คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11703/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 บัญญัติให้นายจ้าง ลูกจ้าง ซึ่งไม่พอใจคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน ตามมาตรา 124 นำคดีไปสู่ศาลภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง หาได้บัญญัติให้ลูกจ้างต้องรอจนกว่าคำสั่งเป็นที่สุดแล้วจึงจะฟ้องเรียกเงินตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานได้
เมื่อตามบัญชีค่าจ้างและค่าชดเชยตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานสั่งให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จ่ายค่าจ้างและค่าชดเชยให้โจทก์ที่ 2 น้อยกว่าคำขอท้ายฟ้อง โจทก์ที่ 2 ย่อมไม่อาจได้รับค่าจ้างและค่าชดเชยเกินกว่าคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน จึงเห็นควรกำหนดจำนวนค่าจ้างและค่าชดเชยที่โจทก์แต่ละสำนวนมีสิทธิได้รับตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานให้ชัดเจน
แม้โจทก์แต่ละสำนวนมิได้มีคำขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดร่วมกัน แต่ก็บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จำกัดจำนวน เพื่อความเป็นธรรมจึงเห็นสมควรวินิจฉัยให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดร่วมกัน

ย่อยาว

รายชื่อโจทก์ทั้งหมดปรากฏตามคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 8
คดีทั้งยี่สิบเอ็ดสำนวนนี้ศาลแรงงานภาค 8 สั่งให้รวมการพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งยี่สิบเอ็ดสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 21 ตามลำดับ และเรียกจำเลยทั้งสามทุกสำนวนว่า จำเลยทั้งสาม
โจทก์ทั้งยี่สิบเอ็ดสำนวนฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามจ่ายค่าจ้าง และค่าชดเชยตามคำขอท้ายฟ้อง
จำเลยทั้งสามทั้งยี่สิบเอ็ดสำนวนให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณา โจทก์ทั้งยี่สิบเอ็ดแถลงขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3 ศาลแรงงานภาค 8 อนุญาตให้จำหน่ายคดีจำเลยที่ 3 ออกจากสารบบความและโจทก์ที่ 3 ถึงแก่ความตาย โจทก์ที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนศาลแรงงานภาค 8 อนุญาต
ก่อนสืบพยาน โจทก์ทั้งยี่สิบเอ็ดยื่นคำร้องให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้นำคดีขึ้นสู่ศาลแรงงานภายในสามสิบวัน นับแต่ทราบคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน คำสั่งนั้นเป็นที่สุด คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้นำคดีขึ้นสู่ศาลแรงงานภาค 8 ภายในสามสิบวัน พร้อมทั้งขอขยายระยะเวลาวางเงินตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน แต่ศาลแรงงานภาค 8 มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาวางเงินและจำหน่ายคดี จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลฎีกา ต่อมาศาลฎีกามีคำสั่งว่าคำสั่งของศาลแรงงานภาค 8 ชอบแล้ว ศาลแรงงานภาค 8 เห็นว่า คดีนี้ข้อเท็จจริงพอวินิจฉัยได้ จึงมีคำสั่งให้งดสืบพยาน แล้ววินิจฉัยว่า คดีที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟ้องเพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานโดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้วางเงินตามกฎหมาย ถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดให้ครบถ้วนทั้งสองประการ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่มีสิทธินำคดีขึ้นมาสู่ศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน เป็นผลให้คำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานดังกล่าวเป็นที่สุด จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างแก่โจทก์ทั้งยี่สิบเอ็ด แล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างแก่โจทก์ทั้งยี่สิบเอ็ดสำนวนตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน 2547 จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์จำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อแรกว่า ศาลรับฟ้องคดีนี้ไว้ก่อนคดีซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟ้องขอเพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานถึงที่สุดได้หรือไม่ เห็นว่า ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องดังกล่าวจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การต่อสู้ไว้ แม้ศาลแรงงานภาค 8 ไม่ได้วินิจฉัยแต่เป็นปัญหาอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 และตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 บัญญัติให้นายจ้าง ลูกจ้าง ซึ่งไม่พอใจคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน ตามมาตรา 124 นำคดีไปสู่ศาลภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง หาได้บัญญัติให้ลูกจ้างต้องรอจนกว่าคำสั่งเป็นที่สุดแล้วจึงจะฟ้องเรียกเงินตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานได้ฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายที่ศาลแรงงานภาค 8 จะรับฟ้องไว้พิจารณาพิพากษา อุทธรณ์จำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ศาลแรงงานภาค 8 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างแก่โจทก์ทั้งยี่สิบเอ็ดสำนวนตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานโดยไม่ระบุจำนวนเงินว่าเต็มตามคำขอท้ายฟ้องโจทก์หรือไม่ เมื่อปรากฏตามบัญชีค่าจ้างและค่าชดเชย ตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานสั่งให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จ่ายค่าจ้างและค่าชดเชยให้โจทก์ที่ 2 น้อยกว่าคำขอท้ายฟ้อง โจทก์ที่ 2 ย่อมไม่อาจได้รับค่าจ้างและค่าชดเชยเกินกว่าคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน จึงเห็นควรกำหนดจำนวนค่าจ้างและค่าชดเชยที่โจทก์แต่ละสำนวนมีสิทธิได้รับตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานให้ชัดเจน นอกจากนี้ แม้โจทก์แต่ละสำนวนมิได้มีคำขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดร่วมกัน แต่ก็บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จำกัดจำนวน เพื่อความเป็นธรรมจึงเห็นสมควรวินิจฉัยให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดร่วมกัน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันจ่ายค่าจ้างและค่าชดเชยตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 88,200 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 42,930 บาท โจทก์ที่ 3 จำนวน 88,200 บาท โจทก์ที่ 4 จำนวน 88,200 บาท โจทก์ที่ 5 จำนวน 64,800 บาท โจทก์ที่ 6 จำนวน 88,200 บาท โจทก์ที่ 7 จำนวน 33,660 บาท โจทก์ที่ 8 จำนวน 88,200 บาท โจทก์ที่ 9 จำนวน 88,200 บาท โจทก์ที่ 10 จำนวน 88,200 บาท โจทก์ที่ 11 จำนวน 88,200 บาท โจทก์ที่ 12 จำนวน 48,420 บาท โจทก์ที่ 13 จำนวน 88,200 บาท โจทก์ที่ 14 จำนวน 58,800 บาท โจทก์ที่ 15 จำนวน 88,200 บาท โจทก์ที่ 16 จำนวน 88,200 บาท โจทก์ที่ 17 จำนวน 44,100 บาท โจทก์ที่ 18 จำนวน 88,200 บาท โจทก์ที่ 19 จำนวน 88,200 บาท โจทก์ที่ 20 จำนวน 88,200 บาท โจทก์ที่ 21 จำนวน 42,120 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 8

Share