คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1196/2492

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยขายฝากที่สวนกับบ้านเรือนไว้กับโจทก์ และทำสัญญาเช่าทรัพย์นั้นจากโจทก์ ๆ มาฟ้องว่า บัดนี้พ้นกำหนดไถ่ถอนแล้วขอให้ขับไล่จำเลย จำเลยต่อสู้ว่าได้ไปไถ่ถอนแล้วโจทก์ไม่ยอม จึงฟ้องแย้งขอให้โจทก์รับไถ่ถอน ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อจะครบกำหนดสัญญา จำเลยได้ไปขอไถ่ถอนแต่โจทก์ไม่ยอมให้ไถ่ โดยจะขอเงินเพิ่มขึ้น แต่ขณะที่จำเลยฟ้องแย้งขอให้รับไถ่ถอนนี้เกินกำหนดเวลาในสัญญาขายฝากแล้ว ดังนี้ ต้องถือว่าจำเลยผู้ขายฝากได้ไปขอไถ่ตามกำหนดในสัญญาแล้ว โจทก์ต้องยอมให้ไถ่ ถ้าไม่ยอมโจทก์ก็เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยย่อมฟ้องแย้งขอให้บังคับให้รับไถ่ตามสัญญาได้ คดีนี้รูปคดีไม่เหมือนกับฎีกาที่ 185/2491 เพราะคดีนั้น ผู้ขายฝากไปขอไถ่ ผู้ซื้อฝากขอผัด ผู้ขายฝากก็ยอม ซึ่งจะถือเป็นกรณีผู้ซื้อฝากผิดสัญญาไม่ยอมให้ไถ่ไม่ได้เมื่อผู้ขายฝากยอมให้เวลาใช้สิทธิไถ่ถอนพ้นไปจากกำหนดแล้ว ก็ต้องรับสนองในการนั้น จึงไถ่ไม่ได้ จะถือว่า ได้ตกลงยืดเวลาไถ่ถอนกันไปก็ไม่ได้ เพราะขัดกับมาตรา 496.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องหาว่า จำเลยได้ขายฝากที่สวน เรือน และสิ่งปลูกสร้างในที่ดินให้แก่โจทก์ สัญญาไถ่คืนภายใน ๔ ปี แล้วจำเลยได้เช่าทรัพย์เหล่านี้จากโจทก์มีกำหนด ๔ ปี บัดนี้ล่วงเลยเวลาไถ่ถอนแล้ว จำเลยไม่ไถ่ทรัพย์เหล่านี้ จึงตกเป็นของโจทก์ จึงขอให้ขับไล่และเรียกค่าเช่าที่ค้างชำระ จำเลยรับว่าได้เช่าทรัพย์ที่ขายฝากโจทก์จริง โจทก์ได้ทำสัญญาเช่าเพื่อจะหลีกเลี่ยงดอกเบี้ยตาม ก.ม. คงค้างค่าเช่าเพียง ๒๗๖๐ บาท ทรัพย์ที่กล่าวยังไม่หยุดเป็นสิทธิแก่โจทก์ เมื่อครบกำหนดไถ่จำเลยไปขอไถ่ โจทก์ไม่ยอมรับไถ่ อ้างว่าพ้นกำหนดไถ่ จำเลยฟ้องแย้งขอให้โจทก์รับไถ่ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์รับการไถ่ถอน แต่ให้จำเลยชำระค่าเช่าที่ค้าง ๓๑๑๐ บาท ๖๖ สตางค์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อจะครบกำหนดสัญญา จำเลยได้ไปขอไถ่ถอน โจทก์ไม่ยอมให้ไถ่ โดยจะเอาเงินเพิ่มขึ้นอีก แต่ที่จำเลยฟ้องแย้งขอให้โจทก์รับไถ่นี้เกินกำหนดเวลาในสัญญาขายฝากแล้ว ปัญหาว่าจำเลยจะฟ้องได้หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ขายฝากเป็นสัญญาซื้อขายชะนิดหนึ่ง แต่จัดเป็นการซื้อขายฉะเพาะบางอย่าง เมื่อพิเคราะห์ประกอบกับบทบัญญัติใน ป.ม.แพ่งฯ ว่าด้วยการขายฝากแล้ว เห็นได้ว่า การไถ่ ก็คือการที่ผู้ขายฝากซื้อทรัพย์คืนนั่นเอง ฉะนั้น ถ้าผู้ขายฝากขอไถ่ภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา ผู้ซื้อฝากจะต้องยอมให้ไถ่ ถ้าไม่ยอมผู้ซื้อฝากก็ผิดสัญญา และผู้ขายฝากย่อมฟ้องขอให้บังคับได้ แม้จะฟ้องเกินเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาให้ไถ่ถอนได้ก็ตาม เช่นเดียวกับการทำสัญญาจะซื้อขายธรรมดา ตามบทบัญญัติใน ป.ม.แพ่งฯ ว่าด้วยการขายฝากไม่มีบทมาตราใดบัญญัติว่า หากมีกรณีจะต้องฟ้องร้อง ก็ต้องฟ้องเสียภายในเวลาซึ่งกำหนดไว้ให้ไถ่ถอนนั้น สิทธิอันเกิดจากสัญญาเป็นคนละตอนกับสิทธิฟ้องร้อง เมื่อทำสัญญากันแล้ว ก็ต้องดำเนินการไปตามสิทธิและหน้าที่อันเกิดจากสัญญานั้น จะเกิดมีการฟ้องร้องเพื่อบังคับตามสิทธิ อันเกิดแต่สัญญา ก็ต่อเมื่อมีการผิดสัญญา หรือเรียกว่ามีข้อโต้แย้งตามมาตรา ๕๕ ป.ม.วิ.แพ่ง กำหนดเวลาที่ว่าไว้ในมาตรา ๔๙๔ เป็นกำหนดเวลาการใช้สิทธิไถ่ตามสัญญา ไม่ใช่กำหนดเวลาการฟ้องร้อง กำหนดระยะเวลาสำหรับการฟ้องร้องตาม ป.ม.แพ่งฯ เรียกว่า อายุความ คดีนี้จำเลยไปขอไถ่ โจทก์ไม่ยอมให้ไถ่ ผิดกับคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๘๕/๒๔๙๑ เพราะคดีนั้นผู้ขายฝากก็ไปขอไถ่ ผู้ซื้อฝากขอผัด ผู้ขายฝากก็ยอม ซึ่งจะถือเป็นกรณีผู้ซื้อฝากผิดสัญญาขายฝากไม่ยอมรับไถ่ ยังไม่ได้ เมื่อผู้ขายฝากยอมให้เวลาใช้สิทธิไถ่ถอนพ้นไปจากกำหนดแล้ว ก็ต้องรับสนองในการนั้น จึงไถ่ไม่ได้ จะถือว่าได้ตกลงยืดเวลาไถ่ถอนกันไปก็ไม่ได้ เพราะขัดกับมาตรา ๔๙๖
พิพากษายืน.

Share