แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์จำเลยทำสัญญากัน โดยจำเลยยอมให้เอาที่ดินของจำเลยให้โจทก์ยื่นคำร้องขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ภายใน 6 เดือนนับแต่วันทำสัญญา ในการนี้โจทก์ตกลงให้เงินแก่จำเลยเป็นการตอบแทน ต่อมาพ้นเวลา 6 เดือน นับแต่วันทำสัญญาดังกล่าว จำเลยได้ยื่นคำร้องคัดค้านต่อพนักงานโลหกิจว่า จนบัดนี้ โจทก์ก็ยังไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดการทำเหมืองได้ จำเลยจึงขอคัดค้านการอ้างสิทธิของโจทก์โดยจำเลยไม่ยอมให้ใช้ที่ดินของจำเลย ฯลฯ เช่นนี้ แม้ความจริงโจทก์จะได้ยื่นคำร้องขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ภายใน 6 เดือนนับแต่วันทำสัญญากันนั้นไว้แล้วก็ตาม แต่เมื่อข้อความในสัญญามีเหตุทำให้จำเลยเข้าใจได้ดังคำร้องคัดค้านของจำเลยแล้ว โจทก์จะหาว่าจำเลยแจ้งความเท็จหาได้ไม่
ย่อยาว
ได้ความว่า โจทก์จำเลยทำสัญญากันไปว่า จำเลยมีที่ดินตามใบแจ้งการครอบครองแปลงหนึ่ง จำเลยยอมยกให้โจทก์ยื่นเรื่องราวขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ลงในที่แปลงนี้ได้ จำเลยขอคิดค่าชดเชยในที่ดินนี้ 50,000 บาท ในวันทำสัญญาจำเลยได้รับเงินจากโจทก์แล้ว3,000 บาท ส่วนเงินที่เหลือจะรับกันในวันโอนกรรมสิทธิ์ หรือเมื่อใบอนุญาตให้เปิดการทำเหมืองในที่ดินนี้ตกมาถึง และโจทก์ต้องยื่นเรื่องราวขอประทานบัตรในกำหนด 6 เดือน นับแต่วันทำสัญญา ถ้าพ้นกำหนด โจทก์ไม่ได้ขอประทานบัตรลงในที่แปลงนี้ถือว่าสัญญานี้สิ้นสุดลง ใช้ไม่ได้ต่อไป เงินมัดจำต้องเป็นพับไป จะเรียกร้องกลับคืนไม่ได้ แต่หลังจากทำสัญญานั้นเกิน 6 เดือนแล้ว จำเลยได้ยื่นคำร้องคัดค้านต่อโลหกิจจังหวัดพังงาว่า ตามที่โจทก์ได้ตกลงทำสัญญากับจำเลย เอาที่ดินของจำเลยไปยื่นขอประทานบัตรเพื่อเปิดการทำเหมืองโดยมีเงื่อนไขว่า จะยื่นขอให้ได้เปิดการทำเหมืองภายในกำหนด 6 เดือนเท่านั้น แต่จนบัดนี้โจทก์ก็ยังไม่ได้รับอนุญาตเปิดการทำเหมือง เมื่อพ้นกำหนดเช่นนี้แล้ว จำเลยถือว่าหมดภารผูกพันกับโจทก์แล้ว และจำเลยขอคัดค้านการอ้างสิทธิของโจทก์โดยจำเลยไม่ยินยอมให้ใช้ที่ดินของจำเลย ฯลฯ
โจทก์จึงฟ้องหาว่า จำเลยแจ้งความเท็จต่อโลหกิจจังหวัดพังงาโดยโจทก์ถือว่าในสัญญากำหนดแต่เพียงว่า โจทก์จะต้องยื่นเรื่องราวขอประทานบัตรภายใน 6 เดือน ซึ่งโจทก์ก็ได้ยื่นภายในกำหนดแล้วคำคัดค้านของจำเลยจึงเป็นความเท็จ ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 118 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า คำแจ้งความเท็จของจำเลยไม่ได้ทำให้โจทก์เสียหาย ทางการสั่งยกเรื่องราวของโจทก์เพราะโจทก์ขอประทานบัตรทับที่ที่เขาขอผูกขาดไว้แล้ว เป็นความผิดของโจทก์เอง ไม่ใช่เพราะคำคัดค้านของจำเลย การกระทำของจำเลยยังไม่ครบองค์ความผิดตาม มาตรา 118, 137 ตามที่โจทก์ฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ในสัญญาไม่มีคำว่า “ให้ได้” แต่คำร้องของจำเลยมีคำว่า “ให้ได้” ก็ดี ก็เป็นเรื่องที่จำเลยถือเอาการแปลข้อความในสัญญาเป็นเหตุที่จะปฏิเสธสัญญา คือ โจทก์จะต้องยื่นคำขอประทานบัตรเปิดทำเหมืองแร่ภายในกำหนด 6 เดือน เมื่อล่วงเลยกำหนดเวลาเช่นนี้ จำเลยยื่นคำร้องคัดค้านปฏิเสธสัญญาว่าหมดภารผูกพันกับโจทก์ต่อไป จึงไม่ใช่เรื่องจำเลยแจ้งความเท็จพิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาสั่งรับฎีกาของโจทก์ว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาเห็นพ้องกับศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยยังไม่ได้ทำผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานดังฟ้อง แต่เป็นเรื่องที่จำเลยแปลสัญญาหรือเข้าใจข้อความในสัญญาที่ทำไว้กับโจทก์ว่าเป็นดังที่จำเลยกล่าวในคำร้องของจำเลย เพราะเห็นได้จากข้อความในสัญญานั้นเอง กล่าวคือ ในสัญญามีกำหนดเวลา 6 เดือน เป็นการตายตัวอยู่และได้กำหนดกันไว้ว่า ถ้าพ้นกำหนด 6 เดือน นับแต่วันทำสัญญาแล้ว สัญญาเป็นอันเลิกกันใช้ไม่ได้ต่อไป เมื่อจำเลยยื่นคำร้องต่อพนักงานโลหกิจ ก็พ้นเวลา 6 เดือน นับแต่วันทำสัญญาแล้ว จึงเห็นได้ว่า จำเลยน่าจะเข้าใจว่า ตามสัญญาโจทก์จะต้องยื่นคำขอ”ให้ได้” เปิดการทำเหมืองภายใน 6 เดือนเท่านั้น ตามที่ปรากฎในคำร้องของจำเลย เพราะถ้าตามสัญญานั้นให้สิทธิโจทก์ที่จะยื่นคำร้องขอประทานบัตรเมื่อไร ๆ ก็ได้ภายใน 6 เดือน ส่วนจะได้รับอนุญาตประทานบัตรเมื่อไร ไม่มีกำหนด ซึ่งอาจเป็นปีหรือหลาย ๆ ปีก็ได้ ถ้าเป็นเช่นนี้ คู่สัญญาก็ไม่น่าจะกำหนดเลิกสัญญากันไว้เมื่อข้อความในสัญญามีเหตุทำให้จำเลยเข้าใจได้ดังคำร้องของจำเลยโจทก์จะหาว่าจำเลยแจ้งความเท็จหาได้ไม่
ศาลฎีกาพิพากษายืน