แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บุตรบุญธรรมตาม ก.ม.เก่า ไม่ได้จดทะเบียนเป็นบุตรบุญธรรมตาม ป.ม.แพ่งฯ บรรพ 5 นั้น ไม่มีสิทธิรับมฤดกของผู้รับบุตรบุญธรรม (ประชุมใหญ่)
ฟ้องบรรยายว่าเป็นบุตรบุญธรรมของเจ้ามฤดก เจ้ามฤดกตายแล้วทรัพย์สินตกทอดมายังตนกับสามี ได้ครอบครองมาโดยความสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมา 6 ปี จำเลยเข้ามาไถหว่านในนาพิพาทนี้ จึงขอให้ขับไล่นั้น ถือว่าโจกท์ได้อ้างสิทธิครอบครองทรัพย์พิพาทเป็นหลักแห่งขอ้หาในการขอให้บังคับจำเลยด้วย มิใช่อ้างสิทธิรับมฤดกแต่อย่างเดียว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นบุตรบุญธรรมของนายปีนางบุตรเมื่อบุคคลทั้งสองนี้ตายแล้ว ทรัพย์สินตกทอดมายังโจทก์โจทก์และสามีได้เข้าครอบครองมาโดยความสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมา ๖ ปี ต่อมาโจทก์หย่าร้างกับสามี ทรัพย์ตามบัญชีท้ายฟ้องแบ่งเป็นของโจทก์ ปีนี้จำเลยได้เข้าไปไถหว่าน ดำและตกกล้าในนาตามบัญชีท้ายฟ้องอันดับ ๑, และ ๒ จึงขอให้ขับไล่
จำเลยต่อสู้ว่า โจทก์เป็นบุตรบุญธรรมมิได้จดทะเบียนนางบุตร เป็นน้องร่วมบิดามารดาจำเลยที่ ๑ นาที่โจทก์ฟ้องเป็นของบรรพบุรุษตกทอดมายังจำเลยที่ ๑ และนางบุตรครอบครองร่วมกันมาจนนางบุตรตาย โจทก์กับสามีขอเช่านามา ๔ ปีแล้วเมื่อโจทก์หย่ากับสามีจำเลยที่ ๑ จึงให้จำเลยอื่นเข้าทำ
ศาลชั้นต้นเห็นว่า โจทก์เป็นแต่เพียงบุตรบุญธรรมของนางบุตรก่อนใช้ ป.ม.แพ่งฯ บรรพ ๕ ไม่มีสิทธิได้รับมฤดกตาม ก.ม.เก่า และการเป็นบุตรบุญธรรมของโจทก์ยังมิได้จดทะเบียนตาม ป.ม.แพ่งฯ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับมฤดกตาม ป.ม.แพ่งฯ พิพากษายกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ตามฟ้องของโจทก์ได้อ้างสิทธิครอบครองที่รายพิพาทเป็นหลักแห่งข้อหา ในการขอให้ขับไล่จำเลยด้วยมิได้อ้างสิทธิรับมฤดกอย่างเดียว จึงพิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปความ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาได้วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ เห็นว่าบุตรบุญธรรมตามกฎหมายเก่าไม่ได้จดทะเบียนเป็นบุตรบุญธรรมตาม ป.ม.แพ่งฯ บรรพ ๕ นั้น ไม่มีสิทธิรับมฤดกของผู้รับบุตรบุญธรรมแต่คดีนี้ตามฟ้องของโจทก์ ๆ อ้างสิทธิการได้มาซึ่งทรัพย์รายพิพาทว่าโจทก์ได้ครอบครองทรัพย์รายพิพาทโดยสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลา ๖ ปี ด้วยซึ่งในประเด็นนี้ คู่ความไม่ได้แถลงรับประการใด ทั้งที่พิพาทก็เป็นที่นามือเปล่าผู้เป็นเจ้าของมีแต่สิทธิครอบครอง การแย่งสิทธิครอบครองไม่จำต้องถึง ๑๐ ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว
จึงพิพากษายืน