แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์มีพยานจำนวน 2 ปากเบิกความว่าคืนก่อนวันเกิดเหตุ 1 วันจำเลยกับผู้ตายมีเรื่องทะเลาะกัน ผู้ตายเตะจำเลย 1 ครั้งแล้วก็เลิกรากันไป โดยสอดคล้องกับคำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวนว่าหลังจากจำเลยถูกผู้ตายเตะแล้วกลับบ้านนอนไม่หลับทั้งคืน รุ่งเช้าขึ้นจำเลยไปตามหาผู้ตายโดยไปพบผู้ตายอยู่กับเพื่อนที่ทุ่งนาและหาโอกาสยิงผู้ตาย พอเพื่อนผู้ตายลุกขึ้นออกไป จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายทางด้านหลังจนถึงแก่ความตาย โดยมีพนักงานสอบสวนมาเบิกความยืนยันว่าจำเลยให้การดังกล่าวด้วยความสมัครใจ และคำให้การของจำเลยที่สอดคล้องกับบาดแผลที่ถูกยิง ที่จำเลยต่อสู้ว่า อยู่กับผู้ตายสองต่อสองแล้วผู้ตายด่าจำเลยและท้าให้จำเลยยิง จำเลยบันดาลโทสะจึงยิงผู้ตายนั้น จำเลยมิได้ให้การไว้ในชั้นสอบสวนและจากคำเบิกความของพยานโจทก์อีก 2 ปากที่อยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุก็ไม่ปรากฏว่าผู้ตายได้ด่าว่าจำเลยแต่อย่างใด ข้อต่อสู้ของจำเลยดังกล่าวจึงไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ พยานหลักฐานโจทก์ฟังได้ว่าจำเลยมีเรื่องโกรธเคืองกับผู้ตายมาก่อนแล้ว ต่อมาจำเลยมาตามหาผู้ตายโดยนำอาวุธปืนไปตั้งใจจะยิงผู้ตาย ซึ่งถือว่าจำเลยมีโอกาสคิดไตร่ตรองไว้ก่อนแล้วว่าจะฆ่าผู้ตายหรือไม่ เมื่อจำเลยไปพบผู้ตายและได้โอกาสก็ยิงผู้ตายจนถึงแก่ความตาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289(4)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21ตุลาคม 2519 ข้อ 3, 6, 7
จำเลยให้การรับสารภาพข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯกับรับว่าจำเลยใช้อาวุธปืนและกระสุนปืนยิงนายสมชายถึงแก่ความตายโดยบันดาลโทสะ แต่ไม่ได้กระทำโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(4) พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม2519 ข้อ 3, 6, 7 ลงโทษฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนให้ประหารชีวิต จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 เป็นจำคุกตลอดชีวิต ฐานมีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน จำคุก 6 เดือนฐานพาอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน จำคุก 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 เป็นลงโทษฐานมีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน จำคุก3 เดือน ฐานพาอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน จำคุก 3 เดือน เนื่องจากศาลลงโทษจำคุกจำเลยตลอดชีวิต จึงนำโทษจำคุกในความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ ไปรวมลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91อีกไม่ได้ คงลงโทษจำคุกจำเลยตลอดชีวิต
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุที่กล่าวในฟ้อง จำเลยใช้อาวุธปืนยิงนายสมชาย สุขชวดมี ผู้ตายถึงแก่ความตาย ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีเพียงว่าการกระทำของจำเลยเป็นการฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและจำเลยกระทำผิดโดยบันดาลโทสะหรือไม่เห็นว่า จากคำเบิกความของนายพร สุขชวดมี และนางจำลอง สุขชวดมีพยานโจทก์ได้ความว่า พยานทั้งสองทราบว่า คืนก่อนวันเกิดเหตุ 1 วันจำเลยกับผู้ตายและพวกได้ร่วมกันดื่มสุราที่บ้านนายจรินทร์อินทร์ยัง แล้วจำเลยกับผู้ตายมีเรื่องทะเลาะกัน ผู้ตายเตะจำเลย1 ครั้ง แล้วก็เลิกรากันไป คำเบิกความของพยานทั้งสองดังกล่าวสอดคล้องกับคำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวนตามเอกสารหมาย จ.8 ซึ่งจำเลยให้การว่า หลังจากจำเลยถูกผู้ตายเตะที่บ้านนายจรินทร์ดังกล่าวแล้วข้างต้น จำเลยกลับบ้านนอนไม่หลับทั้งคืน คิดถึงแต่เรื่องที่ถูกผู้ตายเตะ พอรุ่งเช้าจำเลยไปบ้านนายจรินทร์เพื่อตามหาผู้ตายแต่ไม่พบ จำเลยทราบว่าผู้ตายไปไถนา จำเลยจึงนำอาวุธปืนลูกซองยาวของบิดาตามไปยังทุ่งนาที่ผู้ตายกำลังไถนาอยู่โดยตั้งใจว่าจะยิงผู้ตายให้ได้ เมื่อไปถึงพบผู้ตาย นางสุภาพร ด้วงอินเกิดและนายวิรัช ด้วงอินเกิด กำลังไถนาอยู่ด้วยกัน จำเลยเข้าไปดื่มน้ำและนั่งคุยอยู่กับนางสุภาพร ผู้ตายเห็นเช่นนั้นก็เข้ามานั่งฟังด้วย ระหว่างนั้นจำเลยหาโอกาสจะยิงผู้ตายต่อมานางสุภาพรลุกขึ้นเดินไปยังรถไถนาของนางสุภาพร ผู้ตายก็ลุกขึ้นเดินไปยังรถไถนาของผู้ตาย โอกาสนั้นเองจำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายทางด้านหลัง ผู้ตายล้มลงและถึงแก่ความตายโดยโจทก์มีพันตำรวจโทเชิดศักดิ์ พูลเผ่าดำรงค์ พนักงานสอบสวนเบิกความยืนยันว่าจำเลยให้การดังกล่าวด้วยความสมัครใจ ซึ่งเชื่อว่าเป็นความจริง คำให้การของจำเลยดังกล่าวก็สอดคล้องกับบาดแผลที่ผู้ตายถูกยิง ดังจะเห็นได้จากรายงานการชันสูตรพลิกศพท้ายฟ้อง ปรากฏว่าผู้ตายมีบาดแผลถูกยิงจากทางด้านหลัง ที่จำเลยนำสืบต่อสู้ว่าระหว่างที่จำเลยอยู่กับผู้ตายกลางทุ่งนาสองต่อสอง ผู้ตายด่าว่าจำเลยและท้าให้จำเลยยิง จำเลยบันดาลโทสะจึงยิงผู้ตายนั้น จำเลยมิได้ให้การไว้ในชั้นสอบสวน และจากคำเบิกความของนางสุภาพรกับนายวิรัชซึ่งอยู่บริเวณที่เกิดเหตุก็ไม่ปรากฏว่าผู้ตายได้ด่าว่าจำเลยแต่อย่างใด ข้อต่อสู้ของจำเลยดังกล่าวจึงไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือจากพยานหลักฐานของโจทก์ดังได้วินิจฉัยมามีน้ำหนักรับฟังได้ว่าจำเลยมีเรื่องโกรธเคืองกับผู้ตายมาก่อนแล้ว ต่อมาจำเลยตามหาผู้ตายเมื่อทราบว่าผู้ตายไถนาอยู่กลางทุ่งนา จำเลยก็นำอาวุธปืนลูกซองยาวไปหาผู้ตายโดยตั้งใจจะยิงผู้ตาย การกระทำดังกล่าวเห็นได้ว่าจำเลยมีโอกาสคิดไตร่ตรองไว้ก่อนแล้วว่าจะฆ่าผู้ตายหรือไม่ เมื่อจำเลยไปพบผู้ตายและได้โอกาสก็ยิงผู้ตายจนถึงแก่ความตาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289(4) และไม่เป็นการกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะดังที่จำเลยอ้างในฎีกา ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน