แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายในการวิวาทนั้น จำเลยที่ 1ไม่พอใจที่ผู้ตายเร่งเครื่องรถจักรยานยนต์ส่งเสียงดัง จึงไปนำอาวุธปืนจากบ้านแม่ยายแล้วยิงปืนขึ้นฟ้า 1 นัด จากนั้นก็พกอาวุธไว้กับตนเองเพื่อรอที่จะต่อสู้กับฝ่ายผู้ตาย การพาอาวุธปืนและยิงปืนของจำเลยที่ 1จึงไม่ใช่กรณีมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนตามสมควร
จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ทราบดีว่าจำเลยที่ 1 มีอาวุธปืนของกลางพกติดตัวอยู่ เมื่อผู้ตายมาถึง จำเลยที่ 2 ได้ร่วมชกต่อยทำร้ายผู้ตายส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 5 เข้าทำร้ายผู้ตายภายหลังจากผู้ตายถูกจำเลยที่ 1ยิง เป็นการกระทำโดยมีเจตนาร่วมกันทำร้ายผู้ตาย แม้จะปรากฏว่าผู้ตายถึงแก่ความตายเพราะบาดแผลจากการถูกกระสุนปืนที่จำเลยที่ 1 ยิงก็ตามแต่การที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ร่วมกันทำร้ายผู้ตายดังกล่าวมีผลให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งความตายที่เกิดขึ้นด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33, 83, 91, 288, 184, 371, 376 พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบของกลาง
จำเลยทั้งหกให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา บิดาและมารดาผู้ตายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์ได้เฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 371, 376พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม,72 ทวิ วรรคสอง เป็นความผิดหลายกรรม เรียงกระทงลงโทษฐานฆ่าผู้อื่นจำคุก 20 ปี ฐานมีอาวุธปืนของผู้อื่นที่ได้รับอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนไปในเมืองหมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ที่มีโทษหนักที่สุดจำคุก 6 เดือน ฐานยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้าน จำคุก9 วัน รวมจำคุก 21 ปี 6 เดือน 9 วัน จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 วรรคแรก, 83 จำคุกคนละ 6 ปีจำเลยที่ 6 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 184 จำคุก1 ปี และปรับ 6,000 บาท คำให้การในชั้นสอบสวนและทางนำสืบของจำเลยดังกล่าวให้ความรู้แก่ศาลเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คนละหนึ่งในสามคงจำคุกจำเลยที่ 1 ไว้ 14 ปี 4 เดือน 6 วัน และจำคุกจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 คนละ 4 ปี ส่วนจำเลยที่ 6 จำคุก 8 เดือน และปรับ 4,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 6 เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนเห็นควรให้โอกาสกลับตนเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 มีกำหนด 2 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลางสำหรับจำเลยที่ 4 ให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลยที่ 3 และที่ 5คนละ 3 ปี ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสามคงจำคุกคนละ 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ในเบื้องต้นมีว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง ผู้ตายกับพวกฝ่ายหนึ่งและจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 อีกฝ่ายหนึ่งได้ชกต่อยกัน แล้วจำเลยที่ 1ใช้อาวุธปืนยิงหลายนัด กระสุนปืนถูกผู้ตายล้มลง จำเลยที่ 3 เข้าใช้ไม้หน้าสามตีผู้ตาย และจำเลยที่ 5 ใช้ขวดน้ำอัดลมตีศีรษะผู้ตายจากนั้นจำเลยที่ 3 ลากผู้ตายออกมาจากบ้านของนางพรทิพย์ มีผู้นำผู้ตายส่งโรงพยาบาลบางประกอก 1 และผู้ตายถึงแก่ความตายในคืนนั้น
จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 พาอาวุธปืนมาเพื่อใช้ป้องกันตัวเป็นการกระทำโดยมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนตามพฤติการณ์ และเป็นกรณีที่มีภยันตรายที่ใกล้จะถึงการยิงปืนของจำเลยที่ 1 เป็นการยิงโดยมีเหตุสมควร จึงไม่มีความผิดนั้น เห็นว่า เมื่อได้วินิจฉัยมาแล้วว่าก่อนที่จำเลยที่ 1 จะใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายในการวิวาทนั้น จำเลยที่ 1 ไม่พอใจที่ผู้ตายเร่งเครื่องรถจักรยานยนต์ส่งเสียงดังจึงไปนำอาวุธปืนจากบ้านแม่ยายจำเลยแล้วยิงปืนขึ้นฟ้า 1 นัด จากนั้นก็พกอาวุธปืนไว้กับตนเองเพื่อรอที่จะต่อสู้กับฝ่ายผู้ตาย การพาอาวุธปืนและยิงปืนของจำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่กรณีมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนตามสมควร ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า ความตายของผู้ตายเป็นผลมาจากการถูกกระสุนปืนที่จำเลยที่ 1 ยิง มิได้เป็นผลจากการทำร้ายของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 จึงมีความผิดตามมาตรา 295 นั้น คดีนี้ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายตามที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ฎีกา ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 194 ประกอบด้วยมาตรา 225 ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 มีสาเหตุกับผู้ตายมาก่อนเกิดเหตุ เมื่อผู้ตายบอกว่าจะไปพาพวกของผู้ตายมายังที่เกิดเหตุแทนที่จำเลยที่ 1 จะหลีกเลี่ยงเพื่อให้เรื่องยุติลงด้วยดีจำเลยที่ 1 กลับไปเอาอาวุธปืนของกลางของนายอำนวย บุญค่ำ ซึ่งเป็นพ่อตาของจำเลยที่ 1 มาพกติดตัวไว้ และได้ใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงขึ้นฟ้า1 นัด ในทำนองอวดศักดาว่าจำเลยที่ 1 มีอาวุธปืนพร้อมจะต่อสู้กับผู้ตายจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ร่วมดื่มสุรากับจำเลยที่ 1 มาตั้งแต่ต้นทราบดีว่าจำเลยที่ 1 มีอาวุธปืนของกลางพกติดตัวอยู่ เมื่อผู้ตายมาถึงจำเลยที่ 2ได้ร่วมชกต่อยทำร้ายผู้ตาย ส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 5 เข้าทำร้ายผู้ตายหลังจากผู้ตายถูกจำเลยที่ 1 ยิง เป็นการกระทำโดยมีเจตนาร่วมกันทำร้ายผู้ตาย ศาลฎีกาเห็นว่าพฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5ที่ร่วมกับจำเลยที่ 1 ทำร้ายผู้ตายดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้นแม้จะปรากฏว่าผู้ตายถึงแก่ความตายเพราะบาดแผลจากการถูกกระสุนปืนที่จำเลยที่ 1 ยิงก็ตามแต่การที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5ร่วมกันทำร้ายผู้ตายดังกล่าวมีผลให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2ที่ 3 และที่ 5 จึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งความตายที่เกิดขึ้นด้วยที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 มีความผิดฐานร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 290 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 83 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย และศาลฎีกาเห็นว่าศาลล่างทั้งสองได้ลงโทษจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ในสถานเบานับว่าเป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 มากอยู่แล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขโทษเป็นอย่างอื่น และรอการลงโทษให้แก่จำเลยที่ 3และที่ 5 ตามที่ขอ ส่วนจำเลยที่ 2 นั้น ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำคุก 4 ปี จึงไม่อยู่ในเงื่อนไขที่ศาลจะรอการลงโทษให้ได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน