คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1188/2499

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายเนื่องจากเหตุเรือโดนกันนั้นต้องใช้อายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ.ม.448
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 7/2499)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ ลูกจ้างจำเลยที่ ๒ ได้ถือท้ายเรือโดยประมาททำให้เรือชนเรือโจทก์เสียหายและมีผู้บาดเจ็บสาหัส ขอให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าเสียหาย ๓๐,๐๐๐ บาท
จำเลยทั้งสองปฏิเสธความรับผิดและตัดฟ้องว่าคดีขาดอายุความ
ในวันชี้สองสถานโจทก์แถลงว่าได้รู้เรื่องการกระทำละเมิดของจำเลยเมื่อคำนวนถึงวันฟ้องกว่า ๖ เดือน
จำเลยขอให้ศาลชี้ขาดข้อ ก.ม.เบื้องต้นเรื่องอายุความ
ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีนี้มีการฟ้องคดีอาญาฐานทำให้คนบาดเจ็บโดยประมาท คดียังไม่ถึงที่สุด อายุความย่อมสดุดหยุดลงตาม ป.วิ.อ.ม.๕๑ คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ ให้ดำเนินการพิจารณาต่อไป
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่า พ.ร.บ.เดินเรือในน่านน้ำสยาม พ.ศ.๒๔๕๖ เป็น ก.ม.พิเศษต้องบังคับคดีตามนั้น เฉพาะจำเลยที่ ๒ โจทก์ฟ้องเกิน ๖ เดือน จึงขาดอายุความส่วนจำเลยที่ ๑ ไม่ปรากฎว่าจำเลยถูกฟ้องคดีอาญาความส่วนจำเลยที่ ๑ ไม่ปรากฎว่าจำเลยถูกฟ้องคดีอาญาเมื่อใด จะชี้ขาดเรื่องอายุความยังไม่ได้ จึงพิพากษาแก้ว่าให้ยกฟ้องเฉพาะจำเลยที่ ๒
โจทก์ฎีกา
ในชั้นฎีกาคงมีเพียงว่าจำเลยที่ ๒ จะควรใช้อายุความตาม พ.ร.บ.เดินเรือในน่านน้ำสยาม พ.ศ.๒๔๕๖ ม.๓๐๘ หรืออายุความตาม ป.พ.พ.ม.๔๔๘
ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ป.พ.พ.ม.๓ ได้บัญญัติให้ยกเลิกบรรดา ก.ม.กฎและข้อบังคับที่บัญญัติไว้ในประมวลนี้หรือที่แย้งกับประมวลนี้เสีย ในกรณีที่ยังจะใช้อยู่ต่อไปก็ต้องมีบัญญัติไว้เป็นพิเศษเช่นใน ม.๑๓๒๖ เรื่องนี้เป็นเรื่องละเมิดนั่นเองตาม ป.พ.พ.ม.๔๔๘ กำหนดอายุความไว้ ๑ ปี และไม่มีข้อยกเว้นไว้เป็นพิเศษ จึงต้องใช้ ม.๔๔๘ เป็นบทบังคับ พิพากษาแก้ว่าสำหรับตัวจำเลยที่ ๒ ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ ให้ดำเนินการพิจารณาต่อไป

Share