คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1187/2499

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้เสียหายตาม ป.วิ.อาญา ม.2 (4) หมายถึงบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่ถูกประทุษร้ายได้รับความเสียหายอันเป็นที่เห็นประจักษ์โดยตรงแต่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นตาม พ.ร.บ.ควบคุมการก่อสร้างอาคารและจำเลยก็มิได้กระทำผิดทางอาญา ต่อโจทก์แต่อย่างใด ดังนี้โจทก์จึงหาใช่ผู้เสียหายไม่
เมื่อโจทก์มิใช่ผู้เสียหายแล้วก็ย่อมนำม.51 มาปรับแก่คดีไม่ได้
เมื่อ พ.ร.บ.ควบคุมการก่อสร้างอาคาร ม.11 วรรค 2 ให้อำนาจเจ้าพนักงานท้องถิ่นร้องขอต่อศาลให้ผู้กระทำผิดเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือรื้อถอนอาคารที่สร้างผิดแผกไปจากแผนผังก่อสร้างได้ทั้งโจทก์ก็ได้โต้แย้งให้แก้ไขแล้วแต่จำเลยไม่ปฏิบัติตาม โจทก์ก็ย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้บังคับได้
ตามที่ พ.ร.บ.ควบคุมการก่อสร้างอาคารมิได้บัญญัติเรื่องอายุความฟ้องร้องไว้ ก็ต้องใช้อายุความตามหลักทั่วไปแห่ง ป.พ.พ.ม.169

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์มีหน้าที่ควบคุมการก่อสร้างได้อนุญาตให้จำเลยปลูกสร้างอาคารตามแบบที่ขอไว้จำเลยทำผิดแบบแปลนที่อนุญาตเป็นการผิดต่อ พ.ร.บ. การควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ.๒๔๗๙ ม.๑๑ ถูกเปรียบเทียบปรับ ๕๐๐ บาท โจทก์แจ้งให้แก้ไขจำเลยไม่ปฏิบัติตาม จึงขอให้ศาลบังคับแก้ไขหรือรื้อถอน
จำเลยให้การว่าไม่ผิดแม้ผิดก็ไม่ใช่ในส่วนใหญ่ที่ขาดความมั่นคงแก่อาคาร ฟ้องเคลือบคลุมขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์และจำเลยบ้างแล้วสั่งงดสืบพยานจำเลย วินิจฉัยว่าคดีขาดอายุความพิพากษายกฟ้อง โดยไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นข้ออื่น
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายจะใช้ ป.วิ.อาญา ม.๕๑ ไม่ได้ คดียังไม่ขาดอายุความ พิพากษากลับให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้สืบพยานต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ แต่มีความเห็นแย้งว่าควรยกฟ้องโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องคดีใหม่ให้ถูกต้อง
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาปรึกษาแล้วมีปัญหาว่าโจทก์ฟ้องจำเลยได้หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าความหมายแห่งคำว่าผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ.ม.๒ (๔) หมายความเฉพาะบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลดังความเห็นของศาลอุทธรณ์เท่านั้น โจทก์ในคดีนี้เป็นเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นตาม พ.ร.บ.ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ.๒๔๗๙ และจำเลยก็มิได้กระทำผิดทางอาญาต่อโจทก์ประการใด โจทก์จึงไม่ใช่เป็นผู้เสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำผิดทางอาญาของจำเลยตาม ป.วิ.อ.ม.๒(๔) เมื่อโจทก์มิใช่ผู้เสียหายคดีของโจทก์ก็ไม่ต้องด้วย ม.๕๑ แห่ง ป.วิ.อ.จึงยกเอา ม.๕๑ มาปรับแก่คดีของโจทก์ไม่ได้ ความในวรรค ๒ แห่ง ม.๑๑ พ.ร.บ.ควบคุมการก่อสร้าง พ.ศ.๒๔๗๙ ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นร้องขอต่อศาล ขอให้ผู้กระทำผิดเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือรื้อถอนอาคารที่ได้สร้างผิดแผกไปจากแผนผังแบบก่อสร้างได้ และโจทก์ก็ได้แจ้งให้จำเลยจัดการแก้ไขตามอำนาจที่โจทก์มีอยู่แล้วแต่จำเลยไม่ปฏิบัติตาม โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลขอให้บังคับจำเลยได้ พ.ร.บ.ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ.๒๔๗๙ มิได้บัญญัติอายุความฟ้องร้องไว้ในกรณีเช่นนี้จึงต้องใช้อาวุธความตามหลักทั่วไป ใน ป.พ.พ.ม.๑๖๔
จึงพิพากษายืน

Share