คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1173/2514

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาผู้ยื่นคำขอต่อศาลเพื่อขออนุญาตเข้าเฉลี่ยในทรัพย์สินหรือเงินที่ขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ถูกยึดในคดีอื่น มีหน้าที่ต้องนำสืบให้ศาลเห็นว่า ตนไม่สามารถเอาชำระหนี้ได้จากทรัพย์สินอื่น ๆ ของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น
พฤติการณ์ที่ถือได้ว่าผู้ยื่นคำขอเฉลี่ยไม่สุจริต

ย่อยาว

โจทก์นำยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษาและศาลขายทอดตลาดได้เงิน 21,100 บาท ผู้ร้องยื่นคำขอเฉลี่ยทรัพย์อ้างว่าเป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 อยู่ 12,000 บาท ตามคำพิพากษา จำเลยยังไม่ชำระหนี้และทรัพย์สินอื่นก็ไม่มี

โจทก์คัดค้านว่า ผู้ร้องสมยอมกับจำเลยและทรัพย์ของจำเลยยังมีอยู่อีก

ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้อง

ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ผู้ร้องได้รับเฉลี่ยทรัพย์

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การขออนุญาตต่อศาลขอเข้าเฉลี่ยในทรัพย์สินหรือเงินที่ขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ถูกยึดในคดีอื่นนั้น ไม่ใช่ว่าผู้ขอเฉลี่ยเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของลูกหนี้ด้วยเท่านั้น ก็มีสิทธิได้รับการเฉลี่ยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290 วรรคแรกเพราะความในวรรคสองที่ห้ามมิให้ศาลอนุญาตตามคำขอเฉลี่ยไม่ว่าในกรณีใด ๆ เว้นแต่ในกรณีเดียว คือศาลเห็นว่าผู้ยื่นคำขอเฉลี่ยไม่สามารถเอาชำระหนี้ได้จากทรัพย์สินอื่น ๆ ของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น ย่อมแสดงอยู่แล้วว่าผู้ยื่นคำขอเฉลี่ยต้องนำสืบความข้อนี้ให้ศาลเห็นเช่นนั้นด้วย ศาลจึงจะอนุญาตให้เฉลี่ยได้

ผู้ร้องตอบถามค้านว่า จำเลยที่ 1 มีหลักทรัพย์ เมื่อจำเลยที่ 1 กู้เงินไปหมื่นบาทนั้น จำเลยที่ 1 ได้เอา ส.ค.1 เลขที่ 9 มาให้ผู้ร้องยึดถือไว้เป็นประกันด้วย ขณะนี้ ส.ค.1 ยังอยู่ที่ผู้ร้องผู้ร้องเข้าใจว่าหากจะยึดมาขายทอดตลาด คงไม่พอชำระหนี้ หากผู้ร้องเฉลี่ยหนี้จากโจทก์ได้เงินไม่ขาดมาก ผู้ร้องก็จะไม่ยึดที่ดินตาม ส.ค.1 ถ้าผู้ร้องเฉลี่ยหนี้ได้ครึ่งหนึ่งของจำนวนหนี้ ผู้ร้องก็พอใจ

ศาลฎีกาเห็นว่า คำผู้ร้องไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟัง การที่ผู้ร้องยอมรับที่ดินตาม ส.ค.1 ไว้เป็นประกันเงินกู้ ย่อมแสดงในตัวว่าราคาที่ดินตาม ส.ค.1 นั้นเป็นหลักประกันเพียงพอ จึงต้องถือว่าผู้ร้องนำสืบให้ศาลเห็นไม่ได้ว่าผู้ร้องไม่สามารถเอาชำระหนี้ได้จากทรัพย์สินอื่น ๆ ของลูกหนี้โดยสิ้นเชิง

ศาลฎีกาวินิจฉัยต่อไปว่า ปรากฏชัดตามสำนวนคดีแดงที่ 108/2513ที่ผู้ร้องอ้างมาเองว่า เมื่อผู้ร้องฟ้องภริยาและบุตรของจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ เรียกเงินกู้ 10,000 บาท ในฐานะผู้รับมรดก ๆ ให้การต่อสู้ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้กู้ แต่เป็นหนี้ค่าซื้อเชื่อปุ๋ยซึ่งได้ใช้ให้แล้วเหลือเพียง 1,000 บาทเท่านั้นซึ่งขาดอายุความแล้วด้วย และสัญญากู้โจทก์ปลอมขึ้น วันนัดพร้อมคู่ความไม่ตกลงกัน ศาลจึงนัดสืบพยานโจทก์ (คือผู้ร้อง) ก่อน ผู้ร้องขอเลื่อนไปสืบพยานวันที่ 5 สิงหาคม 2513 แต่แล้วในวันที่ 30 กรกฎาคม 2513 ผู้ร้องก็ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 (ภริยาลูกหนี้) แล้วผู้ร้องกับจำเลยที่ 2 (บุตรลูกหนี้)ทำยอมความกันใช้เงินกู้และดอกเบี้ยกับค่าฤชาธรรมเนียมรวม 12,000 บาทโดยจำเลยที่ 2 จะนำเงินทั้งหมดมาวางศาลให้ผู้ร้องรับเอาภายใน 5 วันถ้าผิดนัดให้บังคับคดีได้ทันที แต่ในสำนวนดังกล่าวมีหลักฐานเพียงแค่วันที่ 3 สิงหาคม 2513 เท่านั้น โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 นำเงินมาวางศาลในวันที่ 4 สิงหาคม 2513 ตามยอมความหรือไม่ หรือผิดนัดหรือไม่ แล้ววันที่ 6 สิงหาคม 2513 ผู้ร้องก็มายื่นคำขอเฉลี่ยในคดีนี้เพื่อให้ทันกำหนดขอเฉลี่ยใน 14 วันนับแต่วันขายทอดตลาดเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2513 ซึ่งถูกต้องสมจริงตามคำคัดค้านของโจทก์ แสดงพิรุธให้เห็นว่า เหตุใดบุตรของลูกหนี้จึงทำยอมใช้เงินแก่ผู้ร้องเต็มจำนวนเงินกู้และดอกเบี้ยทั้ง ๆ ที่ได้ต่อสู้คดีอยู่ว่า ผู้ร้องกับพวกสมคบกันปลอมสัญญากู้ และลูกหนี้มิได้กู้ แต่เป็นหนี้ค่าปุ๋ยซึ่งใช้เงินแล้ว เหลือเพียง 1,000 บาทเท่านั้นเองแม้ในวันนัดพร้อม ภริยาและบุตรของลูกหนี้ก็ไม่ตกลงที่จะใช้เงินแก่ผู้ร้องอยู่แล้วด้วย ความข้อนี้เมื่อพิเคราะห์คำร้องที่ว่า ถ้าเฉลี่ยหนี้จากโจทก์ได้เงินเพียงครึ่งหนึ่ง (คือ 6,000 บาท) ก็พอใจแล้ว และไม่คิดจะยึดที่ดินตาม ส.ค.1 ของลูกหนี้ (ซึ่งจะตกได้แก่ภริยาและบุตรของลูกหนี้) ย่อมแสดงว่าผู้ร้องไม่สุจริตในการมาขอเฉลี่ยหนี้จากโจทก์ ถูกต้องตามที่โจทก์ฎีกาว่าผู้ร้องเอาเปรียบโจทก์เกินไปในการขอเฉลี่ยหนี้ ต้องถือว่าผู้ร้องใช้สิทธิไม่สุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 อีกประการหนึ่งด้วย

พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องขอเฉลี่ยของผู้ร้อง

Share