คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3094/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินมัดจำที่โจทก์วางไว้ให้แก่จำเลยในการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินคืนแก่โจทก์ เมื่อปรากฏว่าโจทก์ฟ้องบังคับจำเลยให้ปฏิบัติตามสัญญาและเรียกค่าเสียหายตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 894/2535 ของศาลชั้นต้น โดยไม่ปรากฏว่าได้ขอบังคับให้จำเลยคืนเงินมัดจำแก่โจทก์ด้วย ทั้งที่เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นและมีอยู่ในขณะฟ้อง และโจทก์มีสิทธิตามกฎหมายที่จะเรียกร้องเช่นนั้นได้แม้ต่อมาคดีดังกล่าวศาลฎีกาจะมีคำพิพากษายกฟ้องคำขอที่บังคับให้จำเลยรังวัดแบ่งแยกที่ดินแก่โจทก์โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคดีมาฟ้องใหม่ก็ตาม แต่ศาลฎีกาก็ได้วินิจฉัยว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาและบังคับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ อันถือได้ว่าศาลได้วินิจฉัยประเด็นแห่งคดีว่าจำเลยผิดสัญญาหรือไม่แล้ว ทั้งต่อมาปรากฏว่าโจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยและเจ้าของรวมทุกคนขอให้บังคับแบ่งแยกที่ดินตามที่โจทก์ต้องการแล้วจดทะเบียนโอนที่ดินที่แบ่งแยกแก่โจทก์ตามสิทธิที่ได้รับตามคำพิพากษาศาลฎีกาและเรียกค่าเสียหาย แต่โจทก์ก็ไม่มีคำขอให้จำเลยคืนเงินมัดจำหากจำเลยไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ ซึ่งต่อมาคดีที่โจทก์ฟ้องใหม่นี้ ศาลชั้นต้นก็พิพากษายกฟ้องตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 4934/2542 ของศาลชั้นต้น คดีถึงที่สุด ดังนั้น การที่โจทก์มาฟ้องคดีนี้อ้างว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา จึงถือว่าสัญญาเลิกกันและขอเงินมัดจำคืน เท่ากับศาลต้องวินิจฉัยประเด็นแห่งคดีว่าจำเลยผิดสัญญาหรือไม่ซ้ำกับคดีก่อนที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองคดีและถึงที่สุดแล้ว ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 และปัญหาว่าคดีโจทก์เป็นฟ้องซ้ำหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความในหยิบยกขึ้นมา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนเงิน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนเงินแก่โจทก์ 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 24 สิงหาคม 2547) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความให้รวม 15,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมที่ดินโฉนดเลขที่ 1937 ตำบลบางซื่อ (บางกระสอ) อำเภอตลาดขวัญ (เมืองนนทบุรี) จังหวัดนนทบุรี เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2531 จำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินเฉพาะส่วนของจำเลย เนื้อที่ 599 ตารางวา ราคาตารางวาละ 10,000 บาท เป็นเงิน 5,990,000 บาท ให้แก่โจทก์ โดยมีข้อตกลงว่า ที่ดินที่จะขายแก่โจทก์ต้องมีอาณาเขตทิศตะวันออกติดสถานีบริการน้ำมันตราหอย ทิศตะวันตกติดที่ดินของโจทก์ และทิศเหนือติดถนนรัตนาธิเบศร์ จำเลยจะรังวัดแบ่งแยกที่ดินและจดทะเบียนโอนให้แก่โจทก์ภายใน 18 เดือน หากจำเลยผิดสัญญายอมให้โจทก์ฟ้องบังคับตามสัญญาและชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์อีก 2,000,000 บาท โจทก์วางเงินมัดจำ 1,000,000 บาท เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2532 จำเลยฟ้องเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมคนอื่นให้แบ่งแยกที่ดินเฉพาะส่วนของที่จำเลยตกลงขายให้แก่โจทก์ตามคดีหมายเลขดำที่ 7/2532 ของศาลชั้นต้น จำเลยกับเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน แต่จำเลยได้ที่ดินไม่ตรงกับที่ตกลงขายให้แก่โจทก์ โจทก์จึงฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้น ขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 200,000 บาท ตามคดีหมายเลขดำที่ 166/2533 หมายเลขแดงที่ 894/2535 ของศาลชั้นต้น โจทก์และจำเลยฎีกา ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์ฟ้องจำเลยคนเดียวให้แบ่งที่ดินที่มีเจ้าของรวม คำขอโจทก์ส่วนนี้ไม่อาจบังคับได้ แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคดีมาฟ้องใหม่ สำหรับค่าเสียหายศาลล่างทั้งสองกำหนดให้ต่ำเกินไป จึงพิพากษาแก้เฉพาะค่าเสียหายโดยให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เพิ่มขึ้นเป็น 500,000 บาท ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1396/2539 ต่อมาโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยกับเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมทุกคนตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ โดยขอให้บังคับจำเลยกับเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมร่วมกันแบ่งแยกที่ดินแล้วจดทะเบียนโอนให้แก่โจทก์ หากมาปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ให้จำเลยที่ 1 (จำเลยในคดีนี้) รับเงินค่าที่ดินที่เหลือ กับให้ร่วมกันใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า การแบ่งกรรมสิทธิ์รวมต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364 จึงไม่อาจบังคับจำเลยแบ่งแยกตามที่จำเลยต้องการจะแบ่งขายแก่โจทก์ได้ ส่วนเจ้าของรวมคนอื่นไม่ใช่คู่สัญญาหรือมีนิติสัมพันธ์ใดกับโจทก์ จึงพิพากษายกฟ้อง ตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 2307/2542 หมายเลขแดงที่ 4934/2542 ของศาลชั้นต้น คดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาและมาฟ้องคดีนี้ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินมัดจำที่โจทก์วางไว้ให้แก่จำเลยในการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินคืนแก่โจทก์ ได้ความว่าโจทก์จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายและวางเงินมัดจำกันเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2531 โดยมีข้อตกลงว่าจำเลยต้องดำเนินการรังวัดแบ่งแยกที่ดินส่วนที่จะขายให้แก่โจทก์ ตามสัญญาให้แล้วเสร็จภายใน 18 เดือน จึงครบกำหนดตามสัญญาภายในวันที่ 11 กันยายน 2532 แต่ปรากฏว่าที่ดินที่จำเลยแบ่งขายแก่โจทก์นั้นเป็นที่ดินที่มีลักษณะเป็นกรรมสิทธิ์รวมยังมิได้แบ่งแยกหรือมีการครอบครองเป็นส่วนสัด จึงไม่อาจรู้ได้ว่าที่ดินของจำเลยมีอาณาเขตที่ตั้งอยู่ส่วนใดในที่ดินทั้งแปลง และเจ้าของรวมคนอื่นไม่ได้เป็นคู่สัญญาหรือมีส่วนให้ความยินยอมในการทำสัญญาระหว่างโจทก์จำเลย ดังนั้น เมื่อครบกำหนดตามสัญญาแล้ว จำเลยไม่สามารถแบ่งแยกและโอนที่ดินให้แก่โจทก์ตามที่ตกลงกันได้ ถือว่าจำเลยผิดสัญญา โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาหรือจะยกเลิกสัญญาเสียก็ได้ แต่ในส่วนของเงินมัดจำที่โจทก์วางไว้แก่จำเลยนั้น ไม่ว่าโจทก์จะใช้สิทธิทางใด โจทก์ก็มีสิทธิที่จะเรียกคืนไป กล่าวคือ หากเป็นการบังคับคดีให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาก็เป็นการเรียกคืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 378 ซึ่งบัญญัติไว้ความว่า มัดจำนั้น ถ้ามิได้ตกกันไว้เป็นอย่างอื่นท่านให้เป็นไปดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ (3) ให้ส่งคืน ถ้าฝ่ายที่ได้รับมัดจำละเลยไม่ชำระหนี้ หรือการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งฝ่ายนี้ต้องรับผิดชอบ หรือหากบอกเลิกสัญญาคู่สัญญาย่อมกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม โจทก์สามารถเรียกมัดจำคืนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 ฉะนั้น เมื่อปรากฏว่าโจทก์ฟ้องบังคับจำเลยให้ปฏิบัติตามสัญญาและเรียกค่าเสียหายตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 894/2535 ของศาลชั้นต้น โดยไม่ปรากฏว่าได้บังคับให้จำเลยคืนเงินมัดจำแก่โจทก์ด้วย ทั้งที่เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นและมีอยู่ในขณะฟ้องและโจทก์มีสิทธิตามกฎหมายที่เรียกร้องเช่นนั้นได้ แม้ต่อมาคดีดังกล่าวศาลฎีกาจะมีคำพิพากษายกฟ้องคำขอที่บังคับให้จำเลยรังวัดแบ่งแยกที่ดินแก่โจทก์โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคดีมาฟ้องใหม่ก็ตาม แต่ศาลฎีกาก็ได้วินิจฉัยว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาและบังคับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ อันถือได้ว่าศาลได้วินิจฉัยประเด็นแห่งคดีว่าจำเลยผิดสัญญาหรือไม่แล้ว ทั้งต่อมาปรากฏว่าโจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยและเจ้าของรวมทุกคนขอให้บังคับแบ่งแยกที่ดินตามที่โจทก์ต้องการแล้วจดทะเบียนโอนที่ดินที่แบ่งแยกแก่โจทก์ตามสิทธิที่ได้รับตามคำพิพากษาศาลฎีกาและเรียกค่าเสียหาย แต่โจทก์ก็ไม่มีคำขอให้จำเลยคืนเงินมัดจำหากจำเลยไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ ซึ่งต่อมาคดีที่โจทก์ฟ้องใหม่นี้ ศาลชั้นต้นก็พิพากษายกฟ้องตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 4934/2542 ของศาลชั้นต้น คดีถึงที่สุด ดังนั้น การที่โจทก์มาฟ้องคดีนี้อ้างว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา จึงถือว่าสัญญาเลิกกันและขอเงินมัดจำคืนเท่ากับศาลต้องวินิจฉัยประเด็นแห่งคดีว่า จำเลยผิดสัญญาหรือไม่ ซ้ำกับคดีก่อนที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองคดีและถึงที่สุดแล้ว ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ปัญหาว่าคดีโจทก์เป็นฟ้องซ้ำหรือไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดหยิบยกขึ้นมา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล เมื่อวินิจฉัยเช่นนี้แล้วก็ไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share