แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 3 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 3 ทำงานในตำแหน่งผู้บริหารงานลูกค้าอาวุโสสายงานธนบดีธนกิจของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสายงานที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้บริการแนะนำลูกค้าด้านการลงทุนซึ่งโดยตำแหน่งหน้าที่ของจำเลยที่ 3 รวมถึงลักษณะงานที่ทำย่อมทำให้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมีมูลเหตุอันสมควรเชื่อว่าจำเลยที่ 3 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 และการทำสัญญาขายลดตั๋วแลกเงินกับโจทก์อยู่ในขอบอำนาจของจำเลยที่ 3 ดังนั้น แม้ตามความเป็นจริงจำเลยที่ 3 จะไม่มีอำนาจทำสัญญาขายลดตั๋วแลกเงินกับโจทก์และไม่ได้นำเงินที่ได้รับจากโจทก์ไปมอบให้แก่จำเลยที่ 1 ก็ตาม จำเลยที่ 1 ในฐานะตัวการก็ต้องรับผิดชดใช้เงินคืนโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 822 ประกอบมาตรา 820 ส่วนการกระทำของจำเลยที่ 3 จะเป็นละเมิดต่อโจทก์ด้วยหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด (มหาชน) ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ในสายงานธนบดีธนกิจ ส่วนจำเลยที่ 4 เป็นลูกค้าของจำเลยที่ 1 เมื่อปี 2534 จำเลยที่ 1 มอบหมายหรือเชิดจำเลยที่ 2 และที่ 3 หรือยอมให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 เชิดตนเองแสดงออกต่อบุคคลภายนอกว่าเป็นตัวแทนผู้รับมอบอำนาจและเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินกิจการธนบดีธนกิจแทนจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ชักชวนโจทก์ให้มาใช้บริการธนบดีธนกิจ ซึ่งให้บริการรับฝากเงินและให้คำแนะนำการนำเงินไปลงทุนโดยจำเลยที่ 1 จะเป็นผู้รับดำเนินการต่าง ๆ แทนลูกค้า ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการ เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 รับเงินไปจากโจทก์แล้วไม่นำเงินไปดำเนินการในบริการธนบดีธนกิจหรือไม่นำเงินไปให้จำเลยที่ 1 เป็นเรื่องของตัวแทนไม่ส่งมอบทรัพย์สินที่ได้มาแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการ จำเลยที่ 1 จึงหาอาจอ้างเหตุตัวแทนของตนกระทำการทุจริตเพื่อไม่ส่งมอบเงินคืนแก่โจทก์ได้ไม่ และจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ในฐานะลูกหนี้ร่วม ส่วนจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นลูกค้าของจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 3 รับเงินและยักยอกเงินของโจทก์ไปจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องร่วมกับจำเลยอื่นรับผิดต่อโจทก์เช่นเดียวกัน โดยจำเลยทั้งสี่ต้องร่วมกันชดใช้เงินคืนโจทก์จำนวน 84,934,931.51 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่ครบกำหนดชำระตามตั๋วแลกเงินแต่ละฉบับถึงวันฟ้องเป็นเงินจำนวน 12,141,882.71 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้เงินจำนวน 97,076,814.22 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 18,000,000 บาท 25,934,931.51 บาท 3,000,000 บาท 5,000,000 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ของต้นเงิน 17,000,000 บาท และ 16,000,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยชักชวนหรือแนะนำให้โจทก์ลงทุนซื้อลดตั๋วแลกเงินและไม่เคยมอบหมายหรือยอมให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นตัวแทนหรือเชิดตนเองเพื่อดำเนินการแทนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ไม่เคยได้รับเงินซื้อลดตั๋วแลกเงินจากโจทก์ และไม่เคยจ่ายผลประโยชน์จากการซื้อลดตั๋วแลกเงินแก่โจทก์ การซื้อลดตั๋วแลกเงินเป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 1 ไม่เคยขายตั๋วแลกเงินและไม่เคยรับฝากตั๋วแลกเงินจากโจทก์ หนังสือรับฝากตั๋วแลกเงินท้ายฟ้องไม่ใช่เอกสารของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 กระทำการแทนจำเลยที่ 1 ในขอบอำนาจ ทั้งไม่เคยรู้เห็นเกี่ยวข้องกับการลงทุนซื้อขายตั๋วแลกเงินของโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นการส่วนตัว โจทก์ฟ้องตั้งข้อหาว่าเป็นการเรียกทรัพย์คืน แต่ตามพฤติการณ์เป็นมูลละเมิด คดีโจทก์จึงขาดอายุความเพราะไม่ได้ฟ้องคดีภายใน 1 ปี ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้การปฏิเสธ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์ถึงแก่ความตาย นายพลศักดิ์ กาญจนจารี ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ชำระเงินจำนวน 82,047,546.09 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดใช้เงินดังกล่าวจำนวน 50,211,102.83 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 50,000 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 4 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 4 ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินจำนวน 18,000,000 บาท 17,000,000 บาท 16,000,000 บาท 25,934,931.51 บาท 3,000,000 บาท 5,000,000 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2539 วันที่ 6 ธันวาคม 2538 วันที่ 10 ตุลาคม 2538 วันที่ 26 มกราคม 2539 วันที่ 22 ธันวาคม 2538 และวันที่ 20 ธันวาคม 2538 ตามลำดับจนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 100,000 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงในชั้นฎีการับฟังได้ว่า โจทก์เป็นลูกค้าใช้บริการธนบดีธนกิจของจำเลยที่ 1 ในช่วงเวลาที่โจทก์เข้าเป็นลูกค้านั้น จำเลยที่ 2 เป็นผู้อำนวยการสายงานดังกล่าว ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 2 ทำงานในตำแหน่งผู้บริหารงานลูกค้าอาวุโส จำเลยที่ 4 เป็นลูกค้าของจำเลยที่ 1 สายงานธนบดีธนกิจของจำเลยที่ 1 จัดตั้งขึ้นมาเพื่อให้บริการแนะนำลูกค้าด้านการลงทุน เช่น การซื้อลดตั๋วแลกเงินของบริษัทต่าง ๆ ที่นำมาขายแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งลูกค้าจะได้ผลประโยชน์ตอบแทนมากกว่านำเงินไปฝากไว้กับธนาคาร สายงานดังกล่าวนี้มีบริการนอกสถานที่ โดยพนักงานของจำเลยที่ 1 จะไปรับเช็คจากลูกค้าและนำมาเข้าบัญชีให้แทน ในกรณีการซื้อลดตั๋วแลกเงิน ลูกค้าที่ตัดสินใจซื้อลดตั๋วแลกเงินแล้ว หากไม่ประสงค์จะเก็บรักษาตั๋วไว้เอง ลูกค้าอาจฝากตั๋วแลกเงินดังกล่าวไว้กับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 จะออกใบรับฝากตั๋วแลกเงินพร้อมกับถ่ายสำเนาตั๋วแลกเงินดังกล่าวมอบให้แก่ลูกค้าไว้เพื่อเป็นหลักฐาน
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 เป็นประการแรกว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า การกระทำของจำเลยที่ 3 อยู่นอกเหนืออำนาจที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 เงินที่จำเลยที่ 3 ได้รับจากโจทก์ จำเลยที่ 3 ก็เบียดบังไปเป็นผลประโยชน์ส่วนตัว หาได้ส่งมอบให้จำเลยที่ 1 แต่อย่างใดไม่ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ เห็นว่า ตามข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยที่ 1 รับกันได้ความว่า จำเลยที่ 3 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 3 ทำงานในตำแหน่งผู้บริหารงานลูกค้าอาวุโสสายงานธนบดีธนกิจของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสายงานที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้บริการแนะนำลูกค้าด้านการลงทุน ซึ่งโดยตำแหน่งหน้าที่ของจำเลยที่ 3 รวมถึงลักษณะงานที่ทำย่อมทำให้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมีมูลเหตุอันสมควรควรจะเชื่อว่า จำเลยที่ 3 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 และการทำสัญญาขายลดตั๋วแลกเงินกับโจทก์อยู่ในขอบอำนาจของจำเลยที่ 3 ดังนั้น แม้ตามความเป็นจริงจำเลยที่ 3 จะไม่มีอำนาจทำสัญญาขายลดตั๋วแลกเงินกับโจทก์และไม่ได้นำเงินที่ได้รับจากโจทก์ไปมอบให้แก่จำเลยที่ 1 ก็ตาม จำเลยที่ 1 ในฐานะตัวการก็ต้องรับผิดชดใช้เงินคืนโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 822 ประกอบมาตรา 820 ส่วนการกระทำของจำเลยที่ 3 จะเป็นละเมิดต่อโจทก์ด้วยหรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก หาเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 พ้นจากความรับผิดต่อโจทก์ไม่ และเมื่อจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดตามสัญญาขายลดตั๋วแลกเงินแล้วก็ไม่มีประโยชน์ที่จะวินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิติดตามเอาทรัพย์คืนตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 หรือไม่ ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า การที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยในประเด็นเรื่องอายุความละเมิดเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาขายลดตั๋วแลกเงินแล้ว ก็หาจำต้องวินิจฉัยในประเด็นเรื่องละเมิดอีก ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยเรื่องอายุความละเมิดจึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 เป็นประการต่อไปว่า การที่จำเลยที่ 1 สลักหลังตั๋วแลกเงินโดยมีความหมายว่า “ปราศจากสิทธิไล่เบี้ย” จะทำให้จำเลยที่ 1 หลุดพ้นจากความรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ในการสลักหลังตั๋วแลกเงิน จำเลยที่ 1 ได้จดข้อกำหนดลบล้างความรับผิดของจำเลยที่ 1 ไว้แล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามตั๋วแลกเงินได้ เห็นว่า ตามข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในคำฟ้องนั้นโจทก์ประสงค์ให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญาขายลดตั๋วแลกเงิน มิใช่ให้รับผิดตามมูลหนี้ตั๋วแลกเงิน จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจอ้างคำสลักหลังที่มีข้อกำหนดลบล้างความรับผิดขึ้นต่อสู้โจทก์ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน เมื่อวินิจฉัยมาดังกล่าวแล้ว ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะวินิจฉัยฎีกาในประเด็นปลีกย่อยอื่นของจำเลยที่ 1 เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ