คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1180/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่โจทก์จ่ายเงินช่วยเหลือเป็นค่าอาหารให้แก่ลูกค้าที่ทำงานกะดึกชั่วโมงละ5บาทก็เพราะมีเจตนาเพื่อให้เงินสวัสดิการแก่ลูกจ้างโดยแท้แม้เงินดังกล่าวโจทก์จะจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นประจำและมีจำนวนแน่นอนตามจำนวนชั่วโมงที่ทำงานจริงก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานในเวลาปกติฉะนั้นไม่ว่าจะเรียกเงินดังกล่าวว่าเป็นเงินช่วยเหลือค่าอาหารหรือเงินค่ากะดึกเงินดังกล่าวก็ไม่เป็นค่าจ้างตามความหมายของพระราชบัญญัติประกันสังคมฯมาตรา5สำนักงานประกันสังคมจำเลยที่2จึงไม่มีสิทธิที่จะนำเงินช่วยเหลือค่าอาหารดังกล่าวมารวมเป็นฐานในการคิดคำนวณเงินสมทบ เมื่อปรากฎในภายหลังว่าคำวินิจฉัยของเจ้าหน้าที่จำเลยที่2ไม่ถูกต้องตามกฎหมายจำเลยทั้งสองมีหน้าที่ต้องคืนเงินให้แก่โจทก์เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ยอมคืนให้จนโจทก์ต้องฟ้องบังคับจำเลยทั้งสองจึงตกเป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จโจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ให้โจทก์ดำเนินการส่งเงินสมทบพร้อมเงินเพิ่มที่ได้มีคำสั่งมาแล้วและที่จะมีคำสั่งต่อไปกับบังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน6,993.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า เงินค่ากะดึกที่โจทก์จ่ายให้แก่ลูกจ้างของโจทก์ เป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้เป็นค่าจ้าง นายจ้างจะต้องนำเงินดังกล่าวมาคำนวณเป็นฐานในการหักและส่งเงินสมทบโจทก์ได้ส่งเงินสมทบและเงินเพิ่มตามคำสั่ง จึงถือได้ว่าโจทก์ยอมรับคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 คำวินิจฉัยของสำนักงานประกันสังคมจังหวัดระยองและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยทั้งสองที่ให้โจทก์ดำเนินการส่งมอบเงินสมทบพร้อมเงินเพิ่มตามฟ้อง ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันคืนเงินจำนวน 6,993.25 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าโจทก์ให้เงินสนับสนุนร้านค้าเดือนละ 15,000 บาท เพื่อนำอาหารราคาถูกมาจำหน่ายให้แก่ลูกจ้างของโจทก์ เฉพาะลูกจ้างประเภทพนักงานทั่วไปที่ทำงานตั้งแต่เวลา 8 นาฬิกา ถึง 17 นาฬิกา และลูกจ้างประเภทพนักงานกะเช้าที่ทำงานตั้งแต่เวลา 6.30 นาฬิกา ถึึง 18.30นาฬิกา เท่านั้น ส่วนพนักงานกะดึกที่ทำงานตั้งแต่เวลา 18.30 นาฬิกาถึง 6.30 นาฬิกาและลูกจ้างอื่น ๆ ที่ทำงานล่วงเวลาหลังเวลา18.30 นาฬิกา โจทก์ให้เงินช่วงเหลือเป็นค่าอาหารในอัตราชั่วโมงละ5 บาท เนื่องจากลูกจ้างที่ทำงานในรอบกลางคืนไม่มีร้านอาหารราคาถูกจำหน่ายให้ ต่อมาสำนักงานประกันสังคมจังหวัดระยองแจ้งให้โจทก์ทราบว่าเงินซึ่งโจทก์จ่ายช่วยเหลือเป็นค่าอาหารดังกล่าวเป็นค่าจ้างต้องนำมารวมเป็นฐานคำนวณในการส่งเงินสมทบและเงินเพิ่มของเดือนมกราคม 2537 ถึงเดือนธันวาคม 2537 จำนวน 6,993.25 บาท โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ คณะกรรมการอุทธรณ์พิจารณาแล้วให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์ได้ส่งเงินสมทบและเงินเพิ่มจำนวนดังกล่าวให้ตามคำสั่งของจำเลยทั้งที่ 2 เรียบร้องแล้ว คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ข้อแรกของจำเลยทั้งสองว่า เงินช่วงเหลือเป็นค่าอาหารซึ่งโจทก์จ่ายให้แก่ลูกจ้างที่ทำงานกะดึกชั่วโมงละ 5 บาท เป็นค่าจ้างหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความตามที่คู่ความรับกันว่าเหตุที่โจทก์จ่ายเงินช่วยเหลือให้แก่ลูกจ้างที่ทำงานกะดึกชั่วโมงละ 5 บาท เนื่องจากโจทก์ไม่ได้จัดอาหารราคาถูกให้ลูกจ้างดังเช่นลูกจ้างประเภทหนักงานทั่วไปที่ทำงานกลางวันและพนักงานกะเช้า นอกจากนี้โจทก์ยังจ่ายเงินดังกล่าวให้แก่พนักงานทั่วไปที่ทำงานเวลากลางวันหากต้องมาทำงานล่วงเวลาในช่วงเวลาหลัง 18.30 นาฬิกา นอกเหนือจากค่าล่วงเวลาอีกด้วย เห็นได้ว่า การที่โจทก์จ่ายเงินช่วงเหลือดังกล่าวมีเจตนาเพื่อให้เป็นเงินสวัสดิการแก่ลูกจ้างโดยแท้ แม้เงินดังกล่าวโจทก์จะจ่ายเป็นประจำและมีจำนวนแน่นอนตามจำนวนชั่วโมงที่ทำงานจริงชั่วโมงละ 5 บาท ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติ ฉะนั้น ไม่ว่าจะเรียกเงินดังกล่าวว่าเป็นเงินช่วยเหลือค่าอาหาร หรือเงินค่ากะดึก เงินดังกล่าวก็ไม่เป็นค่าจ้างตามความหมายของพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 5 จำเลยที่ 2จึงไม่มีสิทธิที่จะนำเงินช่วยเหลือค่าอาหารดังกล่าวมารวมเป็นฐานในการคิดคำนวณเงินสมทบอุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์เป็นข้อสุดท้ายว่า โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า แม้เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 พิจารณาและมีหนังสือแจ้งให้โจทก์จ่ายเงินสมทบจะเป็นการใช้ดุลพินิจและพิจารณาตามอำนาจที่กฎหมายกำหนดเป็นเหตุให้โจทก์ต้องนำเงินจำนวน 6,993.25 บาท ไปชำระตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 ก็ตามแต่เมื่อปรากฎในภายหลังว่าคำวินิจฉัยของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวไม่ถูกต้องตามกฎหมายจำเลยทั้งสองมีหน้าที่ต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ยอมคืนให้จนโจทก์ต้องฟ้องบังคับเช่นนี้ จำเลยทั้งสองจึงตกเป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำชำระเสร็จ โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยตามฟ้องจากจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share