แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อสัญญาระหว่างโจทก์จำเลยข้อ 3 กล่าวว่า “ฝ่ายที่ 2 (คือจำเลย) สัญญาจะทำการไถ่ถอนจำนองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างโฉนดเลขที่ 597 และโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ฝ่ายที่ 1 ให้เป็นกรรมสิทธิ์ให้เป็นการเสร็จสิ้นใน 4 เดือนนับแต่วันทำสัญญานี้ ” ส่วนข้อความอีกตอนหนึ่งท้ายสัญญามีว่า ” และได้ลงนามไว้ในหนังสือมอบอำนาจของหอทะเบียนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้นก่อนหรือหลังกำหนด 4 เดือนก็ชอบที่จะกระทำได้”
ดังนี้เมื่อจำเลยไม่ไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดที่ 597 ภายใน 4 เดือนนับแต่วันทำสัญญาจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาแล้ว เพราะเห็นได้ว่าก่อนหรือหลัง 4 เดือนก็ชอบที่จะกระทำได้ ” นั้น ย่อมหมายความแต่เฉพาะเรื่องการลงนามในหนังสือมอบอำนาจเท่านั้น มิได้มุ่งหวังว่าจำเลยจะทำการไถ่ถอนจำนองภายหลัง 4 เดือนนานเท่าใดก็ได้
ส่วนข้อที่โจทก์จำเลยร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องนายวัทธนาให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากโฉนดที่ 597 ภายหลังกำหนด 4 เดือนนั้น ก็เป็นเรื่องที่ร่วมกันฟ้องผู้อื่นโดยเหตุที่มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันในโฉนด เป็นคนละเรื่องกับความยินยอมเลื่อนระยะเวลาไถ่ถอนการจำนอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าเดิมโจทก์จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างร่วมกันคนละครึ่งในที่ดินโฉนดที่ 597 และโฉนดที่ 1493 ต่อมาจำเลยได้ทำสัญญาเอาที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเฉพาะส่วนของจำเลยตามที่ดินโฉนดที่ 597 และเปลี่ยนกับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเฉพาะส่วนของโจทก์ตามโฉนดที่ 1493 โดยจำเลยสัญญาว่าจะเป็นผู้ไถ่ถอนการจำนองโฉนดที่ 597 กับยอมให้เงินชดเชยแก่โจทก์อีก 15,000 บาทในกำหนด 4 เดือน หากจำเลยไม่ทำการไถ่ถอน ฯลฯ ภายในกำหนดจำเลยยอมให้โจทก์กลับเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างร่วมกับจำเลยต่อไป บัดนี้จำเลยผิดสัญญาและไม่ยอมให้โจทก์กลับมีกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลย จึงขอให้ศาลบังคับ
จำเลยต่อสู้ว่ายังไม่ผิดเงื่อนไขในสัญญาและได้ชำระเงินให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว
ศาลแพ่งพิพากษาว่าจำเลยไม่ไถ่ถอนการจำนองภายใน 4 เดือนและชำระเงินชดเชยให้โจทก์ไม่ครบตามสัญญา พิพากษาให้โจทก์ชนะคดีตามคำขอ
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่าข้อที่จำเลยโต้เถียงว่าจำเลยจะไถ่ถอนการจำนองภายในกำหนด 4 เดือนก็ย่อมกระทำได้ตามสัญญาโดยอ้างตอนท้ายแห่งสัญญาข้อความว่า “และได้ลงนามไว้ในหนังสือมอบอำนาจของหอทะเบียนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้นก่อนหรือหลังกำหนด 4 เดือนก็ชอบที่จะกระทำได้” แต่ในสัญญาข้อ 3 นั้นเอง กล่าวว่า “ฝ่ายที่ 2 (คือจำเลย)สัญญาจะทำการไถ่ถอนการจำนองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างโฉนดเลขที่ 597 และโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ฝ่ายที่ 1 ให้เป็นกรรมสิทธิ์เป็นการเสร็จสิ้นใน 4 เดือนนับแต่วันทำสัญญานี้” เห็นได้ชัดว่าที่กล่าวว่า” ก่อนหรือหลัง 4 เดือนก็ชอบที่กระทำได้” นั้นย่อมหมายความแต่เฉพาะเรื่องการลงนามในหนังสือมอบอำนาจเท่านั้น มิใช่เป็นเรื่องลบล้างข้อความในสัญญาที่มีอยู่ มิได้มุ่งหวังว่าจำเลยจะทำการไถ่ถอนการจำนองภายหลัง 4 เดือนนานเท่าใด ๆ ก็ได้ ทั้งข้อเท็จจริงก็ได้ความว่าจำเลยได้มอบหนังสือมอบอำนาจโอนที่ดินให้แก่โจทก์ในวันทำสัญญานั้น
ส่วนข้อที่โจทก์จำเลยร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องนายวัทธนาให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินโฉนดที่ 597 ภายหลังกำหนด 4 เดือนนั้นเป็นเรื่องที่ร่วมกันฟ้องผู้อื่นโดยเหตุที่มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันในโฉนด เป็นคนละเรื่องกับการยินยอมเลื่อนระยะเวลาการไถ่ถอนการจำนอง
รวมความว่าจำเลยกระทำผิดสัญญาข้อ 3, 4 ทั้งสองข้อ โดยมิได้ไถ่ถอนการจำนองที่ดินและมิได้ชำระเงินชดใช้ให้แก่โจทก์ให้ครบถ้วนและถูกต้องตามสัญญา
พิพากษายืน