แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยฟ้องแย้งให้โจทก์คืนเงินของจำเลยที่โจทก์ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการของจำเลยนำไปชำระค่าภาษีเงินได้ของโจทก์โดยไม่มีสิทธิ อันเป็นการละเมิดและผิดสัญญาจ้างแรงงาน ไม่ใช่กรณีที่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างฟ้องแย้งเรียกเอาเงินค่าจ้างที่จำเลยได้จ่ายให้โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างไปล่วงหน้าคืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/4 (9) และสิทธิเรียกร้องอันเนื่องมาจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานมิได้มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนด 10 ปี ตามมาตรา 193/30
จำเลยยอมรับว่าโจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยในการทำงานช่วงก่อนครบเกษียณอายุโดยนับอายุงาน 31 ปี 9 เดือน อยู่แล้ว และ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2551 มาตรา 118 (5) กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน เป็นค่าชดเชยสูงสุด ดังนั้น ไม่ว่าจะนำระยะเวลาการทำงานของโจทก์หลังครบเกษียณอายุอีก 5 ปี 5 เดือน มานับรวมเป็นอายุงานในการคำนวณค่าชดเชยของโจทก์ด้วยได้หรือไม่ โจทก์ก็คงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วันอยู่ดี อุทธรณ์ของจำเลยจึงไม่ทำให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2507 จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างในตำแหน่งสมุห์บัญชีใหญ่ ต่อมาปี 2531 จำเลยแต่งตั้งให้โจทก์เป็นกรรมการผู้จัดการจนกระทั่งโจทก์อายุครบ 60 ปี ซึ่งตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย โจทก์จะต้องเกษียณอายุแต่จำเลยไม่มีผู้ทำงานแทนโจทก์ โจทก์จึงทำงานในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของจำเลยต่อมาจนกระทั่งวันที่ 1 ตุลาคม 2544 จำเลยได้แต่งตั้งกรรมการผู้จัดการคนใหม่มาทำหน้าที่แทนโจทก์ โจทก์จึงได้เกษียณอายุ ก่อนออกจากงานโจทก์ได้รับเงินเดือนอัตราสุดท้ายเดือนละ 457,800 บาท ได้เงินสะสมสมทบอัตราร้อยละ 5 ของเงินเดือนและได้รับเงินโบนัสประจำปี โดยจำเลยเป็นผู้ชำระภาษีเงินได้ทั้งหมดแทนโจทก์ เริ่มด้วยการชำระภาษีเงินเดือนแทนโจทก์ตั้งแต่ปี 2511 และชำระภาษีเงินได้อื่นๆ แทนโจทก์ด้วยตั้งแต่ปี 2531 เป็นต้นมา จนเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่จำเลยต้องถือปฏิบัติ แต่เมื่อจำเลยจ่ายค่าจ้างประจำเดือนกันยายน 2544 ซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายในการทำงานของโจทก์ จำเลยกับหักเงินเดือนของโจทก์ชำระค่าภาษีเงินได้ไว้ 240,017.58 บาท จำเลยจึงต้องคืนเงินดังกล่าวให้โจทก์ โจทก์ออกจากงานโดยการเกษียณอายุซึ่งเป็นการเลิกจ้าง จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน คิดเป็นเงิน 4,578,000 บาท โจทก์ทำงานครบ 30 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป เมื่อออกจากงานมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จในอัตรา 1.5 เท่าของเงินเดือนสุดท้ายคูณด้วยจำนวนปีที่ทำงานคิดเป็นเงิน 25,522,372.89 บาท จำเลยจัดให้มีกองทุนเงินสะสม โดยให้หักเงินเดือนของลูกจ้างที่เป็นสมาชิกเข้ากองทุนไว้ในอัตราร้อยละ 5 และจำเลยได้จ่ายเงินสมทบเข้าบัญชีให้สมาชิกแต่ละคนเท่ากับจำนวนเงินที่สะสมในแต่ละปี โจทก์เป็นสมาชิกกองทุนเงินสะสมดังกล่าว ขณะโจทก์ออกจากงานบัญชีเงินสะสมของโจทก์มีจำนวน 10,667,301.08 บาท โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินดังกล่าวเมื่อออกจากงาน ก่อนโจทก์ออกจากงานจำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบว่าโจทก์มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จ ค่าชดเชยและเงินสะสมรวมทั้งสิ้น 40,767,673.97 บาท ตามเอกสารท้ายฟ้อง หมายเลข 2 แต่เมื่อโจทก์ออกจากงานจำเลยกลับไม่จ่ายเงินใดๆ ให้แก่โจทก์ จนกระทั่งวันที่ 31 ตุลาคม 2544 จำเลยได้มีหนังสือแจ้งโจทก์ว่าจะแบ่งจ่ายเงินสะสมให้โจทก์เป็นงวดรายเดือนรวม 4 งวด เริ่มตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2544 ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 และวันที่ 7 พฤศจิกายน 2544 จำเลยได้โอนเงินสะสมงวดแรกจำนวน 2,667,301.08 บาท เข้าบัญชีให้โจทก์ แต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2544 จำเลยกลับมีหนังสือปฏิเสธการจ่ายเงินสะสมส่วนที่เหลือให้โจทก์อ้างว่าโจทก์เป็นหนี้ค่าภาษีเงินได้ที่จำเลยได้จ่ายแทนโจทก์ไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2536 เป็นต้นมารวมทั้งสิ้น 14,324,935.72 บาท เพราะเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2535 ที่ประชุมกรรมการของจำเลยได้มีมติให้โจทก์เป็นผู้จ่ายเงินค่าภาษีเงินได้เอง ทั้งยังแจ้งให้โจทก์นำเงินค่าภาษีเงินได้ดังกล่าวที่เหลือจากการหักทอนกับเงินสะสมของโจทก์แล้วจำนวน 6,324,935.72 บาท ไปชำระคืนให้แก่จำเลยตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4 โจทก์ไม่เคยทราบและมิได้รู้เห็นยินยอมด้วยกับมติของคณะกรรมการจำเลยซึ่งเป็นมติเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณแก่โจทก์ มติดังกล่าวจึงไม่มีผลใช้บังคับ จำเลยยังต้องชำระค่าภาษีเงินได้แทนโจทก์เต็มจำนวนเช่นเดิม ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าจ้างเดือนกันยายน 2544 อีก 240,017.58 บาท และค่าชดเชย 4,578,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี กับเงินบำเหน็จ 25,522,372.89 บาท และเงินสะสม 8,000,000 บาท พร้อมอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 กันยายน 2544 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยชำระค่าภาษีเงินได้ในเงินค่าจ้าง ค่าชดเชยและเงินบำเหน็จดังกล่าวแทนโจทก์ เต็มจำนวน
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์เกิดเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2479 ทำงานกับจำเลยมาตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2507 อายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ต้องเกษียณอายุโดยอัตโนมัติตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยหมวดที่ 9 ข้อ 10 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2539 การที่จำเลยให้โจทก์ทำงานต่อไปถือได้ว่าเป็นการจ้างให้โจทก์ทำงานใหม่ตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2539 และวันที่ 1 ตุลาคม 2544 โจทก์ได้ขอลาออกจากการเป็นพนักงานของจำเลยไปเอง โดยจำเลยไม่ได้เลิกจ้าง โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย 4,578,000 บาท ตามที่โจทก์ฟ้อง โจทก์มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จในการทำงานกับจำเลยช่วงแรกก่อนเกษียณอายุเป็นเวลา 31 ปี 9 เดือน คิดเป็นเงิน 21,802,725 บาท ช่วงหลังเกษียณอายุจนถึงวันลาออกอีก 5 ปี 5 เดือน คิดเป็นเงิน 457,000 บาท รวมเป็นเงินบำเหน็จที่โจทก์มีสิทธิได้รับเพียง 22,260,525 บาท เนื่องจากเงินบำเหน็จที่โจทก์มีสิทธิได้รับมีจำนวนสูงกว่าค่าชดเชย จึงถือว่าค่าชดเชยได้รวมอยู่ในเงินบำเหน็จที่โจทก์จะได้รับจากจำเลยแล้ว โจทก์มีสิทธิได้รับเงินสะสมจำนวน 10,667,301.08 บาท และจำเลยชำระให้โจทก์แล้ว 2,667,302.08 บาท จริง ส่วนที่เหลืออีก 8,000,000 บาท จำเลยนำไปหักกลบลบหนี้กับค่าภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย ที่จำเลยชำระให้โจทก์ไปในระหว่างปี 2536 ถึงปี 2543 โดยไม่ทราบว่าจำเลยไม่ต้องชำระรวมเป็นเงิน 14,328,935.72 บาท ซึ่งโจทก์ต้องคืนให้จำเลยเหตุเพราะจำเลยตรวจพบว่าเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2535 ที่ประชุมพิเศษของคณะกรรมการจำเลยครั้งที่ 145 ซึ่งโจทก์ในฐานะกรรมการผู้จัดการได้เข้าร่วมประชุมด้วยได้มีมติให้โจทก์เป็นผู้ชำระภาษีเงินได้เอง เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2536 เป็นต้นไปอันมีผลเป็นการยกเลิกมติที่ประชุมคณะกรรมการจำเลยครั้งที่ 41 เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2511 ที่ให้จำเลยชำระภาษีเงินได้แทนโจทก์ ซึ่งมิได้เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเพราะเป็นเพียงการออกเงินแทนเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่โจทก์ในฐานะเป็นกรรมการผู้จัดการของจำเลยเท่านั้น จำเลยจึงสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงมติดังกล่าวได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ ทั้งโจทก์มิได้คัดค้านในระหว่างการประชุมลงมติเมื่อมีการรับรองรายงานการประชุมลงมติดังกล่าวในการประชุมคราวต่อมา ครั้งที่ 146 เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2535 โจทก์ซึ่งเข้าร่วมประชุมด้วยก็มิได้โต้แย้ง นอกจากนี้โจทก์ในฐานะกรรมการผู้จัดการยังได้ทราบเรื่องดังกล่าวจากคณะกรรมการของจำเลยด้วย จึงถือได้ว่าโจทก์รู้เห็นยินยอมตามมติที่ประชุมของคณะกรรมการจำเลยแล้ว เมื่อนำเงินสะสมที่จำเลยยังไม่ได้ชำระให้โจทก์จำนวน 8,000,000 บาท กับเงินค่าภาษีเงินได้ที่โจทก์ต้องคืนให้แก่จำเลยจำนวน 14,324,935.72 บาท มาหักลบลบหนี้กันแล้ว โจทก์ยังต้องคืนเงินค่าภาษีเงินได้ให้จำเลยอีก 6,324,935.72 บาท และโจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี คงคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดได้ ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เท่านั้น ขอให้ยกฟ้องและบังคับให้โจทก์คืนเงินค่าภาษีเงินได้จำนวน 6,324,535.72 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า สิทธิในการได้รับการออกเงินค่าภาษีเงินได้เต็มจำนวนของโจทก์เป็นสิทธิที่เกิดขึ้นโดยมติของคณะกรรมการจำเลยเมื่อปี 2531 และถือปฏิบัติกันตลอดมาอย่างต่อเนื่องจนเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างซึ่งจำเลยจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ก็แต่โดยการยื่นข้อเรียกร้องหรือได้รับความยินยอมจากโจทก์ มติที่ประชุมพิเศษของคณะกรรมการจำเลยครั้งที่ 145 ที่ให้ยกเลิกการชำระภาษีเงินได้แทนโจทก์ไม่มีผลใช้บังคับ เพราะเป็นมติเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณแก่โจทก์ และโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอมด้วยเนื่องจากโจทก์ไม่ได้รับแจ้งให้เข้าร่วมประชุม ไม่ทราบผลการประชุม ไม่ได้รับรายงานการประชุมและไม่ได้รับรองรายงานการประชุม ทั้งไม่เคยได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติตามมติที่ประชุมดังกล่าว จำเลยจึงต้องชำระภาษีเงินได้แทนโจทก์เช่นเดิม และฟ้องแย้งของจำเลยขาดอายุความเพราะสิทธิเรียกเอาเงินค่าภาษีเงินได้ที่ออกชำระแทนไปคืนมีอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (9) ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระค่าชดเชยจำนวน 4,578,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 กันยายน 2544 และเงินบำเหน็จจำนวน 25,522,372.89 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 4 พฤศจิกายน 2545) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้โจทก์ชำระเงินจำนวน 6,324,535.72 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้ง (วันที่ 11 ธันวาคม 2545) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย คำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2507 ตลอดมาจนถึงวันครบเกษียณอายุ 60 ปี เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2536 แต่จำเลยยังคงจ้างโจทก์ให้ทำงานต่อไปในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการเหมือนเดิม โดยจ่ายค่าจ้างให้ในอัตราเดิมและให้ได้รับสวัสดิการต่างๆ เหมือนเดิม เนื่องมาจากจำเลยยังไม่มีกรรมการผู้จัดการคนใหม่มาทำงานแทนโจทก์ จนกระทั่งจำเลยได้แต่งตั้งให้นายจิราวัฒน์ มาเป็นกรรมการผู้จัดการแทนโจทก์ คณะกรรมการของจำเลยจึงได้มีมติให้โจทก์เกษียณอายุตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2544 เป็นต้นไปตามเอกสารหมาย จ.3 จ.4 นิติสัมพันธ์ในฐานะนายจ้างลูกจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นไปอย่างต่อเนื่องมิได้ขาดตอนไปเพราะการเกษียณอายุ 60 ปี จึงต้องนับอายุงานของโจทก์ติดต่อกันตั้งแต่วันเริ่มเข้าทำงานรวมเป็นเวลา 37 ปี 2 เดือน ข้อความในประกาศของโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.7 เพียงประสงค์ที่จะแจ้งให้บุคคลในองค์กรทราบว่ามีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหม่ โดยมีนายจิราวัฒน์ มาทำงานในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการแทนโจทก์เท่านั้น มิใช่เป็นการแสดงเจตนาลาออกจากงานเพราะการแสดงเจตนาลาออกจะต้องกระทำต่อคู่สัญญาอีกฝ่ายคือจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างเท่านั้น ประกอบกับมติของคณะกรรมการจำเลยตามเอกสารหมาย จ.3 จ.4 ก็กล่าวไว้ชัดเจนว่าโจทก์ออกจากงานเพราะเกษียณอายุโจทก์จึงมิได้ลาออก การออกจากงานเพราะเกษียณอายุของโจทก์ถือได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามกฎหมาย โจทก์มีอายุงาน 37 ปี 2 เดือน ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 457,800 บาท มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน คิดเป็นเงิน 4,578,000 บาท จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ตั้งแต่วันเลิกจ้างแต่จำเลยไม่จ่ายจึงตกเป็นผู้ผิดนัดตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2544 และโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 9 ระเบียบข้อบังคับสำหรับพนักงานของจำเลย แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2522 ตามเอกสารหมาย จ.4 หมวดที่ 9 ข้อ 3 กำหนดว่าจำเลยจะจ่ายเงินบำเหน็จให้ผู้ที่มีเวลาทำงานกับจำเลยตั้งแต่ 30 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ในอัตราร้อยละ 1.5 ของเงินเดือนครั้งสุดท้ายคูณด้วยจำนวนปีที่ทำงาน โจทก์ทำงานกับจำเลยเป็นเวลา 37 ปี 2 เดือน ได้รับเงินเดือนครั้งสุดท้ายเดือนละ 457,800 บาท จึงมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จจำนวน 25,522,372.89 บาท และมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แต่โจทก์ไม่ได้นำสืบว่าจำเลยผิดนัดตั้งแต่เมื่อใด จึงกำหนดให้ตั้งแต่วันฟ้อง การจ่ายเงินค่าชดเชยและเงินบำเหน็จมีเงื่อนไขที่แตกต่างกันและระเบียบข้อบังคับของจำเลยมิได้กำหนดว่าหากเงินบำเหน็จมีจำนวนสูงกว่าค่าชดเชยแล้วให้ถือว่าเป็นการจ่ายค่าชดเชย ข้ออ้างของจำเลยที่ว่าเงินบำเหน็จมีจำนวนสูงกว่าค่าชดเชยจึงถือว่าการจ่ายเงินบำเหน็จเป็นการจ่ายค่าชดเชยจึงรับฟังไม่ได้ จำเลยอนุมัติตามที่โจทก์ร้องขอและได้ออกเงินค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแทนโจทก์ตลอดมาตั้งแต่ปี 2511 จนกระทั่งวันที่ 9 ตุลาคม 2535 จึงได้มีการเปลี่ยนแปลง โดยจำเลยมีพลเอกณรงค์ ประธานคณะกรรมการจำเลยและนายอรรขเจต์ เลขานุการคณะกรรมการจำเลยเป็นพยานเบิกความสอดคล้องกันว่า วันดังกล่าวหลังจากเสร็จสิ้นการประชุมคณะกรรมการจำเลยครั้งที่ 145 เมื่อเวลา 12 นาฬิกา ตามรายงานการประชุม เอกสารหมาย ล.2 แล้ว ได้มีการประชุมคณะกรรมการจำเลยครั้งที่ 145 พิเศษต่อเนื่องกันไป เริ่มประชุม ตั้งแต่เวลา 12 นาฬิกา โดยคณะกรรมการทุกคนเข้าร่วมประชุมด้วย ยกเว้นโจทก์ไม่ได้เข้าร่วมประชุม โจทก์ถูกเชิญออกนอกห้องประชุมเพราะเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง เนื่องจากเป็นการประชุมเรื่องการยกเลิกการออกเงินค่าภาษีเงินได้ให้แก่โจทก์ ตามรายงานการประชุมเอกสารหมาย ล.3 และปรากฏในรายงานการประชุมคณะกรรมการจำเลยคราวถัดไป ครั้งที่ 146 ซึ่งคณะกรรมการที่เข้าร่วมประชุมครั้งที่ 145 และ 145 พิเศษ ได้เข้าร่วมประชุมด้วยทุกคนรวมทั้งโจทก์ต่างก็ได้รับรองรายงานการประชุมครั้งที่แล้วมา ตามรายงานการประชุมเอกสารหมาย ล.6 แม้ในรายงานการประชุมดังกล่าวจะเขียนไว้แต่เพียงว่าเป็นการรับรองรายงานการประชุมครั้งที่ 145 ก็เป็นที่เข้าใจได้ว่ารวมถึงการประชุมครั้งที่ 145 พิเศษด้วย โจทก์เป็นกรรมการผู้จัดการเป็นผู้บริหารสูงสุด มีหน้าที่โดยตรงเกี่ยวกับการจัดการประชุมคณะกรรมการจำเลยตั้งแต่มีหนังสือเชิญประชุมจัดทำรายงานและตรวจรายงานการประชุมโดยมีนายอรรขเจต์ผู้ใต้บังคับบัญชาของโจทก์ ซึ่งเป็นเลขานุการในที่ประชุมเป็นผู้ช่วยดำเนินการทุกครั้ง จึงฟังได้ว่ามีการประชุมคณะกรรมการจำเลยครั้งที่ 145 พิเศษ และที่ประชุมมีมติให้ยกเลิกการออกเงินค่าภาษีเงินได้ให้แก่โจทก์ตามรายงานการประชุมเอกสารหมาย จ.3 จริง หลังจากโจทก์ออกจากงานแล้ว วันที่ 8 พฤศจิกายน 2544 จำเลยตรวจพบว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติตามมติของคณะกรรมการจำเลยดังกล่าวโดยยังนำเงินของจำเลยไปชำระค่าภาษีเงินได้ของโจทก์ตลอดมา และจำเลยได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบเพื่อขอใช้สิทธิหักกลบลบหนี้ตามเอกสารหมาย ล.10 โจทก์ก็มิได้โต้แย้งคัดค้านหรือกล่าวอ้างว่ารายงานการประชุมเอกสารหมาย ล.3 เป็นเอกสารปลอม จึงเชื่อได้ว่าโจทก์ทราบมติของคณะกรรมการจำเลยที่ให้ยกเลิกการออกเงินค่าภาษีเงินได้ให้แก่โจทก์ตามเอกสารหมาย ล.3 มาตั้งแต่แรก จำเลยจึงมีสิทธิหักค่าจ้างเดือนกันยายน 2544 จำนวน 240,017.58 บาท ไว้เพื่อนำส่งเป็นเงินค่าภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร โจทก์มีหน้าที่ปฏิบัติตามมติของคณะกรรมการจำเลยได้ทราบมติที่ให้ยกเลิกการออกเงินค่าภาษีเงินได้ให้แก่โจทก์แล้ว ไม่ปฏิบัติตามยังนำเงินของจำเลยไปชำระค่าภาษีเงินได้ของโจทก์มาตั้งแต่ปี 2536 จนถึงปี 2543 รวมเป็นเงิน 14,324,935.72 บาท จึงเป็นการละเมิดและเป็นการกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงาน โจทก์จึงต้องชำระเงินจำนวนดังกล่าวซึ่งถึงกำหนดแล้วคืนให้แก่จำเลย จำเลยจึงขอหักกลบลบหนี้กับเงินสะสมที่โจทก์มีสิทธิได้รับจากจำเลยจำนวน 10,667,301.08 บาท ยังค้างอยู่ 8,000,000 บาท และเรียกให้โจทก์ชำระส่วนที่เหลือได้ อายุความฟ้องให้รับผิดฐานกระทำผิดตามสัญญาจ้างแรงงานมิได้มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความทั่วไป 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 โจทก์ผิดสัญญาจ้างแรงงานนำเงินของจำเลยไปชำระภาษีเงินได้ของโจทก์โดยไม่มีสิทธิตั้งแต่ปี 2535 ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2543 จำเลยตรวจพบและฟ้องแย้งให้โจทก์รับผิดเมื่อปี 2545 ฟ้องแย้งของจำเลยจึงไม่ขาดอายุความ เมื่อหักกลบลบหนี้กันแล้วโจทก์ต้องชำระเงินค่าภาษีเงินได้คืนให้จำเลย 6,324,935.72 บาท แต่จำเลยฟ้องแย้งขอมา 6,324,535.72 บาท จึงกำหนดให้ตามขอ และจำเลยมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แต่จำเลยมิได้นำสืบว่าโจทก์ผิดนัดตั้งแต่เมื่อใด จึงกำหนดให้ตั้งแต่วันฟ้องแย้ง ตามพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบไม่ปรากฏว่าโจทก์มีสิทธิบังคับให้จำเลยชำระค่าภาษีเงินได้สำหรับเงินค่าชดเชยและเงินบำเหน็จ จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ต้องชำระภาษีเงินได้ให้โจทก์
ที่โจทก์อุทธรณ์ในข้อ 2 ว่า การประชุมคณะกรรมการของจำเลยครั้งที่ 145 พิเศษ เป็นการประชุมที่เกิดขึ้นหลังจากที่ประธานได้กล่าวปิดการประชุมคณะกรรมการจำเลยครั้งที่ 145 แล้ว รายงานการประชุมก็จัดทำแยกกันไว้เป็นคนละฉบับ และที่ประชุมคณะกรรมการของจำเลยครั้งที่ 146 รับรองรายงานการประชุมไว้เฉพาะรายงานการประชุมครั้งที่ 145 แม้การประชุมทั้งสองครั้งดังกล่าวจะกระทำต่อเนื่องกันก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการประชุมครั้งเดียวกัน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏจากการนำสืบของคู่ความว่ามิได้มีการแจ้งประชุมครั้งที่ 145 พิเศษ ให้กรรมการทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 2 สัปดาห์ ก่อนการประชุมตามข้อบังคับของจำเลยการประชุมครั้งที่ 145 พิเศษ จึงเป็นการประชุมที่ไม่ชอบ ถือไม่ได้ว่ามีการประชุมคณะกรรมการจำเลยครั้งที่ 145 พิเศษ มติของที่ประชุมดังกล่าวจึงไม่มีผลใช้บังคับ และโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอมด้วยเพราะโจทก์มิได้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการจัดการประชุมคณะกรรมการจำเลย เป็นหน้าที่ของประธานกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการจัดขึ้นโดยปกปิดโจทก์และมิได้มีผู้ใดแจ้งมติของที่ประชุมให้โจทก์ทราบ ข้อวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางที่ว่าโจทก์ทราบมติของที่ประชุมแล้วไม่ปฏิบัติตามยังนำเงินของจำเลยไปชำระค่าภาษีเงินได้ของโจทก์ก็แสดงให้เห็นว่าโจทก์มิได้ตกลงยินยอมตามมติของที่ประชุม มติที่ประชุมคณะกรรมการจำเลยครั้งที่ 145 พิเศษ จึงไม่มีผลบังคับต่อโจทก์ กับอุทธรณ์ในข้อ 3 ว่า ระเบียบข้อบังคับสำหรับพนักงานของจำเลยตามเอกสารหมาย ล.4 หมวดที่ 9 ข้อ 3 กำหนดว่า “ผู้ที่ทำงานกับบริษัทมาครบ 3 ปีขึ้นไป เมื่อต้องออกจากบริษัทไม่ว่ากรณีใดๆ บริษัทจะจ่ายเงินบำเหน็จให้ดังนี้…” แสดงว่าสิทธิที่จะได้รับเงินบำเหน็จของโจทก์เกิดขึ้นเมื่อโจทก์ออกจากงานข้อความท้ายหนังสือแจ้งการจ่ายเงินบำเหน็จและเงินสะสมของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.5 ก็ระบุ “การจ่ายเงินบำเหน็จและเงินสะสมจะจ่ายให้ภายในวันที่ 20 ตุลาคม 2545 ตามระเบียบที่เคยปฏิบัติมา” แสดงว่าจะมีการจ่ายเงินบำเหน็จและเงินสะสมภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 เดือน หลังออกจากงาน ข้อเท็จจริงดังกล่าวเพียงพอที่จะนำมาวินิจฉัยได้แล้วว่าจำเลยผิดนัดตั้งแต่โจทก์ออกจากงาน ดังนี้ เห็นได้ว่าโจทก์อุทธรณ์โดยยกเหตุผลต่างๆ ขึ้นหักล้างคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางเพื่อให้ศาลฎีการับฟังว่า มิได้มีการประชุมคณะกรรมการจำเลยครั้งที่ 145 พิเศษ ซึ่งที่ประชุมมีมติให้ยกเลิกการออกเงินค่าภาษีเงินได้ให้แก่โจทก์ตามรายงานการประชุมเอกสารหมาย ล.3 โดยโจทก์รู้เห็นยินยอมกับมติที่ประชุมคณะกรรมการจำเลยครั้งที่ 145 พิเศษนั้นแล้วและพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบรับฟังได้แล้วว่าจำเลยผิดนัดไม่จ่ายเงินบำเหน็จให้โจทก์ตั้งแต่วันโจทก์ออกจากงาน อันเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยและต้องรับฟังเป็นยุติตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางว่า ได้มีการยกเลิกการออกเงินค่าภาษีเงินได้ให้โจทก์แล้ว
ที่โจทก์อุทธรณ์ในข้อ 5 ว่า ค่าภาษีเงินได้ที่จำเลยตกลงจ่ายให้โจทก์ เป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้าง ศาลแรงงานกลางชอบที่จะนำไปรวมกับเงินเดือนของโจทก์ ใช้เป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยที่จำเลยจะต้องจ่ายให้แก่โจทก์โดยให้โจทก์เป็นผู้ชำระภาษีเงินได้เอง หรือมิฉะนั้นก็ต้องกำหนดให้จำเลยเป็นผู้รับผิดชอบชำระค่าภาษีเงินได้แทนโจทก์ เห็นว่า ข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติแล้วว่าได้มีการยกเลิกข้อตกลงการจ่ายค่าภาษีเงินได้ให้โจทก์ไปแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป เป็นอุทธรณ์ที่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัย
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ในข้อ 4 ตอนต้นว่า ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยไว้แล้วว่าการที่โจทก์นำเงินของจำเลยไปชำระค่าภาษีเงินได้ของโจทก์โดยไม่มีสิทธิเป็นการละเมิด เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยได้รู้ถึงการละเมิดดังกล่าวตั้งแต่ก่อนวันที่ 11 ธันวาคม 2544 แต่จำเลยเพิ่งฟ้องแย้งให้โจทก์รับผิดเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2545 จึงขาดอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 นั้น เห็นว่า โจทก์ไม่ได้ต่อสู้ไว้ในคำให้การแก้ฟ้องแย้ง จึงเป็นการอุทธรณ์ในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลางทั้งไม่ใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นกัน คดีคงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ในข้อ 4 ตอนท้ายแต่เพียงว่า ฟ้องแย้งของจำเลยขาดอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (9) หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 บัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีอายุความสองปี… (9) ลูกจ้างไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราวหรือลูกจ้างรายวัน รวมทั้งผู้ฝึกหัดงานเรียกเอาค่าจ้างหรือสินจ้างอย่างอื่น รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป หรือนายจ้างเรียกเอาคืนซึ่งเงินเช่นว่านั้นที่ตนได้จ่ายล่วงหน้าไป” ข้อเท็จจริงปรากฏว่าเงินที่จำเลยฟ้องแย้งให้โจทก์คืนแก่จำเลยในคดีนี้คือเงินของจำเลยที่โจทก์ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการของจำเลยนำไปชำระค่าภาษีเงินได้ของโจทก์โดยไม่มีสิทธิ อันเป็นการละเมิดและผิดสัญญาจ้างแรงงานไม่ใช่กรณีที่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างฟ้องแย้งเรียกเอาเงินค่าจ้างที่จำเลยได้จ่ายให้โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างไปล่วงหน้าคืนตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (9) และสิทธิเรียกร้องอันเนื่องมาจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานมิได้มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนด 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ฟ้องแย้งของจำเลยจึงไม่ขาดอายุความ อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยอุทธรณ์ในข้อ 2.2 (2) ข้อ 2.3 ตอนต้นและข้อ 2.4 ว่า การที่โจทก์นำเงินของจำเลยไปชำระค่าภาษีเงินได้ของโจทก์โดยไม่มีสิทธิรวมเป็นเงินถึง 14,324,935.72 บาท เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ เบียดบัง ยักยอก กระทำความผิดอาญาโดยเจตนาต่อจำเลย กระทำความผิดวินัยที่ร้ายแรง และก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อจำเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 ไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามระเบียบข้อบังคับสำหรับพนักงานเอกสารหมาย ล.4 หมวดที่ 7 ข้อ 6 และหมวดที่ 9 ข้อ 3 ทั้งไม่มีสิทธิได้รับเงินสะสมส่วนที่จำเลยจ่ายสมทบเข้าบัญชีให้โจทก์ คงมีสิทธิได้รับเงินสะสมเฉพาะส่วนที่เป็นเงินสะสมของโจทก์เอง พร้อมดอกเบี้ยรวมเป็นเงิน 5,333,650.54 บาท เท่านั้น ตามระเบียบข้อบังคับสำหรับพนักงานฯ เอกสารหมาย ล.6 หมวดที่ 9 ข้อ 7.6 จึงเหลือเงินสะสมที่จำเลยยังไม่ได้ชำระให้โจทก์เพียง 2,666,349.46 บาท เมื่อหักกลบลบหนี้กันแล้วโจทก์จึงต้องชำระเงินค่าภาษีเงินได้คืนให้จำเลย 11,658,586.26 บาท ไม่ใช่ 6,324,535.72 บาท ตามที่ศาลแรงงานกลางพิพากษานั้น เห็นว่า จำเลยไม่ได้กล่าวอ้างไว้ในคำให้การและฟ้องแย้งจึงเป็นการอุทธรณ์ในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง ทั้งไม่ใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ในข้อ 2.1 ข้อ 2.2 (1) และข้อ 2.3 ตอนท้ายว่า ระเบียบข้อบังคับสำหรับพนักงานของจำเลยเอกสารหมาย ล.4 หมวดที่ 8 ข้อ 3 กำหนดให้การเกษียณอายุเป็นการสิ้นสุดสภาพการจ้าง และหมวดที่ 9 ข้อ 10.1 กำหนดว่า “ลูกจ้างเมื่อมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ถือว่าเป็นการเกษียณอายุโดยอัตโนมัติโดยให้ถือเอาวันที่ 1 ของเดือนถัดไปหลังจากที่ลูกจ้างอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ เป็นวันเกษียณอายุ…” สัญญาจ้างระหว่างโจทก์จำเลยจึงแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ช่วงแรก สิ้นสุดลงโดยอัตโนมัติเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2539 เพราะโจทก์มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ รวมเวลาทำงาน 31 ปี 9 เดือน ช่วงที่สองหลังจากโจทก์เกษียณอายุ และจำเลยยังให้โจทก์ทำงานต่อไปอันถือได้ว่าเป็นการตกลงทำสัญญาจ้างกันใหม่ ตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2539 จนถึงวันที่โจทก์สิ้นสุดการเป็นพนักงานของจำเลยเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2544 รวมเวลาทำงาน 5 ปี 5 เดือน การคิดเงินบำเหน็จของโจทก์จึงต้องคิดเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกคิดจากอายุงาน 31 ปี 9 เดือน เป็นเงิน 21,802,725 บาท ช่วงที่สองคิดจากอายุงาน 5 ปี 5 เดือน เป็นเงิน 457,800 บาท จึงรวมเป็นเงินบำเหน็จที่โจทก์มีสิทธิได้รับเพียง 22,260,525 บาท เท่านั้น ไม่ใช่ 25,522,372.89 บาท ตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัย และประกาศของโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.7 เป็นประกาศลาออกจากงาน โจทก์เป็นผู้บังคับบัญชาระดับสูงของจำเลย การที่โจทก์ประกาศลาออกจากงานถือได้ว่าโจทก์แสดงเจตนาลาออกต่อจำเลยแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยสำหรับการทำงานในช่วงที่สองหลังจากที่โจทก์เกษียณอายุแล้ว เห็นว่า ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าสัญญาจ้างระหว่างโจทก์จำเลยเป็นไปอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่โจทก์เข้าทำงานจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2544 รวมเป็นเวลา 37 ปี 2 เดือน มิได้ขาดตอนไป เพราะการเกษียณอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ตามระเบียบข้อบังคับสำหรับพนักงานของจำเลย โดยพิเคราะห์ระเบียบข้อบังคับดังกล่าวประกอบพฤติการณ์ที่ปรากฏว่าในวันโจทก์ครบเกษียณอายุ 60 ปี จำเลยยังไม่มีกรรมการผู้จัดการคนใหม่มาทำงานแทนโจทก์ จึงเลยจึงจ้างโจทก์ให้ทำงานในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการต่อไปโดยให้ค่าจ้างและสวัสดิการต่างๆ เหมือนเดิม จนกระทั่งจำเลยแต่งตั้งให้นายจิราวัฒน์ มาเป็นกรรมการผู้จัดการแทนโจทก์แล้วคณะกรรมการของจำเลยจึงได้มีมติให้โจทก์เกษียณอายุตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2544 เป็นต้นไป อุทธรณ์ของจำเลยที่ว่าระเบียบข้อบังคับสำหรับพนักงานของจำเลยเอกสารหมาย ล.4 กำหนดให้การเกษียณอายุเป็นการสิ้นสุดสภาพการจ้าง และเมื่อลูกจ้างมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ สัญญาจ้างระหว่างโจทก์จำเลยจึงแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกสิ้นสุดลงโดยอัตโนมัติเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2539 เพราะโจทก์มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ รวมเวลาทำงาน 31 ปี 9 เดือน ช่วงที่สองหลังจากโจทก์เกษียณอายุและจำเลยยังให้โจทก์ทำงานต่อไปซึ่งถือได้ว่าเป็นการตกลงทำสัญญาจ้างกันใหม่ตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2539 จนถึงวันที่โจทก์สิ้นสุดการเป็นพนักงานของจำเลย รวมเวลาทำงาน 5 ปี 5 เดือน การคิดเงินบำเหน็จของโจทก์จึงต้องคิดเป็น 2 ช่วงตามเกณฑ์ระยะเวลาทำงานของโจทก์ในแต่ละช่วง โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จเพียง 22,260,525 บาท จึงเป็นอุทธรณ์ที่ยกข้อเท็จจริงซึ่งศาลแรงงานกลางใช้ประกอบการวินิจฉัยขึ้นอ้างเพียงบางส่วน อันเป็นการอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่าประกาศของโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.7 เป็นประกาศลาออกจากงานที่ถือได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาลาออกต่อจำเลยแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยสำหรับการทำงานในช่วงที่สองหลังจากที่โจทก์เกษียณอายุแล้ว เห็นว่า จำเลยยอมรับว่าโจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยในการทำงานช่วงก่อนครบเกษียณอายุโดยนับอายุงาน 31 ปี 9 เดือน อยู่แล้ว และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 (5) กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง ซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไปไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน เป็นค่าชดเชยสูงสุด ดังนั้นไม่ว่าจะนำระยะเวลาการทำงานของโจทก์หลังครบเกษียณอายุอีก 5 ปี 5 เดือน มานับรวมเป็นอายุงานในการคำนวณค่าชดเชยของโจทก์ด้วยได้หรือไม่ โจทก์ก็คงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วันอยู่ดี อุทธรณ์ของจำเลยจึงไม่ทำให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นกัน”
พิพากษายืน