แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การแก้ไขข้อต่อสู้ ข้ออ้าง หรือข้อเถียงที่เสนอต่อศาลแต่แรก ผู้คัดค้านต้องยื่นคำร้องขอแก้ไขก่อนวันชี้สองสถาน หรือก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวันในกรณีที่ไม่มีการชี้สองสถาน เว้นแต่มีเหตุอันสมควรที่ไม่อาจยื่นได้ก่อนนั้น หรือเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 179 (3) และ 180 คดีนี้ไม่มีการชี้สองสถาน หากผู้คัดค้านจะยื่นคำร้องขอแก้ไขพินัยกรรมท้ายคำคัดค้าน ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของคำคัดค้านจึงต้องยื่นก่อนวันสืบพยานในวันที่ 6 ตุลาคม 2552 ไม่น้อยกว่า 7 วัน แต่ผู้คัดค้านยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2552 จึงล่วงเลยเวลาที่กฎหมายกำหนด อีกทั้งผู้คัดค้านอ้างว่าเพิ่งค้นพบพินัยกรรมฉบับใหม่ในเดือนมีนาคม 2552 หากผู้คัดค้านประสงค์จะเปลี่ยนพินัยกรรมตามคำคัดค้านเป็นพินัยกรรมฉบับใหม่ก็สามารถยื่นคำร้องขอเปลี่ยนแปลงได้ตั้งแต่ขณะนั้น การที่ผู้คัดค้านเพิ่งมายื่นคำร้องภายหลังทราบผลการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อของ ม. ตามพินัยกรรมท้ายคำคัดค้าน และมีการสืบพยานผู้ร้องเสร็จแล้ว จึงฟังไม่ได้ว่ามีเหตุสมควรและไม่ใช่กรณีขอแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน การแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อย ที่ศาลชั้นต้นยกคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำร้องคัดค้านของผู้คัดค้านชอบแล้ว
แม้ผู้คัดค้านจะมีคำขอให้มีคำสั่งยกคำร้องขอของผู้ร้องและมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของ ม. โดยมิได้ขอเป็นผู้จัดการมรดกของ ม. ร่วมกับผู้ร้องก็ตาม แต่หากศาลเห็นว่าการแต่งตั้งให้ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกอีกคนหนึ่งจะเป็นประโยชน์ในการจัดการมรดกยิ่งขึ้น ศาลก็มีอำนาจใช้ดุลยพินิจแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันได้
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งแต่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายชวนและนางมาลี
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้องขอของผู้ร้อง และมีคำสั่งแต่งตั้งให้ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของนางมาลี
ผู้ร้องยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำคัดค้านของผู้คัดค้าน
ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ผู้คัดค้านแถลงขอให้ศาลชั้นต้นส่งหนังสือแสดงการถือกรรมสิทธิ์แทนลงวันที่ 14 มีนาคม 2545 และพินัยกรรม ลงวันที่ 1 เมษายน 2545 ตามคำคัดค้านไปตรวจพิสูจน์ที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต วันที่ 27 มีนาคม 2552 ศาลชั้นต้นแจ้งให้คู่ความทั้งสองฝ่ายทราบว่า ผู้ตรวจพิสูจน์มีความเห็นว่าลายมือชื่อในเอกสารทั้งสองฉบับเปรียบเทียบกับตัวอย่างลายมือชื่อของนางมาลีแล้ว ไม่ใช่ลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกันตามรายงานการตรวจพิสูจน์ วันที่ 1 มิถุนายน 2552 ผู้คัดค้านแถลงว่าพบพินัยกรรมของนางมาลี ลงวันที่ 1 เมษายน 2545 อีกฉบับหนึ่ง จะขอให้ศาลชั้นต้นส่งไปตรวจพิสูจน์อีกครั้ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาต และระหว่างการสืบพยานผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำคัดค้านว่า ขอใช้สำเนาพินัยกรรมที่พบใหม่แทนสำเนาพินัยกรรมท้ายคำคัดค้าน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งแต่งตั้งนายสุพัฒน์ ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายชวน และนางมาลี ให้ผู้ร้องมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ยกคำคัดค้านของผู้คัดค้าน ให้ผู้คัดค้านใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ร้องโดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
ผู้คัดค้านอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณาและอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้น
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน แต่ให้ผู้คัดค้านใช้ค่าทนายความในศาลชั้นต้น 3,000 บาท แทนผู้ร้อง คืนค่าขึ้นศาลในส่วนอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้น 200 บาท ให้แก่ผู้คัดค้าน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์นอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านประการต่อไปมีว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำคัดค้านที่ขอใช้สำเนาพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 1 เมษายน 2545 ที่ค้นพบใหม่แทนสำเนาพินัยกรรมท้ายคำคัดค้านชอบหรือไม่ เห็นว่า การจะแก้ไขข้อต่อสู้ ข้ออ้างหรือข้อเถียงที่เสนอต่อศาลแต่แรกโดยเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้ออ้างตามคำคัดค้านนั้น ผู้คัดค้านมีสิทธิที่จะกระทำได้ แต่การยื่นคำร้องขอแก้ไขดังกล่าวต่อศาลต้องกระทำก่อนวันชี้สองสถาน หรือก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวันในกรณีที่ไม่มีการชี้สองสถาน เว้นแต่มีเหตุอันสมควรที่ไม่อาจยื่นคำร้องได้ก่อนนั้น หรือเป็นการแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อย หรือข้อผิดหลงเล็กน้อยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 179 (3) และ 180 คดีนี้ไม่มีการชี้สองสถาน หากผู้คัดค้านจะยื่นคำร้องขอแก้ไขสำเนาพินัยกรรมท้ายคำคัดค้านซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของคำคัดค้าน จึงต้องยื่นก่อนวันสืบพยานในวันที่ 6 ตุลาคม 2552 ไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน แต่ผู้คัดค้านยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2552 ซึ่งล่วงเลยกำหนดเวลาตามกฎหมายแล้ว อีกทั้งผู้คัดค้านแถลงต่อศาลว่าค้นพบพินัยกรรมฉบับใหม่ในเดือนมีนาคม 2552 หากผู้คัดค้านประสงค์จะเปลี่ยนพินัยกรรมตามคำคัดค้านเป็นพินัยกรรมฉบับใหม่ก็สามารถยื่นคำร้องขอเปลี่ยนได้ตั้งแต่ขณะนั้น การที่ผู้คัดค้านเพิ่งมายื่นคำร้องเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2552 อันเป็นเวลาภายหลังทราบผลการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อของนางมาลีตามพินัยกรรมท้ายคำคัดค้าน และมีการสืบพยานผู้ร้องเสร็จแล้ว กรณีจึงฟังไม่ได้ว่ามีเหตุสมควรที่ผู้คัดค้านไม่อาจยื่นคำร้องได้ก่อนนั้น และไม่ใช่กรณีขอแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน การแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อย ที่ผู้คัดค้านอาจยื่นคำร้องได้เมื่อล่วงเลยกำหนดเวลาดังกล่าวแล้วได้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำคัดค้านผู้คัดค้านจึงชอบแล้ว
ปัญหาต้องวินิจฉัยว่า สมควรแต่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของนางมาลีร่วมกับผู้ร้องหรือไม่ ในปัญหาข้อนี้แม้ผู้คัดค้านจะขอให้มีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องขอและมีคำสั่งแต่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของนางมาลีโดยมิได้ขอเป็นผู้จัดการมรดกของนางมาลีร่วมกับผู้ร้องก็ตาม แต่คำคัดค้านก็ขอให้แต่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของนางมาลี ดังนั้น หากศาลเห็นว่าการแต่งตั้งให้ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกอีกผู้หนึ่งจะเป็นประโยชน์ในการจัดการมรดกยิ่งขึ้น ศาลก็มีอำนาจใช้ดุลพินิจแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันได้ ที่ศาลอุทธรณ์ยกอุทธรณ์ของผู้คัดค้านในส่วนนี้ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านส่วนนี้ฟังขึ้น ส่วนปัญหาว่าสมควรแต่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้องหรือไม่นั้น ผู้ร้องและผู้คัดค้านนำสืบรับกันว่า นายชวนและนางมาลีจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย มีบุตร 5 คน คือ ผู้คัดค้าน นายสุชาติ นางสาวสุกัญญา นางวาสินีและผู้ร้อง เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2535 นายชวนและนางมาลีต่างทำพินัยกรรมคนละฉบับยกทรัพย์มรดกของตนทั้งหมดให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งตามพินัยกรรม นายชวนถึงแก่ความตายด้วยโรคชราเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2548 ส่วนนางมาลีถึงแก่ความตายด้วยโรคชราเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2549 นายชวนและนางมาลีมีทรัพย์สินเป็นที่ดินหลายแปลงและเป็นกรรมการของบริษัทชวนวัฒนา จำกัด กับบริษัทบางกอกอินเตอร์วู๊ด จำกัด วันที่ 15 พฤษภาคม 2548 ผู้คัดค้านขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการของบริษัทชวนวัฒนา จำกัด โดยนำชื่อนายชวนและนางมาลีออกจากการเป็นกรรมการและเพิ่มชื่อนายกรกฤต และนางสาวอัชพร บุตรผู้คัดค้านเป็นกรรมการบริษัทแทน วันที่ 28 มิถุนายน 2548 และวันที่ 15 พฤษภาคม 2549 ขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการของบริษัทบางกอกอินเตอร์วู๊ด จำกัด โดยเอาชื่อนายชวนและนางมาลีออกจากการเป็นกรรมการบริษัท และเพิ่มชื่อนายกรกฤตและนางสาวอัชพร เป็นกรรมการแทนตามสำเนาคำขอจดทะเบียนบริษัท โดยมิได้มีการปรึกษาผู้ร้องและบุตรนายชวนกับนางมาลีคนอื่น ระหว่างพิจารณาผู้คัดค้านขอให้ส่งต้นฉบับพินัยกรรมตามสำเนาพินัยกรรมท้ายคำคัดค้านไปให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อของนางมาลี ผู้ทำพินัยกรรมเปรียบเทียบกับตัวอย่างลายมือชื่อนางมาลีในเอกสารอื่น ผลการตรวจพิสูจน์ผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นว่า ตัวอย่างลายมือชื่อตามพินัยกรรมของนางมาลีกับตัวอย่างลายมือชื่อของนางมาลีในเอกสารที่ส่งไปตรวจเปรียบเทียบกันมีคุณสมบัติของการเขียน รูปร่าง ลักษณะตัวอักษรแตกต่างกัน จึงลงความเห็นว่า ไม่ใช่ลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกันตามรายงานผลการตรวจพิสูจน์ เห็นว่า เมื่อผลการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อของนางมาลีโดยผู้เชี่ยวชาญได้ความว่า ลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมตามพินัยกรรมท้ายคำคัดค้านไม่ใช่ลายมือชื่อของนางมาลี ซึ่งศาลได้ตรวจดูลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมดังกล่าวเปรียบเทียบกับตัวอย่างลายมือชื่อของนางมาลี ในเอกสารต่าง ๆ ที่ส่งไปตรวจพิสูจน์เปรียบเทียบกันแล้ว เห็นว่า ลักษณะตัวอักษรความหนักเบาของลายเส้น ช่องไฟ ตลอดจนลีลาการเขียนแตกต่างกับ เอกสารลายมือชื่อตัวอย่างบางฉบับที่ทำขึ้นในปี 2544 ซึ่งเป็นเวลาใกล้เคียงกับเวลาทำพินัยกรรมตามพินัยกรรมที่ผู้คัดค้านอ้าง จึงน่าเชื่อว่าลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมดังกล่าวไม่ใช่ลายมือชื่อของนางมาลีเจ้ามรดก ประกอบกับผู้ร้องและทายาทอื่นของนางมาลีก็ไม่ประสงค์ให้ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของนางมาลี เมื่อพิจารณาประกอบพฤติกรรมของผู้คัดค้านที่ขอจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อกรรมการบริษัทที่นางมาลีและนายชวนก่อตั้งมา โดยเอาชื่อนางมาลีและนายชวนออกจากการเป็นกรรมการบริษัทแล้วใส่ชื่อบุตรของผู้คัดค้านเป็นกรรมการบริษัทแทน โดยไม่ได้แจ้งขอความเห็นชอบจากทายาทคนอื่น จึงเห็นว่า ไม่สมควรแต่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของนางมาลี ร่วมกับผู้ร้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามาในประการสุดท้ายนี้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของผู้คัดค้านฟังขึ้นบางส่วน แต่ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ