คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1968/2525

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ทางกระบือสาธารณะพิพาทอยู่นอกเขตโฉนดที่ดินของ ส. แต่อยู่ในเขตโฉนดที่ดินของโจทก์ซึ่งออกทับทางกระบือสาธารณะ เป็นการออกโฉนดโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะ ทางกระบือสาธารณะนั้นแม้จะสิ้นสภาพไปเพราะการไม่มีผู้ใด ใช้ประโยชน์ก็ยังมีสภาพเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอยู่ เว้นแต่ จะได้โอนไปโดยอาศัยอำนาจแห่งกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1305 อธิบดีกรมที่ดิน จำเลยจึงมีอำนาจที่จะเพิกถอน แก้ไขหรือออกใบแทนโฉนดที่ดินของโจทก์ได้ตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงเป็นอันยุติตามคำฟ้อง ทางนำสืบของโจทก์จำเลย และแผนที่พิพาทที่จ่าศาลจัดทำขึ้นตามสารบาญลำดับที่ 44ซึ่งคู่ความรับรองถูกต้องว่าที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 9863 ตำบลเสนา อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อยู่ติดต่อกับที่ดินโฉนดเลขที่ 5230 ของนายเสนาะ ฤกษ์ถวิล ทางด้านทิศตะวันออกของที่ดินโจทก์และในระหว่างเขตติดต่อระหว่างที่ดินของโจทก์กับที่ดินของนางเสนาะดังกล่าวมีทางกระบือสาธารณะจากทางทิศใต้ผ่านทางทิศเหนือ เพื่อลงสู่แม่น้ำเก่าปลายนา ปัญหาที่จะวินิจฉัยในประการแรกตามฎีกาของโจทก์มีว่า ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าทางกระบือสาธารณะดังกล่าวอยู่ในเขตที่ดินตามโฉนดของโจทก์ถูกต้องหรือไม่ ในปัญหาดังกล่าวแม้โจทก์จะมีตัวโจทก์ นายกิมซิน แซ่เตียว บิดาโจทก์ และนางทองสุข ศรีเลื่อม มาเบิกความยืนยันว่าไม่มีทางกระบือสาธารณะในที่ดินของโจทก์ แต่โจทก์ก็มิได้นำสืบให้เห็นหรือรับฟังได้ว่าความจริงนั้นทางกระบือสาธารณะนั้นอยู่ในเขตที่ดินโฉนดเลขที่ 5230 ของนายเสนาะ ฤกษ์ถวิล ตามที่โจทก์กล่าวในคำฟ้องส่วนฝ่ายจำเลยมีนายแสวง กิจพันธ์ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าพนักงานที่ดินประจำสำนักงานที่ดินสาขา อำเภอเสนา และเป็นชาวอำเภอเสนานายประสิทธิ์ตรีสารศรี นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองเสนาตั้งแต่ พ.ศ. 2511 ตลอดมาและเป็นผู้ที่รู้จักชอบพอกับโจทก์ด้วย และนายพิชัย ฤกษ์ถวิล มาเบิกความยืนยันว่าทางกระบือสาธารณะอยู่ในเขตที่ดินของโจทก์ โดยเฉพาะนายประสิทธิ์ตรีสารศรี นายกเทศมนตรีเบิกความด้วยว่า เมื่อ 5-6 ปีมานี้ตอนนายพิชัย ฤกษ์ถวิลขออนุญาตเทศบาลสร้างรั้วคอนกรีตทางเทศบาลได้ทำการตรวจสอบประกอบกับโฉนดที่ดินของนางเสนาะภรรยานายพิชัยแล้ว ปรากฏว่าแนวรั้วมิได้ล้ำแนวเขตที่ดินของนายเสนาะออกมา นอกจากนี้จำเลยยังมีแผนที่ระวางที่ดินโฉนดเลขที่ 5230 ของนางเสนาะ ฤกษ์ถวิล ท้ายคำให้การจำเลย และแผนที่ระวางหมาย ป.ล.1 มาแสดงว่าในระหว่างที่ดินของโจทก์และของนางเสนาะมีทางกระบือสาธารณะจากทางทิศใต้ไปสู่แม่น้ำเก่าปลายนาทางทิศเหนือของที่ดินโจทก์ และปรากฏจากคำเบิกความของนายพิชัย ฤกษ์ถวิล ว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 5230 ของนางเสนาะออกมาตั้งแต่ ร.ศ. 122 สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 9863 ตัวโจทก์เบิกความว่าออกโฉนดเมื่อ พ.ศ. 2485 จึงแสดงให้เห็นว่าทางกระบือสาธารณที่พิพาทนี้เป็นทางสาธารณะที่มีมาแต่ก่อน ร.ศ. 122ก่อนที่จะมีการออกโฉนดที่ดินเลขที่ 9863 ของโจทก์ประมาณ 40 ปี แต่ถึงกระนั้น นายประสิทธิ์ ตรีสารศรี พยานจำเลยก็ยังเบิกความว่าจนเดี๋ยวนี้ยังมีสภาพของลำรางอยู่ ซึ่งนายไพฑูรย์ จันทร์ฉาย จ่าศาลผู้ไปทำแผนที่พิพาทพยานโจทก์ก็เบิกความว่าตามแนวรั้วคอนกรีตในที่ดินของโจทก์ไม่มีลักษณะเป็นทางเดินแต่เป็นช่องโล่ง ๆ กว้างประมาณ 2 เมตรไปถึงแม่น้ำซึ่งอยู่ทางหน้าบ้านโจทก์ พยานหลักฐานของจำเลยประกอบกันมีน้ำหนักมั่นคงยิ่งกว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบ รับฟังได้ตามที่จำเลยนำสืบว่าทางกระบือสาธารณะที่พิพาทอยู่นอกเขตโฉนดที่ดินเลขที่ 5230 ของนางเสนาะ ฤกษ์ถวิล แต่อยู่ในเขตโฉนดที่ดินเลขที่ 9863 ของโจทก์ เมื่อเป็นเช่นนี้โฉนดที่ดินของโจทก์เฉพาะส่วนที่ออกทับทางกระบือสาธารณะดังกล่าวจึงเป็นการออกโฉนดให้ไว้โดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะทางกระบือสาธารณะนั้นถึงแม้จะสิ้นสภาพไปเพราะการไม่มีผู้ใดใช้ประโยชน์ก็ยังมีสภาพเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอยู่ เว้นแต่จะได้โอนไปโดยอาศัยอำนาจแห่งกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1305จำเลยมีอำนาจที่จะเพิกถอน แก้ไขหรือออกใบแทนโฉนดที่ดินของโจทก์ได้ตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61

ที่โจทก์ฎีกาในประการต่อไปว่าจำเลยมีคำสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินของโจทก์โดยมิได้พิจารณาคำคัดค้านของโจทก์เสียก่อนตามขั้นตอนที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 นั้น ก็ปรากฏว่าจำเลยได้แจ้งให้โจทก์ทราบและให้โจทก์มีโอกาสที่จะคัดค้านในกรณีที่ปรากฏว่าโฉนดที่ดินของโจทก์ออกมาโดยคลาดเคลื่อนทับทางกระบือสาธารณะครั้งนี้แล้วดังที่ปรากฏตามเอกสารหมาย ป.ล.2 และเมื่อโจทก์ยื่นคำคัดค้านไม่ยอมให้ทำการแก้ไขโฉนดที่ดินของโจทก์แล้ว จำเลยจึงได้มีคำสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินของโจทก์ทั้งฉบับในภายหลังตามคำสั่งเอกสารหมาย ป.ล.4 จึงถือได้ว่าจำเลยได้พิจารณาและปฏิบัติตามขั้นตอนของประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 โดยครบถ้วน”

พิพากษายืน

Share