แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 เป็นมาตรการของรัฐที่ต้องการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดไม่ว่าผู้นั้นจะยินยอมเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดหรือไม่ก็ตาม การที่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดมีคำสั่งว่า ผู้เข้ารับการฟื้นฟูไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการฟื้นฟู ไม่มารายงานตัวตามกำหนดนัดและไม่ได้ไปพบแพทย์เพื่อรับการบำบัดรักษา พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการเตือนให้มารายงานตัวและติดตาม ผู้เข้ารับการฟื้นฟูมีเจตนาที่จะไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข ทำให้ผลการฟื้นฟูไม่เป็นที่น่าพอใจ จึงรายงานความเห็นไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการเพื่อดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 33 วรรคสอง ซึ่งเป็นดุลพินิจของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด และมาตราดังกล่าวยังบัญญัติให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดรายงานความเห็นไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการเพื่อประกอบการดำเนินคดีผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเมื่อผู้นั้นเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดครบถ้วนตามกำหนดแล้วแต่ผลการฟื้นฟูยังไม่เป็นที่พอใจ
การที่จำเลยมาพบพนักงานสอบสวนหลังจากที่จำเลยหลบหนีไม่มาพบพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พนักงานสอบสวนจึงมีหน้าที่นำตัวจำเลยกลับไปบำบัดแก้ไขตามแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามเจตนารมณ์ของกฎหมายให้ครบถ้วนตามมาตรา 25 ก่อน การที่พนักงานสอบสวนไม่ดำเนินการดังกล่าวแต่กลับนำตัวจำเลยมาฟ้องเป็นคดีนี้ การสอบสวนจึงไม่ชอบ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 57, 91
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า บทบัญญัติมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 หมายความถึงผู้ติดยาเสพติดที่เป็นผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด แต่ยังไม่ได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเนื่องจากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข ไม่เข้ารับการบำบัด และไม่มารายงานตัวตามกำหนดนัด โดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องให้ทราบ เป็นผู้ติดยาเสพติดที่ได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจนครบกำหนดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 33 วรรคสอง ด้วย คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจึงมีอำนาจพิจารณาว่าผลการฟื้นฟูยังไม่เป็นที่พอใจได้ คำวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจึงชอบด้วยมาตรา 25 และมาตรา 33 วรรคสอง แล้ว พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนและโจทก์มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 เป็นมาตรการของรัฐที่ต้องการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดไม่ว่าผู้นั้นจะยินยอมเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดหรือไม่ก็ตาม โดยศาลจะมีคำสั่งให้ส่งตัวผู้ติดยาเสพติดไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดก่อน และคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดมีอำนาจวินิจฉัยว่าผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์ผู้ใดเป็นผู้เสพหรือติดยาเสพติด จากนั้นต้องจัดให้มีแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามมาตรา 22 โดยคำนึงถึงความหนักเบาของการเสพหรือติดยาเสพติดของผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามมาตรา 23 ซึ่งผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดต้องถูกบังคับให้อยู่รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามแผนฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเป็นเวลาไม่เกินหกเดือน ซึ่งอาจขยายหรือลดระยะเวลาการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามความเหมาะสมตามมาตรา 25 หากผู้ใดหลบหนีจากการตรวจพิสูจน์หรือหลบหนีออกนอกศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดให้ถือว่าผู้นั้นหนีการคุมขังตามมาตรา 190 แห่งประมวลกฎหมายอาญา พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจติดตามจับกุมผู้นั้นได้ตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 29 วรรคหนึ่ง และมีอำนาจลงโทษตามมาตรา 32 ได้อีกด้วย การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามบทบัญญัติดังกล่าว จึงมีวัตถุประสงค์แก้ไขฟื้นฟูผู้เสพหรือผู้ติดยาเสพติดทุกคนเพื่อประโยชน์ของสังคมเป็นส่วนรวม พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงต้องดำเนินการตามมาตราดังกล่าวก่อนแล้วคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจึงจะมีสิทธิพิจารณาผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด แม้การที่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดลพบุรีมีคำสั่งที่ 754/2555 ว่า ผู้เข้ารับการฟื้นฟูไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการฟื้นฟู กล่าวคือไม่มารายงานตัวตามกำหนดนัดและไม่ได้ไปพบแพทย์เพื่อรับการบำบัดรักษาในระบบแมททริกซ์โปรแกรมที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการเตือนให้มารายงานตัวและติดตาม ปรากฏว่าผู้เข้ารับการฟื้นฟูไม่มาตามกำหนดนัดโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องให้ทราบ แสดงให้เห็นว่าผู้เข้ารับการฟื้นฟูมีเจตนาที่จะไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการฟื้นฟู ทำให้ผลการฟื้นฟูไม่เป็นที่น่าพอใจ จึงรายงานความเห็นไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการเพื่อดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 33 วรรคสอง จะเป็นดุลพินิจของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดก็ตาม แต่เมื่อมาตรา 33 วรรคสอง บัญญัติให้ คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดรายงานความเห็นไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการเพื่อประกอบการดำเนินคดีผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด เมื่อผู้นั้นเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดครบถ้วนตามกำหนดเวลาแล้วแต่ผลการฟื้นฟูยังไม่เป็นที่พอใจ การที่จำเลยมาพบพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2556 หลังจากที่จำเลยหลบหนีไม่มาพบพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พนักงานสอบสวนจึงมีหน้าที่นำตัวจำเลยกลับไปบำบัดแก้ไขตามแผนฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายให้ครบถ้วนตามมาตรา 25 ก่อน การที่พนักงานสอบสวนไม่ดำเนินการดังกล่าว แต่กลับนำตัวจำเลยมาฟ้องเป็นคดีนี้ การสอบสวนจึงไม่ชอบ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน