คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1173/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ข้อความที่จำเลยที่3แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนตรงกับสภาพที่จำเลยที่2ไปพบเห็นมาจึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่3แจ้งข้อความตรงตามข้อเท็จจริงที่ปรากฎส่วนการกระทำของโจทก์จะเป็นความผิดต่อกฎหมายตามที่จำเลยที่3แจ้งหรือไม่ไม่สำคัญเพราะการแจ้งข้อความหมายถึงแจ้งข้อเท็จจริงไม่เกี่ยวกับข้อกฎหมายจึงไม่ผิดฐานแจ้งความเท็จ พนักงานของสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานครได้รับเงินเดือนจากงบประมาณรายจ่ายของการพาณิชย์ของกรุงเทพมหานครตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครไม่ได้รับเงินเดือนจากงบประมาณหมวดเงินเดือนของกรุงเทพมหานครถือไม่ได้ว่ามีฐานะเป็นข้าราชการจึงไม่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา157 ศาลจะมีอำนาจลงโทษจำเลยในฐานความผิดหรือบทมาตราที่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา192วรรคห้าได้นั้นต้องเป็นกรณีที่ข้อเท็จจริงตามฟ้องนั้นโจทก์สืบสมฟังได้ว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามที่กล่าวในฟ้องจริงเพียงแต่โจทก์อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิดไปเท่านั้นทั้งจะต้องมิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์อ้างตัวบทกฎหมายผิดเป็นคนละฉบับไปด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในฐานะเจ้าพนักงานได้ร่วมกันกระทำผิด กล่าวคือ จำเลยที่ 1 ได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 3 แจ้งความร้องทุกข์ต่อจำเลยที่ 4 ในฐานะพนักงานสอบสวนว่าโจทก์บุกรุกแผงค้าตลาดมีนบุรีโดยมีจำเลยที่ 2 อ้างว่าได้พบการกระทำความผิดของโจทก์แล้วรายงานต่อจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยทั้งสามทราบว่าเป็นความเท็จ โดยมีเจตนากลั่นแกล้งให้โจทก์ได้รับโทษทางอาญาอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ต่อมาจำเลยที่ 4ได้ดำเนินการจับกุมตัวโจทก์ไว้ โดยมิได้มีการออกหมายเรียกผู้ต้องหาก่อน โจทก์ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยทั้งสี่อย่างมาก โดยถูกจำเลยที่ 4 ควบคุมตัวในวันที่ 13 ตุลาคม 2532 ทำให้โจทก์เสื่อมเสียอิสระภาพ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157,172, 174 วรรคสอง, 310, 86, 83
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูลเฉพาะข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 172, 174, 83 เฉพาะจำเลยที่ 1ถึงที่ 3 ให้ประทับฟ้อง ข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง จำเลยที่ 4 ให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ตั้งแต่วันที่23 มีนาคม 2532 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2532 โจทก์ไม่ใช่ผู้เช่าแผงค้าตลาดมีนบุรีของสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร แต่โจทก์ยังคงวางสินค้าที่แผงค้าตลาดมีนบุรีที่เคยเช่า และแผงค้าอื่นที่ไม่เคยเช่า รวมทั้งทางเดินในตลาดมีนบุรีด้วย จึงทำให้จำเลยที่ 1เข้าใจว่าเมื่อการเช่าสิ้นสุดลงแล้วแต่โจทก์ยังวางสินค้าอยู่และจำเลยที่ 2 แจ้งให้โจทก์ขนย้ายทรัพย์สินออกไปแต่โจทก์ไม่ยอมโจทก์จึงเป็นผู้บุกรุกและได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 3 ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ข้อความที่จำเลยที่ 3 ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนนั้น ตรงกับสภาพที่จำเลยที่ 2 ไปพบเห็นมาจึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 3 แจ้งข้อความตามข้อเท็จจริงที่ปรากฎส่วนการกระทำของโจทก์จะเป็นความผิดต่อกฎหมายตามที่จำเลยที่ 3แจ้งหรือไม่ ไม่สำคัญ เพราะการแจ้งข้อความย่อมหมายถึงแจ้งข้อเท็จจริง ไม่เกี่ยวกับข้อกฎหมายหลังจากจำเลยที่ 3 ได้แจ้งต่อพนักงานสอบสวนแล้ว พนักงานสอบสวนได้ดำเนินคดีแก่โจทก์ แม้ต่อมาพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องโจทก์ก็ยังถือไม่ได้ว่าข้อความที่จำเลยที่ 3 แจ้งนั้นเป็นความเท็จ เมื่อฟังว่าข้อความที่จำเลยที่ 3ผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 แจ้งนั้นเป็นความจริง จำเลยที่ 1ที่ 3 จึงไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จ จำเลยที่ 2 ก็ไม่มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนในความผิดฐานแจ้งความเท็จ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยในประเด็นข้อนี้มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
โจทก์ฎีกาเป็นข้อที่สองว่า จำเลยทั้งสามเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 หรือไม่โจทก์เบิกความว่า จำเลยที่ 1 มีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการตลาดสุขาภิบาลมีนบุรีจำเลยที่ 3 เป็นนิติกร จำเลยทั้งสามเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528การกระทำของจำเลยทั้งสามทำให้โจทก์เสียเสรีภาพ เสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นเกลียดชัง จำเลยทั้งสามเบิกความทำนองเดียวกันว่าจำเลยทั้งสามมีฐานะเป็นลูกจ้างประจำ สำนักงานตลาด กรุงเทพมหานครไม่ใช่ข้าราชการหรือเจ้าพนักงานสำนักงานตลาด กรุงเทพมหานครจัดตั้งขึ้นโดยอาศัยข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครว่าด้วยการพาณิชย์เรื่องสำนักงานตลาด กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518 ตามเอกสารหมาย ล.40 เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 มาตรา 91 ได้บัญญัติให้บุคคลผู้มีตำแหน่งต่าง ๆ และข้าราชการกรุงเทพมหานครเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ปัญหาว่า จำเลยทั้งสามเป็นข้าราชการกรุงเทพมหานครหรือไม่นั้น ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 มาตรา 4 ได้บัญญัติคำจำกัดความของคำว่า”ข้าราชการกรุงเทพมหานคร” หมายความว่า บุคคลซึ่งได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้รับราชการโดยได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณหมวดเงินเดือนของกรุงเทพมหานคร และกรุงเทพมหานครนำมาจัดเป็นเงินเดือนของข้าราชการกรุงเทพมหานคร จำเลยทั้งสามเป็นพนักงานของสำนักงานตลาด กรุงเทพมหานคร ซึ่งตามระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2527 ข้อ 4 และข้อ 6 เอกสารหมาย ล.31กำหนดให้ได้รับเงินเดือนจากงบประมาณรายจ่ายของการพาณิชย์ของกรุงเทพมหานครตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องวิธีการงบประมาณพ.ศ. 2529 เอกสารหมาย ล.34 จำเลยทั้งสามจึงไม่ได้รับเงินเดือนจากงบประมาณหมวดเงินเดือนของกรุงเทพมหานคร ถือไม่ได้ว่ามีฐานะเป็นข้าราชการกรุงเทพมหานคร ดังนั้นจำเลยทั้งสามจึงไม่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงไม่อยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายอาญา ภาค 2 ว่าด้วยความผิดลักษณะ 2 ความผิดเกี่ยวกับการปกครอง หมวด 2 ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
โจทก์ฎีกาเป็นข้อสุดท้ายว่า จำเลยทั้งสามปฏิบัติหน้าที่ในสำนักงานตลาด กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ จำเลยทั้งสามปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ย่อมมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502มาตรา 11 ด้วย หากโจทก์อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิดขอให้ศาลฎีกาลงโทษจำเลยทั้งสามตามฐานความผิดที่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 ด้วยนั้น เห็นว่าการที่ศาลจะมีอำนาจลงโทษจำเลยในฐานความผิดหรือบทมาตราที่ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคห้าได้นั้น จะต้องเป็นกรณีที่ข้อเท็จจริงตามฟ้องนั้นโจทก์สืบสมฟังได้ว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามที่กล่าวในฟ้องจริง เพียงแต่โจทก์อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิดไปเท่านั้น ทั้งจะต้องมิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์อ้างตัวบทกฎหมายผิดเป็นคนละฉบับไปด้วย เมื่อในคดีนี้ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ได้กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง จึงไม่อาจนำบทกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับได้ ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share