คำวินิจฉัยที่ 97/2563

แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีนี้ เอกชนยื่นฟ้องการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ที่ ๑ ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ผิดสัญญาเช่าระบบแจ้งเตือนภัยผู้บุกรุกและอัคคีภัยอัตโนมัติ สำหรับ Unmanned Substation กับผู้ฟ้องคดี เมื่อการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ. ๒๕๐๓ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เมื่อพิจารณาเนื้อหาของสัญญาพิพาท เป็นสัญญาเช่าระบบพร้อมอุปกรณ์แจ้งเตือนภัยผู้บุกรุกและอัคคีภัยอัตโนมัติ สำหรับ Unmanned Substation โดยผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์สินมีหน้าที่ให้เช่าและติดตั้งระบบแจ้งเตือนภัยที่อาคารควบคุมสถานีไฟฟ้า จำนวน ๒๔ แห่ง และเครื่องคอมพิวเตอร์ชนิด Workstation และซอฟต์แวร์บริหารจัดการ (Management Software) จำนวน ๑๓ จุด เพื่อติดตั้งศูนย์เฝ้ามองระบบทั้งหมดที่ศูนย์ควบคุมการจ่ายไฟฟ้าเขต ๑ ภาคกลาง และติดตั้งศูนย์เฝ้ามองระบบย่อยที่หน่วยปฏิบัติงานสถานีไฟฟ้า (หน่วย Unman ) จำนวน ๑๒ แห่ง รวมเป็น ๑๓ แห่ง โดยต้องติดตั้งระบบที่เช่าให้ถูกต้องครบถ้วนในลักษณะพร้อมใช้งาน รวมถึงทดสอบระบบการใช้งานและฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ของผู้เช่าให้แล้วเสร็จภายใน ๙๐ วัน นับจากวันที่ลงนามในสัญญาและได้รับการส่งมอบพื้นที่จากผู้เช่า กำหนดระยะเวลาเช่า ๓๖ เดือน ตกลงชำระค่าเช่างวดละ ๑ เดือน รวม ๓๖ งวด ดังนั้น ลักษณะของสัญญาพิพาทจึงเป็นสัญญาเช่าทรัพย์สิน โดยผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์สินและผู้ให้เช่ามีหน้าที่เพียงส่งมอบทรัพย์ซึ่งให้เช่าแก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ผู้เช่า และฝึกอบรมพนักงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้ใช้งานระบบที่เช่า โดยบุคคลที่เป็นผู้ดำเนินการใช้งานระบบตลอดระยะเวลาการเช่าเป็นพนักงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่ใช่ผู้ฟ้องคดี แต่ผู้ฟ้องคดีได้รับประโยชน์ตอบแทนเป็นค่าเช่าทรัพย์สิน ดังนั้น สัญญาดังกล่าวจึงเป็นเพียงสัญญาให้เช่าระบบป้องกันการโจรกรรมทรัพย์สินและอัคคีภัยที่อาคารควบคุมสถานีไฟฟ้าเท่านั้น มิใช่สัญญาที่มีข้อกำหนดให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้เช่าต้องเข้าร่วมปฏิบัติหน้าที่กับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ หรือดำเนินการใดในหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ในการผลิต จัดให้ได้มา จัดส่งหรือจำหน่ายไฟฟ้า อันจะถือได้ว่าสัญญาที่ให้เอกชนเข้าร่วมจัดทำบริการสาธารณะด้วยกันกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ หรือเป็นสัญญาจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค เมื่อสัญญาพิพาทไม่เข้าลักษณะหนึ่งลักษณะใดของบทนิยาม “สัญญาทางปกครอง” ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ข้อพิพาทตามคำฟ้องในคดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง เป็นแต่เพียงสัญญาทางแพ่งของหน่วยงานทางปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม เมื่อคำฟ้องคดีนี้เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม ฟ้องแย้งของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจศาลยุติธรรมด้วย

Share