แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองบังอาจร่วมกันลักเอาเงินสดจำนวน 1,000 บาท ของส.ไปโดยทุจริตโดยใช้กุญแจปลอมไขลิ้นชักโต๊ะเก็บเงินแล้วลักเอาทรัพย์ดังกล่าวไป แต่มิได้ระบุสถานที่เกิดเหตุหรือรายละเอียดที่เกี่ยวกับสถานที่เกิดเหตุ พอสมควรที่จะให้จำเลยเข้าใจได้ว่าถูกกล่าวหาว่าลักทรัพย์ ณ สถานที่แห่งใด ย่อมเป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๑๗ เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองบังอาจร่วมกันลักเอาเงินสดจำนวน ๑,๐๐๐ บาท ของนายสมไปโดยทุจริต โดยจำเลยใช้กุญแจปลอมไขลิ้นโต๊ะเก็บเงินแล้วลักเอาทรัพย์ดังกล่าวไป ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๓๕(๗) และให้จำเลยคืนหรือชี้เงิน ๑,๐๐๐ บาทแก่เจ้าทรัพย์
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕(๗) จำคุกคนละ ๒ ปี จำเลยรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุกคนละ ๑ ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน ๑,๐๐๐ บาทแก่เจ้าทรัพย์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ขอให้ลงโทษสถานเบา และว่าฟ้องของโจทก์ไม่ได้ระบุสถานที่เกิดเหตุ เป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๘(๕) พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ฎีกาว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว เห็นว่าคดีไม่จำเป็นต้องฟังคำแถลงการณ์ด้วยวาจาตามที่โจทก์ขอ จึงให้งด คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองบังอาจร่วมกันลักเอาเงินสดจำนวน ๑,๐๐๐ บาท ของนายสมไปโดยทุจริตโดยใช้กุญแจปลอมไขลิ้นชักโต๊ะเก็บเงินแล้วลักเอาทรัพย์ดังกล่าวไป แต่มิได้ระบุสถานที่เกิดเหตุหรือรายละเอียดที่เกี่ยวกับสถานที่เกิดเหตุ พอสมควรที่จะให้จำเลยเข้าใจได้ว่าถูกกล่าวหาว่าลักทรัพย์ ณ สถานที่แห่งใด ย่อมเป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๘(๕)
พิพากษายืน