คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1183/2509

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(1) และ (7) เป็นบทบัญญัติให้บุคคลเรียกเอาค่า เช่น ค่าที่ได้ส่งมอบของ ค่าทำของ ฯลฯ หรือไม่ก็เรียกเอาสินจ้าง แต่ไม่ได้บัญญัติให้บุคคลเหล่านั้นเรียกเอาค่าบำเหน็จ บำเหน็จบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 845 ซึ่งเป็นเรื่องของนายหน้า ดังนั้น นายหน้ากับบุคคลที่กล่าวไว้ในมาตรา 165 (1) และ (7) จึงไม่เหมือนกัน การใช้สิทธิเรียกร้องจึงไม่เหมือนกันไปด้วย โจทก์เรียกร้องเอาค่าบำเหน็จและไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีอายุความ 10 ปี
(ที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 24/2509 ได้เห็นชอบตามร่างคำพิพากษาฉบับนี้)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ตกลงมอบหมายให้โจทก์เป็นนายหน้าขายเครื่องยนต์ของจำเลย โดยให้ค่านายหน้าแก่โจทก์ทุก ๆ รายที่โจทก์เป็นนายหน้า และรายใดที่มีผู้นำพาผู้ซื้อมาติดต่อกับโจทก์ จำเลยก็ยินยอมให้ค่านำพาแก่ผู้นำพาด้วย โดยจ่ายค่านายหน้าให้แก่โจทก์แล้วให้โจทก์จ่ายแก่ผู้นำพาภายหลัง โจทก์ได้เป็นนายหน้าให้จำเลย ๑๙ ราย จำเลยชำระให้แล้ว ๑ ราย คงเหลือ ๑๘ ราย เป็นเงิน ๕๓,๓๕๗.๕๐ บาท จำเลยไม่ยอมชำระ ขอให้ศาลบังคับ
จำเลยให้การว่า ลักษณะที่โจทก์ติดต่อกับจำเลยเพื่อขายสินค้าให้จำเลยนั้นเป็นการรับจ้างทำงานเพื่อสินจ้างของโจทก์ไม่ใช่เป็นลักษณะนายหน้า ตามข้อตกลงและตามธรรมเนียมประเพณีทั่วไป โจทก์จะได้รับค่าสินจ้างหรือบำเหน็จจากจำเลยต่อเมื่อจำเลยได้รับชำระราคาสินค้าจากผู้ซื้อที่โจทก์เป็นผู้ติดต่อให้มาซื้อครบถ้วนแล้วคดีโจทก์ขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ลักษณะที่โจทก์ติดต่อกับจำเลยเป็นลักษณะของนายหน้า ข้อที่จำเลยฎีกาว่าคดีโจทก์ขาดอายุความนั้น การฟ้องเรียกเงินค่านายหน้ากฎหมายมิได้บัญญัติอายุความไว้เป็นพิเศษ จึงต้องถือว่าอายุความ ๑๐ ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าขายเครื่องจักร โจทก์จึงเป็นบุคคลซึ่งจัดเข้าอยู่ในประเภทที่ระบุไว้ในมาตรา ๑๖๕(๑) คือ เป็นพ่อค้า แม้โจทก์จะรับเป็นนายหน้าขายเครื่องจักรของจำเลยด้วย สิทธิฟ้องร้องของโจทก์หาตกอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา ๑๖๕(๗) ไม่
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่ได้พิจารณาแล้ว ตามฎีกาของจำเลยมีปัญหาว่านายหน้ากับบุคคลที่กล่าวไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๕(๑) และ (๗) เป็นอย่างเดียวกันหรือไม่นั้น เห็นว่า บุคคลที่จะใช้สิทธิเรียกร้องตามมาตรา ๑๖๕(๑) และ (๗) นั้น กฎหมายได้บัญญัติให้บุคคลเหล่านั้นเรียกเอาค่า เช่น ค่าที่ได้ส่งมอบของ ค่าทำของ ฯลฯ หรือไม่ก็เรียกเอาสินจ้าง กฎหมายไม่ได้บัญญัติให้บุคคลเหล่านั้นเรียกเอาค่าบำเหน็จ บำเหน็จ บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๔๕ เป็นเรื่องของนายหน้า ดังนั้น นายหน้ากับบุคคลที่กล่าวไว้ในมาตรา ๑๖๕(๑) และ (๗) จึงไม่ใช่อย่างเดียวกันหรือเหมือนกัน การใช้สิทธิเรียกร้องจึงไม่เหมือนกันไปด้วย การใช้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในคดีนี้เป็นการเรียกร้องเอาค่าบำเหน็จ และไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีอายุความ ๑๐ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๔ และโจทก์ได้ใช้สิทธินี้ภายใน ๑๐ ปี คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
พิพากษายืน

Share