คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1172/2521

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

มาตรา 89 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายแสดงให้เห็นชัดว่าในกรณีที่จะขอให้หุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดล้มละลายตามห้างหุ้นส่วนนั้น กฎหมายได้บัญญัติกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีขึ้นใหม่ไว้โดยเฉพาะเป็นพิเศษเมื่อปรากฏว่าศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของห้างนั้นตามมาตรา 88 แล้ว เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมจะขอให้หุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดล้มละลายตามห้างได้ และตามมาตรา 89 ให้พิจารณาต่อไปเพียงว่า ผู้ถูกขอให้ล้มละลายตามห้างเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดจริงหรือไม่ถ้าปรากฏว่าศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด และพิพากษาให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดล้มละลายตามมาตรา 88 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย และผู้ถูกขอให้ล้มละลายตามห้างเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดจริง ศาลก็มีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ แล้วพิพากษาให้หุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดล้มละลายไปตามห้างนั้นได้เลย เพราะหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดต้องรับผิดในหนี้สินแทนห้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1070 และ 1077 โดยไม่จำกัดจำนวน โดยผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดไม่มีอำนาจต่อสู้คดี หรือนำสืบว่าตนมีทรัพย์สินพอที่จะชำระหนี้ของห้าง หรือมิใช่เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย
การที่ผู้ชำระบัญชียื่นคำร้องขอให้ห้างหุ้นส่วนล้มละลายตามมาตรา 88 นั้น ไม่จำกัดว่าห้างหุ้นส่วนที่ล้มละลายมีทรัพย์สินไม่พอกับหนี้สินเป็นจำนวนมากน้อยเท่าใด แม้จะไม่ถึงสามหมื่นบาท ก็ถือได้ว่าห้างนั้นมีหนี้สินล้นพ้นตัวแล้ว จะนำมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ทั่วไปที่จะสั่งให้มีการล้มละลายมาใช้แก่กรณีนี้ไม่ได้
เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์มอบอำนาจให้ผู้อื่นเป็นผู้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ดำเนินกระบวนพิจารณาชั้นขอรับชำระหนี้ และให้มีสิทธิออกเสียงในที่ประชุมเจ้าหนี้ประนีประนอมยอมความตลอดจนทำการอื่นใดที่เกี่ยวกับคดีล้มละลาย ดังนี้ ผู้รับมอบอำนาจมีสิทธิดำเนินคดีแทนเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ได้ตลอดไปถึงชั้นอุทธรณ์ฎีกาคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาล เพราะเป็นเรื่องของกระบวนพิจารณาที่สืบต่อจากการยื่นคำขอรับชำระหนี้ ใบมอบอำนาจดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย
การที่ใบมอบอำนาจมิใช่มอบอำนาจตามแบบฟอร์มของศาล ก็หาทำให้ใบมอบอำนาจนี้เสียไปไม่ เพราะมิใช่กรณีที่ยื่นต่อศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 67 วรรคสอง

ย่อยาว

คดีนี้ เดิมศาลแพ่งได้พิพากษาตามยอมในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 10278/2518 ระหว่าง พลตำรวจตรีประสงค์ ศักดิ์สุภา โจทก์ นางชุบ ชพานนท์โจทก์ร่วม ห้างหุ้นส่วนจำกัดอุตสาหกรรมน้ำแข็งตราด กับพวก จำเลย ให้เลิกห้างฯ จำเลยที่ 1 และตั้งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้ชำระบัญชี ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในฐานะผู้ชำระบัญชียื่นคำร้องต่อศาลแพ่งในคดีนี้ว่าเงินลงทุนของห้างฯ ได้ใช้หมดแล้ว และทรัพย์สินของห้างไม่พอกับหนี้สิน ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ห้างฯ ล้มละลาย ศาลแพ่งมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดห้างฯ ไว้ตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2520 ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 88 วรรคสอง ในการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก ที่ประชุมเจ้าหนี้ได้แต่งตั้งให้พลตำรวจโทประสงค์และนางชุบเจ้าหนี้เป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ ต่อมาศาลแพ่งพิพากษาให้ห้างฯ ล้มละลาย

ครั้นวันที่ 22 พฤศจิกายน 2520 พลตำรวจโทประสงค์โดยนายบัวและนางปรีดาผู้แทนเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ ยื่นคำร้องขอให้นายเล็งเลิศ ใบหยก หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างฯ ซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดชอบ ล้มละลายตามห้าง

นายเล็งเลิศยื่นคำคัดค้านว่า มีทรัพย์สินและหลักทรัพย์เพียงพอที่จะชำระหนี้แทนห้างฯ ได้ทั้งหมด และตนมิได้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ทั้งหนี้สินของห้างเป็นหนี้ไม่แน่นอน ขอให้ยกคำร้อง

พลตำรวจเอกประเสริฐ รุจิรวงศ์ ในฐานะหุ้นส่วนของห้างฯ ยื่นคำร้องอ้างว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสีย และว่านายเล็งเลิศเป็นบุคคลที่มีทรัพย์สินพอที่จะชำระหนี้แทนห้างได้ ไม่เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว

วันนัดพิจารณาคำร้องของเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ ศาลแพ่งสอบผู้แทนเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แล้วแถลงว่า พลตำรวจโทประสงค์ได้รับแต่งตั้งจากเจ้าหนี้ที่ขอรับชำระหนี้ให้เป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ และส่งหนังสือมอบอำนาจของพลตำรวจโทประสงค์และนางชุบที่แต่งตั้งให้นายบัวและนางปรีดาดำเนินคดีแทนในฐานะเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ ศาลแพ่งเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้ว นัดฟังคำสั่ง

ศาลแพ่งเห็นว่า นายเล็งเลิศเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างฯ ซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด เมื่อห้างฯ ล้มละลาย เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ย่อมมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งให้ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดเป็นบุคคลล้มละลายได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 89 โดยไม่จำต้องวินิจฉัยว่านายเล็งเลิศมีทรัพย์สินพอจะชำระหนี้แทนห้างหรือไม่ มีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของนายเล็งเลิศเด็ดขาด

นายเล็งเลิศผู้คัดค้านอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การดำเนินกระบวนพิจารณาของเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ที่ร้องขอให้ผู้เป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 89 นั้น ผู้เป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดมีอำนาจต่อสู้คดีและนำสืบได้ว่าตนมีทรัพย์สินพอที่จะชำระหนี้สินของห้างหรือมิใช่เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามมาตรา 7 ได้พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้พิทักษ์ทรัพย์ของผู้คัดค้านเด็ดขาด ให้ศาลชั้นต้นทำการพิจารณาคำร้องของเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์และคำคัดค้านของผู้คัดค้านต่อไปแล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี

พลตำรวจโทประสงค์ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 89 แสดงให้เห็นชัดว่า ในกรณีที่จะขอให้หุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดล้มละลายตามห้างหุ้นส่วนนั้น กฎหมายได้บัญญัติกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีขึ้นใหม่ไว้โดยเฉพาะเป็นพิเศษ คือเมื่อปรากฏว่าศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของห้างนั้นตามมาตรา 88 แล้ว เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมจะขอให้หุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนล้มละลายตามห้างได้ และเมื่อได้ยื่นคำขอให้หุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดในห้างนั้นล้มละลายแล้ว ตามมาตรา 89 บัญญัติให้พิจารณาต่อไปเพียงว่าผู้ถูกขอให้ล้มละลายตามห้าง เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดจริงหรือไม่ ถ้าปรากฏว่าเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดจริง ศาลก็มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้วพิพากษาให้ล้มละลายไปตามห้างนั้นได้เลย ทั้งนี้เพราะหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดนี้ต้องรับผิดในหนี้สินแทนห้างหุ้นส่วนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1070 และ 1077 โดยไม่จำกัดจำนวน และการที่ผู้ชำระบัญชียื่นคำร้องขอให้ห้างหุ้นส่วนล้มละลายตามมาตรา 88 นี้ ไม่จำกัดว่าห้างหุ้นส่วนที่ล้มละลายมีทรัพย์สินไม่พอกับหนี้สินเป็นจำนวนมากน้อยเท่าใด การที่ห้างหุ้นส่วนมีทรัพย์สินไม่พอกับหนี้สินแม้จะไม่ถึงสามหมื่นบาท ก็ถือได้ว่าห้างนั้นมีหนี้สินล้นพ้นตัวแล้ว ดังนั้นจึงนำมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายฯ ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ทั่วไปที่จะสั่งให้มีการล้มละลายมาใช้บังคับแก่กรณีนี้ไม่ได้ เมื่อปรากฏว่านายเล็งเลิศเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด ศาลย่อมมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของนายเล็งเลิศเด็ดขาด และพิพากษาให้ล้มละลายตามมาตรา 89 ต่อไปได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้นายเล็งเลิศผู้เป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดมีอำนาจต่อสู้คดีและนำสืบได้ว่าตนมีทรัพย์สินพอที่จะชำระหนี้สินของห้างหรือมิใช่เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามมาตรา 7 ได้ และพิพากษาให้ศาลชั้นต้นทำการพิจารณาคำร้องของเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์และคำคัดค้านของผู้คัดค้านนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย

ที่ผู้คัดค้านโต้เถียงมาในคำแก้ฎีกาว่าใบมอบอำนาจไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า ตามใบมอบอำนาจหมาย จ.1 พลตำรวจโทประสงค์และนางชุบได้มอบอำนาจให้นายบัวและนางปรีดาเป็นผู้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ดำเนินกระบวนพิจารณาชั้นขอรับชำระหนี้ และให้มีสิทธิออกเสียงในที่ประชุมเจ้าหนี้ประนีประนอมยอมความ ตลอดจนทำการอื่นใดที่เกี่ยวกับคดีล้มละลายเรื่องนี้ฉะนั้นผู้รับมอบอำนาจจึงมีสิทธิที่จะดำเนินคดีเรื่องนี้แทนพลตำรวจโทประสงค์เจ้าหนี้ได้ตลอดไปถึงชั้นอุทธรณ์ฎีกาคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาล เพราะเป็นเรื่องของกระบวนพิจารณาที่สืบต่อจากการยื่นคำขอรับชำระหนี้ ใบมอบอำนาจดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย และการที่ใบมอบอำนาจมิใช่มอบอำนาจตามแบบฟอร์มของศาล ก็หาทำให้ใบมอบอำนาจนี้เสียไปไม่ เพราะมิใช่กรณีที่ยื่นต่อศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 67 วรรคสอง

พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้บังคับคดีไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ผู้คัดค้านใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาแทนเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์เว้นแต่ค่าทนายความ เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ทำฎีกามายื่นเอง โดยไม่ได้แต่งตั้งทนายความ จึงไม่กำหนดให้

Share