความหมายของคำว่า ลูกจ้าง นายจ้าง และค่าจ้างตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 5

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งคำวินิจฉัยที่ อย 0025/13 ลงวันที่ 5 มกราคม 2548 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 1005/2548 ลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2548 และให้มีคำสั่งให้สัญญาให้บริการขับรถยนต์ของโจทก์เป็นสัญญาว่าจ้างทำของ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ทำสัญญาจ้างพนักงานขับรถให้ขับรถยนต์ของผู้บริหารชาวญี่ปุ่น แต่ไม่ได้แจ้งขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนในส่วนของพนักงานขับรถผู้บริหารชาวญี่ปุ่น จำนวน 6 คน โดยโจทก์อ้างว่ามิได้มีนิติสัมพันธ์ในการเป็นลูกจ้างกับนายจ้าง เมื่อพิเคราะห์หนังสือสัญญาจ้างแล้วเห็นว่ามีการกำหนดคุณสมบัติของพนักงานขับรถ มีกฎ ระเบียบ ข้อบังคับที่ให้พนักงานขับรถต้องปฏิบัติตาม ผู้ใช้บริการมีอำนาจออกคำสั่งในการทำงานได้ เวลาให้บริการขับรถคือวันจันทร์ถึงวันเสาร์ เวลา 8 ถึง 17 นาฬิกา หากผู้ให้บริการนัดหมายเวลาล่วงหน้าแล้วแต่ไม่มาทำงาน ถือว่าผู้ให้บริการขาดงาน และจะถูกหักค่าจ้าง ดังนั้น การที่ผู้ให้บริการต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ใช้บริการ หากหยุดงานหรือมีธุระจำเป็นต้องแจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบ เห็นได้ว่า ผู้ให้บริการต้องทำงานตามคำสั่งและอยู่ภายใต้การควบคุมบังคับบัญชาของนายจ้าง ไม่สามารถทำงานโดยอิสระปราศจากการควบคุมบังคับบัญชา นิติสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ จึงถือว่าเป็นการจ้างแรงงาน โจทก์อยู่ในฐานะนายจ้างของพนักงานขับรถ คำวินิจฉัยของจำเลยชอบแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับพนักงานขับรถอยู่ในฐานะนายจ้างกับลูกจ้างตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 หรือไม่ เห็นว่า ตามหนังสือสัญญาจ้างพนักงานขับรถ ซึ่งโจทก์เป็นผู้ทำขึ้นก็ระบุชื่อสัญญาว่าเป็นหนังสือสัญญาจ้างแรงงาน มีการกำหนดคุณสมบัติของพนักงานขับรถว่า ต้องมีความรู้เกี่ยวกับเครื่องยนต์ ดูแลสภาพรถยนต์ให้ใช้งานได้ดี มีความซื่อสัตย์ ขยันหมั่นเพียรในการทำงาน ต้องตรงต่อเวลา มีกิริยามารยาทสุภาพและแต่งกายให้สะอาดเรียบร้อย รวมทั้งยังมีกฎข้อบังคับที่พนักงานขับรถต้องปฏิบัติตาม คือมาทำงานวันจันทร์ถึงวันเสาร์ ตั้งแต่เวลา 8 ถึง 17 นาฬิกา หากไม่สามารถทำงานได้ต้องแจ้งให้โจทก์ทราบทุกครั้ง ก่อนถึงเวลานัดให้มาทำงาน 1 ชั่วโมง โจทก์จ่ายค่าจ้างให้เดือนละ 5,000 บาท หากทำงานเกินเวลาก็จะได้รับค่าล่วงเวลา ในการปฏิบัติงานจะมีตารางควบคุมพนักงานขับรถและบันทึกการปฏิบัติงานในแต่ละวัน หากประพฤติตัวไม่เหมาะสมก็สามารถแจ้งเลิกสัญญาได้ ซึ่งตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 5 กำหนดคำนิยามว่า ลูกจ้างหมายความว่า ผู้ซึ่งทำงานให้นายจ้างโดยได้รับค่าจ้าง ไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร แต่ไม่รวมถึงลูกจ้างซึ่งทำงานเกี่ยวกับงานบ้านอันมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย นายจ้างหมายความว่า ผู้ซึ่งรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้าง และให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนนายจ้าง และค่าจ้างหมายความว่า เงินทุกประเภทที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นค่าตอบแทนการทำงานในวันและเวลาทำงานปกติ ไม่ว่าจะคำนวณตามระยะเวลาหรือคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้และให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้ในวันหยุดและวันลาซึ่งลูกจ้างไม่ได้ทำงานด้วย และไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 บัญญัติว่า “อันว่าสัญญาจ้างแรงงานนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า ลูกจ้าง ตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า นายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้” ดังนั้น การที่โจทก์ตกลงที่จะจ่ายค่าจ้างให้พนักงานขับรถตลอดเวลาที่ยังทำงานให้โดยโจทก์มุ่งที่จะใช้การงานของพนักงานขับรถมากกว่าคำนึงถึงผลสำเร็จแห่งงานที่ทำ พนักงานขับรถต้องทำงานภายใต้การควบคุมบังคับบัญชาของโจทก์ โดยใช้ความรู้ความสามารถของตนเพื่อรักษาผลประโยชน์ให้กับโจทก์ และโจทก์มีอำนาจให้คุณให้โทษ เช่น ว่ากล่าว ตักเตือน พักงาน เลิกจ้าง เป็นต้น สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับพนักงานขับรถจึงมีลักษณะเป็นสัญญาจ้างแรงงาน และอยู่ในความหมายของคำว่า ลูกจ้าง นายจ้างและค่าจ้างตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าในสัญญาจ้าง ข้อ 9 ระบุว่ากรณีที่ผู้ให้บริการทำงานฝ่าฝืนกฎจราจรและมีการเสียค่าปรับ ผู้ให้บริการจะต้องรับผิดชอบเองยกเว้นผู้ใช้บริการบอกให้กระทำ ผู้ใช้บริการจะเป็นผู้รับผิดชอบเอง แสดงว่า พนักงานขับรถมีอิสระปราศจากการควบคุมบังคับบัญชานั้น ก็เป็นการกำหนดขึ้นเพื่อผลักภาระให้แก่พนักงานขับรถจะได้ใช้ความระมัดระวังการทำผิดกฎจราจรเท่านั้น มิใช่เป็นการแสดงว่าโจทก์มิได้มีอำนาจบังคับบัญชาแต่อย่างใด คำสั่งของจำเลยจึงชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share