คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1183/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงออกค่าใช้จ่ายในการสร้างกำแพงรั้วพิพาทคนละครึ่ง แต่โจทก์มิได้ตกลงให้จำเลยที่ 1 ก่อสร้างกำแพงรั้วพิพาทล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ได้ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิก่อสร้างกำแพงรั้วพิพาทรุกล้ำเข้าไป เมื่อโจทก์ให้รื้อถอน จำเลยที่ 1 จึงต้องรื้อถอนออกไป จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 เป็นผู้ซื้อตึกแถวและที่ดินที่มีบางส่วนของกำแพงรั้วพิพาทก่อสร้างอยู่จากจำเลยที่ 1 แม้มิได้เป็นผู้ก่อสร้างกำแพงรั้วพิพาทก็ตาม ก็ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รื้อถอนกำแพงรั้วดังกล่าวออกไปจากที่ดินของโจทก์ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 8797เนื้อที่ 3 งาน 4 ตารางวา โจทก์ใช้เป็นทางเข้าออกที่ดินของโจทก์ซึ่งอยู่ด้านในเพื่อออกสู่ถนนรามคำแหง จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 24814 ถึงเลขที่ 24816 ตั้งอยู่ติดต่อแนวเขตที่ดินโฉนดเลขที่ 8797 ด้านตะวันออกของโจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 1ได้นำที่ดินโฉนดเลขที่ 24814 และเลขที่ 14815 บางส่วนไปจดทะเบียนแบ่งแยกเป็นโฉนดที่ดินแปลงย่อยจำนวน 11 แปลง เพื่อจัดสรรปลูกสร้างอาคารตึกแถว 11 ห้อง ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 24816 ได้สร้างเป็นอพาร์ตเมนต์ 5 ชั้น ขณะที่จำเลยที่ 1 กำลังก่อสร้างตึกแถวและอพาร์ตเมนต์ดังกล่าวได้ก่อสร้างกำแพงคอนกรีตและตอม่อฐานเสากำแพงด้านหลังตึกแถวและด้านข้างของอพาร์ตเมนต์เป็นแนวยาวไปตามเขตที่ดินที่เป็นแนวถนนส่วนตัวเพื่อใช้ประโยชน์ของโจทก์ โดยสร้างกำแพงคอนกรีตรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ตลอดแนวประมาณ 2.11ตารางวา เมื่อจำเลยที่ 1 ก่อสร้างตึกแถวทั้ง 11 ห้อง ดังกล่าวเสร็จแล้ว ได้โอนขายที่ดินและตึกแถวจำนวน 8 ห้อง ให้แก่จำเลยที่ 2ถึงที่ 9 จำเลยทั้งเก้าได้ร่วมกันครอบครองและใช้ประโยชน์ในที่ดินซึ่งเป็นตึกแถวจนถึงปัจจุบัน ต่อมาในระหว่างปี 2527 ทราบว่าแนวรั้วกำแพงคอนกรีตและเสาตอม่อที่จำเลยที่ 1 ก่อสร้างนั้นได้รุกล้ำเข้ามาในแนวเขตที่ดินของโจทก์ นอกจากนี้จำเลยทั้งเก้าได้ต่อท่อน้ำประปาที่โจทก์เป็นเจ้าของส่วนตัวซึ่งอยู่ในแนวเขตที่ดินของโจทก์ไปตามแนวถนน ไปใช้ประโยชน์ของจำเลยทั้งเก้าโดยมิชอบทำให้โจทก์ไม่มีน้ำประปาใช้ได้ ขอให้พิพากษาบังคับจำเลยทั้งเก้าร่วมกันรื้อถอนกำแพงรั้วคอนกรีตและตอม่อฐานเสากำแพงที่สร้างรุกล้ำเข้ามาในแนวเขตที่ดินของโจทก์ออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 8797ตลอดแนวยาวนับแต่หลักหมุดเลขที่ 73807 ถึงหลักหมุดเลขที่ 73657รื้อถอนก๊อกหรือท่อประปาที่รุกล้ำมาเชื่อมใช้ท่อประปาในแนวเขตที่ดินของโจทก์ และห้ามไม่ให้ใช้ท่อประปาของโจทก์ต่อไป
จำเลยที่ 6 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 และที่ 7 ถึงที่ 9 ให้การว่า จำเลยที่ 1มิได้ก่อสร้างกำแพงรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ สำหรับท่อประปานั้นการประปานครหลวงได้เป็นผู้เดินท่อประปาให้แก่จำเลยที่ 1 เองโดยท่อประปาอยู่ในเขตที่ดินของจำเลยที่ 1 ทั้งสิ้น ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งเก้าร่วมกันรื้อถอนกำแพงรั้วคอนกรีต และตอม่อฐานเสากำแพงรั้วส่วนที่รุกล้ำเข้ามาในแนวเขตที่ดินของโจทก์ (คือส่วนที่ล้ำออกมานอกแนวเขตเส้นสีเหลืองในแผนที่พิพาท) ออกไปให้หมดจากที่ดินของโจทก์ โฉนดเลขที่ 8797และห้ามจำเลยทุกคนเข้ามาใช้ประโยชน์ในที่ดินของโจทก์ ส่วนที่โจทก์ขอให้จำเลยทั้งเก้าร่วมกันรื้อถอนก๊อกหรือท่อประปานั้นให้ยกเพราะไม่รุกล้ำ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 และที่ 7 ถึงที่ 9 อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 และที่ 7 ถึงที่ 9 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 1ถึงที่ 5 และที่ 7 ถึงที่ 9 มีว่าจำเลยที่ 1 ได้ก่อสร้างกำแพงรั้วพิพาทรุกล้ำเข้าไปในที่ดินโจทก์หรือไม่ พิจารณาแล้ว ตามแผนที่ท้ายโฉนดที่ดินของโจทก์ เอกสารหมาย จ.1 และแผนที่แสดงการรังวัดแบ่งแยกที่ดินของจำเลยทั้งเก้า เอกสารหมาย ล.11 ปรากฏว่าแนวเขตที่ดินของโจทก์และจำเลยทั้งเก้าด้านที่อยู่ติดต่อกันมีลักษณะเป็นเส้นตรงตรงกับเส้นสีเหลืองในแผนที่พิพาทที่คู่ความร่วมกันอ้างส่ง เส้นสีเหลืองดังกล่าวเจ้าพนักงานที่ดินผู้ทำแผนที่พิพาทลากจากหลักเขตของกรมที่ดินที่เขตติดต่อของที่ดินทั้งสองแปลงทางทิศใต้ด้านติดถนนรามคำแหงไปหาจุดสุดเขตของที่ดินทางด้านทิศเหนือ น่าเชื่อว่าแนวเขตติดต่อของที่ดินทั้งสองแปลงด้านที่พิพาทกันในคดีนี้ คือเส้นสีเหลืองในแผนที่พิพาทนั่นเองในแผนที่พิพาทดังกล่าวยังปรากฏว่ามีส่วนของกำแพงรั้วพิพาทอยู่ในเขตที่ดินของโจทก์ จำเลยเองก็ยอมรับว่าตอม่อ คานคอดินเสาอิฐบล็อก และคานทับหลังของกำแพงรั้วพิพาทบางส่วนล้ำเส้นสีเหลืองเข้าไปในที่ดินของโจทก์จริง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1ก่อสร้างกำแพงรั้วบางส่วนรุกล้ำที่ดินของโจทก์ แม้โจทก์เบิกความรับว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงออกค่าใช้จ่ายในการสร้างกำแพงรั้วพิพาทคนละครึ่งเจือสมกับคำเบิกความของนายประทีป อึงศรีสวัสดิ์กรรมการของจำเลยที่ 1 และนายปวรงค์ อุดมวัฒน์ทวี ผู้รับจ้างจำเลยที่ 1 ก่อสร้างกำแพงรั้วพิพาท พยานจำเลย แต่โจทก์มิได้ยอมรับด้วยว่าตกลงให้จำเลยที่ 1 ก่อสร้างกำแพงรั้วพิพาทล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ได้ และทางนำสืบของจำเลยก็ไม่ปรากฏว่ามีข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เช่นนั้นด้วย จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิก่อสร้างกำแพงรั้วพิพาทรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ เมื่อโจทก์ให้รื้อถอน จำเลยที่ 1 จึงต้องรื้อถอนออกไป สำหรับจำเลยที่ 2ถึงที่ 9 นั้น แม้เป็นเพียงผู้ซื้อตึกแถวและที่ดินที่มีบางส่วนของกำแพงรั้วพิพาทก่อสร้างอยู่จากจำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้ก่อสร้างกำแพงรั้วพิพาทก็ตาม โจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินที่กำแพงรั้วดังกล่าวก่อสร้างรุกล้ำย่อมมีสิทธิให้จำเลยที่ 2ถึงที่ 9 ร่วมกับจำเลยที่ 1 รื้อถอนกำแพงรั้วดังกล่าวออกไปจากที่ดินของโจทก์ได้”
พิพากษายืน

Share