คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9919/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คดีก่อนซึ่งถึงที่สุดแล้วนั้น โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. ผู้ตายให้รับผิดในฐานะ ส. เป็นลูกหนี้ตามสัญญากู้เงินและจำนองที่ดินพิพาทในคดีนี้ไว้เป็นประกัน และคดีก่อนศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องด้วยเหตุว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความเนื่องจากโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 โดยยังมิได้วินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิบังคับทรัพย์สินที่จำนองได้หรือไม่ เพราะแม้มูลหนี้ตามสัญญากู้เงินซึ่งเป็นหนี้ประธานจะขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม แล้วก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวก็บัญญัติยกเว้นไว้มิให้ใช้บังคับแก่กรณีสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ตามมาตรา 193/27 ซึ่งบัญญัติว่า ผู้รับจำนอง ผู้รับจำนำ ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงหรือผู้ทรงบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้อันตนได้ยึดถือไว้ยังคงมีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง จำนำ หรือที่ได้ยึดถือไว้ แม้ว่าสิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความแล้วก็ตาม แต่จะใช้สิทธินั้นบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกิน 5 ปีขึ้นไปไม่ได้ และตามมาตรา 745 ก็บัญญัติไว้ว่า ผู้รับจำนองจะบังคับจำนองแม้เมื่อหนี้ที่ประกันนั้นขาดอายุความแล้วก็ได้ แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่า 5 ปีไม่ได้ อันเป็นประเด็นที่ยังไม่ได้มีการวินิจฉัย เมื่อโจทก์บอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉยโจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. เพื่อชำระหนี้โจทก์จากทรัพย์สินที่จำนองได้ กรณีไม่ต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 148

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ซื้อสินทรัพย์ซึ่งเป็นสิทธิเรียกร้องตามสัญญากู้เงินตราสารหนี้และสิทธิเรียกร้องอื่น ๆ ของบริษัทเงินทุนและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ รวมทั้งบริษัทเงินทุนไทยธำรง จำกัด ซึ่งถูกสั่งระงับการดำเนินกิจการเป็นการถาวร โดยมีองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) เป็นผู้ดำเนินการแทนบริษัทเงินทุนและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ต่าง ๆ นายสุกิจ ผู้ตายเป็นลูกหนี้ของบริษัทเงินทุนไทยธำรง จำกัด โจทก์ทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสุกิจผู้ตายแล้ว ขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองเป็นเงินจำนวน 1,854,005.45 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 1,058,685.84 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาด หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของนายสุกิจออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 3209/2546 หมายเลขแดงที่ 10517/2546 ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ นายสุกิจ ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2542 โจทก์ฟ้องคดีมรดกเกิน 1 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับว่า ให้จำเลยชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองจำนวน 1,058,685.84 บาท พร้อมดอกเบี้ยไม่ทบต้นอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว เป็นเวลา 5 ปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 22 ตุลาคม 2547) ย้อนหลังขึ้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 795,319.61 บาท ตามที่โจทก์ขอ โดยจำเลยไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกของนายสุกิจ หากจำเลยไม่ชำระให้ยึดเฉพาะที่ดินโฉนดเลขที่ 72563 ตำบลบางปลา อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…คดีก่อนซึ่งถึงที่สุดแล้วนั้น โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสุกิจผู้ตายให้รับผิดในฐานะนายสุกิจเป็นลูกหนี้ตามสัญญากู้เงินและจำนองที่ดินพิพาทในคดีนี้ไว้เป็นประกัน และคดีก่อนศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ด้วยเหตุว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ เนื่องจากโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 โดยยังมิได้วินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิบังคับทรัพย์สินที่จำนองได้หรือไม่ เพราะแม้มูลหนี้ตามสัญญากู้เงินซึ่งเป็นหนี้ประธานจะขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสามแล้วก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวก็บัญญัติยกเว้นไว้มิให้ใช้บังคับแก่กรณีสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ตามมาตรา 193/27 ซึ่งบัญญัติว่า ผู้รับจำนอง ผู้รับจำนำ ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วง หรือผู้ทรงบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้อันตนได้ยึดถือไว้ยังคงมีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง จำนำ หรือที่ได้ยึดถือไว้ แม้ว่าสิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความแล้วก็ตาม แต่จะใช้สิทธินั้นบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกินห้าปีขึ้นไปไม่ได้ และตามมาตรา 745 ก็บัญญัติไว้ว่า ผู้รับจำนองจะบังคับจำนอง แม้เมื่อหนี้ที่ประกันนั้นขาดอายุความแล้วก็ได้ แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่าห้าปีไม่ได้ อันเป็นประเด็นที่ยังไม่ได้มีการวินิจฉัย เมื่อโจทก์บอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสุกิจเพื่อชำระหนี้โจทก์จากทรัพย์สินที่จำนองได้ กรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ไม่เป็นฟ้องซ้ำและพิพากษาให้จำเลยรับผิดนั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความในชั้นฎีกาแทนโจทก์เป็นเงิน 3,000 บาท

Share