แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยไม่ได้ยื่นคำร้องตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหาว่า สัญญาซื้อขายสินค้าระหว่างโจทก์กับจำเลยมีข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการแต่โจทก์ไม่ได้เสนอข้อพิพาทตามสัญญาต่อคณะอนุญาโตตุลาการจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้
จำเลยค้างชำระหนี้ค่าสินค้าแก่โจทก์เพียง 260,050 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อโจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องเรียกให้จำเลยชำระหนี้ 931,950 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการเรียกร้องเกินจำนวนที่แท้จริงถึง 671,900 ดอลลาร์สหรัฐ จึงเป็นการอ้างความเท็จเพื่อเอาเปรียบจำเลย แต่จำเลยก็นำสืบทำนองว่า จำเลยเองเป็นฝ่ายขอให้โจทก์แสดงราคาสินค้าให้สูงเกินจริงด้วยเพื่อจะนำไปใช้ประโยชน์ต่อสภาพกิจการของจำเลย รวมทั้งใช้ราคาที่กำหนดสูงขึ้นนี้ขอสินเชื่อต่อธนาคารและจดทะเบียนจำนองเครื่องจักรนี้เป็นประกันการชำระหนี้สินเชื่อต่อธนาคารดังกล่าว ทั้งนี้โดยจำเลยถือโอกาสที่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนซึ่งได้รับสิทธิพิเศษไม่ต้องชำระภาษีศุลกากรการนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม อันถือเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต ถือได้ว่าทั้งสองฝ่ายต่างไม่สุจริตโจทก์จึงไม่อาจยกเอาประโยชน์แห่งความไม่สุจริตดังกล่าวเรียกร้องเอาหนี้ได้เต็มจำนวน แต่จำเลยก็ยังคงต้องรับผิดชำระหนี้ค่าสินค้าในส่วนคงค้างต่อโจทก์
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยยังคงต้องรับผิดชำระหนี้ค่าสินค้าเครื่องรีดพลาสติกในส่วนคงค้างต่อโจทก์ 260,050 ดอลลาร์สหรัฐ และโจทก์ก็ต้องรับผิดในค่าเสียหายจากความชำรุดบกพร่องของสินค้ารวมถึงอุปกรณ์ที่ยังขาดส่งรวมเป็นเงิน 3,377,261.31 บาท จำเลยจึงยังคงต้องชำระค่าสินค้าดังกล่าวแต่สามารถหักค่าเสียหายที่โจทก์ต้องรับผิดชอบออกได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 1,071,168 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 931,950 ดอลลาร์สหรัฐ นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐจำนวนที่เป็นผลลัพธ์จากการนำเงินจำนวน 260,050 ดอลลาร์สหรัฐ หักด้วยจำนวนเงินดอลลาร์สหรัฐที่ได้จากการคำนวณเงินไทยจำนวน 3,377,216.31 บาท ในอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์ในกรุงเทพมหานครขายเงินดอลลาร์สหรัฐในวันที่มีคำพิพากษานี้ ถ้าไม่มีอัตราในวันดังกล่าว ก็ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราขายเช่นว่านั้นก่อนวันที่มีคำพิพากษา พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนที่ได้จากการคำนวณดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยชำระเป็นเงินไทย ให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันและสถานที่ใช้เงินโดยคำนวณจากจำนวนหนี้เงินดอลลาร์สหรัฐทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์จากการคำนวณดังกล่าวข้างต้น ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ สำหรับค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเฉพาะตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี และกำหนดค่าทนายความให้จำนวน 30,000 บาท
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า สำหรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ว่า สัญญาซื้อขายสินค้าระหว่างโจทก์กับจำเลยมีข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการด้วย แต่โจทก์ไม่ได้เสนอข้อพิพาทตามสัญญาต่อคณะอนุญาโตตุลาการตามสัญญาก่อนที่จะฟ้องคดีนี้ จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ในกรณีที่คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องคดีเกี่ยวกับข้อพิพาทตามสัญญาอนุญาโตตุลาการ โดยมิได้เสนอข้อพิพาทนั้นต่อคณะอนุญาโตตุลาการตามสัญญา คู่สัญญาฝ่ายที่ถูกฟ้องอาจยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจไม่ช้ากว่าวันยื่นคำให้การหรือภายในระยะเวลาที่มีสิทธิยื่นคำให้การตามกฎหมาย ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดี เพื่อให้คู่สัญญาไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการ และเมื่อศาลไต่สวนแล้วเห็นว่าไม่มีเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการนั้นเป็นโมฆะ หรือใช้บังคับไม่ได้ หรือมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญานั้นได้ ก็ให้สั่งจำหน่ายคดีนั้นเสีย แต่จำเลยไม่ได้ยื่นคำร้องตามบทกฎหมายดังกล่าวแต่อย่างใด จึงไม่มีสิทธิที่จะหยิบยกปัญหาดังกล่าวมาโต้แย้งและย่อมไม่มีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหานี้ด้วย จึงไม่รับวินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้
มีปัญหาข้อแรกที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยที่สมควรวินิจฉัยไปด้วยกันว่า โจทก์กับจำเลยตกลงซื้อขายสินค้ากันในราคาเพียง 1,750,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือในราคา 2,421,900 ดอลลาร์สหรัฐ ตามที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้อง และการกล่าวอ้างราคาสินค้าตามคำฟ้องเพื่อเรียกร้องหนี้ค้างชำระค่าสินค้าเป็นต้นเงินจำนวน 931,950 ดอลลาร์สหรัฐ เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหรือไม่ เห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่าจำเลยตกลงทำสัญญาซื้อขายสินค้ากับโจทก์ตามสำเนาสัญญาซื้อขาย อันถือเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง ซึ่งจำเลยก็ให้การรับว่าได้ทำสัญญาซื้อขายกับโจทก์ที่มีรายละเอียดตามสัญญาดังกล่าว แต่โต้แย้งในข้อสาระสำคัญในเรื่องราคาสินค้าที่ตกลงกันเป็นเงินเพียง 1,750,000 ดอลลาร์สหรัฐ เท่านั้น มิใช่ราคา 2,421,900 ดอลลาร์สหรัฐ ตามที่ระบุในสัญญาเอกสารท้ายคำฟ้องของโจทก์ โดยเฉพาะในส่วนเงินมัดจำที่ต้องชำระก่อนส่งสินค้าที่โจทก์และจำเลยไม่โต้แย้งกันได้ความว่า จำเลยต้องชำระแก่โจทก์เป็นเงิน 1,489,950 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจำเลยก็ได้ชำระให้แก่โจทก์แล้ว ดังรายละเอียดในคำฟ้องของโจทก์ และเมื่อพิจารณาตามสัญญาซื้อขายดังกล่าวข้อ 9 เกี่ยวกับเงื่อนไขการชำระเงินที่ระบุว่า ชำระเป็นเงินดาวน์ร้อยละ 15 และชำระอีกร้อยละ 75 ของราคาทั้งหมดก่อนการส่งสินค้า ส่วนที่เหลือชำระอีกร้อยละ 10 ของราคาทั้งหมดหลังจากได้ผลิตสินค้าจำหน่ายได้ และตามที่นายจาง เจน เชีย พยานโจทก์ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทโจทก์ยื่นบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของพยานกับเบิกความประกอบว่า โจทก์จำเลยตกลงซื้อขายสินค้ากันในราคา 2,421,900 ดอลลาร์สหรัฐ และจำเลยชำระเงินมัดจำแล้วจำนวน 1,489,950 ดอลลาร์สหรัฐ ยังคงค้างชำระค่าสินค้าอีกจำนวน 931,950 ดอลลาร์สหรัฐ แต่พยานโจทก์ปากนี้ก็เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านรับว่า นายหัว ลู เป็นพนักงานบริษัทโจทก์ซึ่งมีหน้าที่ในการจัดทำเอกสารเกี่ยวกับการซื้อขายด้วย โดยมีนายแคนดี้ ลู เป็นผู้ช่วยนายหัว ลู นายหัว ลู เป็นผู้ทำไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ตามเอกสารหมาย ล.13 ถึงนายบวร ซึ่งใช้นามว่าไบรอั้นผู้เป็นกรรมการบริษัทจำเลย และนายแคนดี้ลูเป็นผู้ทำไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ตามเอกสารหมาย ล.14 ถึง ล.16 ถึงนายบวร นอกจากนี้พยานก็เป็นผู้ทำไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ตามเอกสารหมาย ล.17 ถึงนายบวรด้วย ซึ่งตามไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์แต่ละฉบับดังกล่าว ปรากฏว่าตามไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์เอกสารหมาย ล.15 ลงวันที่ 11 เมษายน 2549 แจ้งเรื่องการชำระเงินว่า (1) เงินดาวน์ 15% : USD 1,750,000 *15 % = US$ 262,500 เราได้ รับไว้ครบจำนวนแล้ว (2) ก่อนส่งสินค้า 75% :US$ USD 1,750,000 *75% = US$ 1,312,500 เราได้รับแล้ว US$ 140,550 ราคาสินค้าในการขนส่งเที่ยวแรกเป็นเงิน US$ 816,000 ดังนั้น ขอให้โอนเงินมาให้เรา US$ 415,000 ก่อนการส่งสินค้า ซึ่งรายละเอียดดังกล่าวแสดงถึงการคิดคำนวณเงินดาวน์ร้อยละ 15 และเงินมัดจำอีกร้อยละ 75 ของราคาสินค้าทั้งหมดนั้น ล้วนคิดจากราคา 1,750,000 ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งสิ้น ซึ่งเมื่อนำจำนวนเงินที่จำเลยโอนให้แก่โจทก์ตามคำฟ้องครั้งที่ 1 วันที่ 2 กันยายน 2548 ถึงครั้งที่ 4 วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2549 อันเป็นช่วงเวลาก่อนนายแคนดี้ลูมีไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ถึงนายบวรตามเอกสารหมาย ล.15 ดังกล่าว ก็ปรากฏว่าโจทก์ได้รับโอนเงินจากจำเลยครั้งที่ 1 จำนวน 99,980 ดอลลาร์สหรัฐ ครั้งที่ 2 จำนวน 134,449 ดอลลาร์สหรัฐ ครั้งที่ 3จำนวน 28,011 ดอลลาร์สหรัฐ โดยมีค่าธรรมเนียมการโอนเงินระหว่างประเทศครั้งละ 20 ดอลลาร์สหรัฐ ก็จะตรงกับจำนวนเงินตามเอกสารการโอนเงินที่จำเลยโอนผ่านธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) แก่โจทก์ 3 ครั้ง 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ 134,469 ดอลลาร์สหรัฐ และ 28,031 ดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ รวมเป็นเงิน 262,500 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเท่ากับร้อยละ 15 ของเงินจำนวน1,750,000 ดอลลาร์สหรัฐ ตามไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์เอกสารหมาย ล.15 และตามไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ฉบับนี้ยังระบุชัดเจนว่าราคาสินค้าในการขนส่งครั้งแรกเป็นเงิน 816,000 ดอลลาร์สหรัฐ เท่านั้น มิใช่ราคา 1,750,000 ดอลลาร์สหรัฐ ตามที่โจทก์อ้างแต่อย่างใด ทั้งไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ฉบับนี้ยังเรียกให้จำเลยชำระเงินอีกจำนวนเพียง 415,000 ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนการส่งสินค้า ซึ่งจำเลยก็โอนเงินให้เป็นครั้งที่ 5 โจทก์ได้รับในวันที่ 26 เมษายน 2549 จำนวน 414,980 ดอลลาร์สหรัฐ รวมกับค่าธรรมเนียมโอนเงินจำนวน 20 ดอลลาร์สหรัฐ แล้วเป็นเงิน 415,000 ดอลลาร์สหรัฐ โจทก์จึงส่งสินค้าเที่ยวแรกแก่จำเลย และต่อมาวันที่ 15 พฤษภาคม 2549 นายแคนดี้ ลู ก็ทำไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์เอกสารหมาย ล.16 ถึงนายบวรให้ชำระเงินอีกจำนวน 756,950 ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนที่จะส่งสินค้าเที่ยวที่ 2 จำเลยก็โอนเงินให้โจทก์เป็นครั้งที่ 6 จำนวน 671,900 ดอลลาร์สหรัฐ หักค่าธรรมเนียมการโอนแล้วโจทก์ได้รับจำนวน 671,880 ดอลลาร์สหรัฐ โดยเงินที่จำเลยโอนให้แก่โจทก์นี้น้อยกว่าที่โจทก์แจ้งให้ชำระจำนวน 85,050 ดอลลาร์สหรัฐ แต่โจทก์ส่งสินค้าเที่ยวที่ 2 ให้แก่จำเลย และในที่สุดเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2550 นายจาง เจน เชีย ซึ่งใช้ชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า นายไมค์ ชาง ก็ส่งไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ถึงฝ่ายจำเลยตามเอกสารหมาย ล.17 แจ้งว่า จนถึงขณะนั้นจำเลยยังค้างชำระหนี้ค่าสินค้าจำนวน 260,050 ดอลลาร์สหรัฐ โดยยังไม่จ่ายค่าสินค้าอีกร้อยละ 10 ซึ่งเป็นเงินงวดสุดท้ายที่ต้องชำระจำนวน 175,000 ดอลลาร์สหรัฐ กับเงินที่ยังต้องชำระอีกจำนวน 85,050 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งก็รวมได้เป็นเงิน 260,050 ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้โดยการแจ้งให้จำเลยชำระเงินตามเอกสารหมาย ล.17 เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2550 นี้เป็นเวลาภายหลังจากโจทก์ส่งสินค้าครั้งที่ 2 อันเป็นครั้งสุดท้ายในเดือนพฤษภาคม 2549 แล้วถึง 1 ปีเศษ แสดงให้เห็นว่าการทวงถามเงินจำนวน 260,050 ดอลลาร์สหรัฐ นี้เป็นการทวงถามเงินที่ค้างชำระทั้งหมดแล้ว แต่ก็ทวงถามเงินจำนวน 260,050 ดอลลาร์สหรัฐ มิใช่จำนวน 931,950 ดอลลาร์สหรัฐ ตามคำฟ้องแต่อย่างใด นอกจากนี้ สัญญาซื้อขายที่โจทก์กล่าวอ้างตามเอกสารท้ายคำฟ้อง ก็ไม่มีลายมือชื่อและตราประทับบริษัทจำเลยในช่องผู้ซื้อท้ายสัญญาแต่อย่างใด ยิ่งไปกว่านี้ นายจาง เจน เชีย ยังตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ในการเจรจาซื้อขายกันนั้น ครั้งแรกมีการตกลงซื้อขายเครื่องจักรกันในราคา 1,750,000 ดอลลาร์สหรัฐ ตามที่ปรากฏรายละเอียดในบันทึกข้อตกลงจริง โดยโจทก์ทำใบเสนอราคาสินค้าแก่จำเลยเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2548 เป็นเงิน 1,838,000 ดอลลาร์สหรัฐ แล้วมีการต่อรองราคาจนเหลือ 1,750,000 ดอลลาร์สหรัฐ และยังมีการทำสัญญาซื้อขายเครื่องจักรในราคา 1,750,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยในช่องผู้ขายได้ประทับตราบริษัทโจทก์ไว้ตามสัญญาซื้อขาย ซึ่งตามสัญญาฉบับนี้ก็ปรากฏว่าลงวันที่ 2 กันยายน 2548 เช่นเดียวกับสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.10 ที่โจทก์กล่าวอ้าง แต่สัญญาซื้อขายเอกสารหมาย ล.6 ที่มีราคา 1,750,000 ดอลลาร์สหรัฐ นอกจากมีตราประทับบริษัทโจทก์ในช่องผู้ขายแล้ว ก็ยังมีนายบวรลงลายมือชื่อและประทับตราบริษัทจำเลยในช่องผู้ซื้ออีกด้วย มีเหตุผลให้เชื่อว่าเป็นสัญญาซื้อขายที่ถูกต้องและสมบูรณ์ยิ่งกว่าสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.10 ที่โจทก์กล่าวอ้างซึ่งไม่มีการลงลายมือชื่อจำเลยในช่องผู้ซื้อแสดงให้เห็นได้ชัดเจนว่า ราคาสินค้าที่ตกลงซื้อขายกันเป็นเงินเพียง 1,750,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจำเลยต้องชำระเงินดาวน์ร้อยละ 15 จำนวน 262,500 ดอลลาร์สหรัฐ และจำเลยชำระแล้วจากการโอนเงินตามคำฟ้องครั้งที่ 1 ถึงครั้งที่ 3 เป็นจำนวนที่รวมค่าธรรมเนียมการโอนเงินครั้งละ 20 ดอลลาร์สหรัฐ แล้วจำนวน 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ 134,469 ดอลลาร์สหรัฐ และ 28,031 ดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ รวมแล้วเป็นจำนวน 262,500 ดอลลาร์สหรัฐ ตรงตามสัญญา ส่วนเงินดาวน์ที่ต้องชำระอีกร้อยละ 75 จำนวน 1,312,500 ดอลลาร์สหรัฐ นั้น จำเลยโอนเงินชำระแก่โจทก์ตามคำฟ้องครั้งที่ 4 ถึงครั้งที่ 6 รวมกับค่าธรรมเนียมการโอนเงินครั้งละ 20 ดอลลาร์สหรัฐ ด้วยแล้วเป็นเงิน 140,550 ดอลลาร์สหรัฐ 415,000 ดอลลาร์สหรัฐ และ 671,900 ดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ รวมเป็นเงิน 1,227,450 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเมื่อรวมกับเงินดาวน์ที่โจทก์ทวงถามจำเลยให้ชำระโดยอ้างว่าชำระขาดไปจำนวน 85,050 ดอลลาร์สหรัฐ ก็จะได้เป็นเงิน 1,312,500 ดอลลาร์สหรัฐ อันเป็นร้อยละ 75 ของราคาสินค้าจำนวน 1,750,000 ดอลลาร์สหรัฐ ที่เป็นอัตราตรงตามสัญญาอีกเช่นกัน ดังนี้ ย่อมเห็นได้ว่าตัวเลขต่างๆ ดังกล่าวไม่ว่าจะคิดอย่างไรก็ล้วนแสดงว่าราคาสินค้าที่ตกลงกันโดยแท้จริงเป็นจำนวนเพียง 1,750,000 ดอลลาร์สหรัฐ เท่านั้น ไม่อาจเป็นจำนวน 2,421,900 ดอลลาร์สหรัฐ ดังที่โจทก์กล่าวอ้างได้ จำเลยจึงคงค้างชำระหนี้ค่าสินค้าแก่โจทก์จำนวนเพียง 260,050 ดอลลาร์สหรัฐ เท่านั้น ดังนั้น เมื่อโจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ที่ค้างชำระเป็นเงิน 931,950 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการเรียกร้องเกินจำนวนที่แท้จริงถึง 671,900 ดอลลาร์สหรัฐ และยังคิดดอกเบี้ยอีกต่างหากด้วย จึงเป็นการอ้างความเท็จเพื่อเอาเปรียบจำเลย แต่ในขณะเดียวกันจำเลยก็นำสืบในทำนองรับว่า จำเลยเองเป็นฝ่ายขอให้โจทก์แสดงราคาสินค้าให้สูงเกินจริงด้วย เพื่อจำเลยจะนำไปใช้ประโยชน์ต่อสภาพกิจการของจำเลยซึ่งปรากฏตามเอกสารการขอสินเชื่อของจำเลย รวมทั้งจำเลยได้ใช้ราคาที่กำหนดสูงนี้เป็นข้อมูลขอสินเชื่อต่อธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) และจดทะเบียนจำนองเครื่องจักรนี้เป็นประกันการชำระหนี้สินเชื่อต่อธนาคารดังกล่าว จึงเป็นการให้ข้อมูลอันเป็นเท็จต่อเจ้าหนี้ ทำให้เจ้าหนี้ได้รับความเสียหายเช่นกัน ทั้งนี้โดยจำเลยถือโอกาสที่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนซึ่งได้รับสิทธิพิเศษไม่ต้องชำระภาษีศุลกากรการนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม อันถือได้ว่าเป็นการที่จำเลยกระทำโดยไม่สุจริต กรณีจึงรับฟังได้ว่าทั้งโจทก์และจำเลยประกอบธุรกิจโดยมีเจตนาเป็นการเอาเปรียบต่อประเทศชาติ ถือได้ว่าทั้งสองฝ่ายต่างไม่สุจริต โจทก์จึงไม่อาจจะยกเอาประโยชน์แห่งความไม่สุจริตดังกล่าวขึ้นมาเรียกร้องเอาหนี้ได้เต็มจำนวน แต่จำเลยก็ยังคงต้องรับผิดชำระหนี้ค่าสินค้าในส่วนคงค้างต่อโจทก์ตามที่พิจารณาได้ความข้างต้นคือจำนวน 260,050 ดอลลาร์สหรัฐ อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์และจำเลยฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาข้อสุดท้ายที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า จำเลยยังคงต้องชำระค่าสินค้าที่ค้างต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยยังคงต้องรับผิดชำระหนี้ค่าสินค้าเครื่องรีดพลาสติกในส่วนคงค้างต่อโจทก์จำนวน 260,050 ดอลลาร์สหรัฐ และโจทก์ก็ต้องรับผิดในค่าเสียหายจากความชำรุดบกพร่องของสินค้ารวมถึงอุปกรณ์ที่ยังขาดส่งรวมเป็นเงิน 3,377,216.31 บาท ดังที่ได้วินิจฉัยไว้ข้างต้น จำเลยจึงยังคงต้องชำระค่าสินค้าดังกล่าวแต่สามารถหักค่าเสียหายที่โจทก์ต้องรับผิดชอบออกได้ หาใช่ไม่ต้องชำระค่าสินค้าที่จำเลยยังค้างชำระทั้งหมดดังที่จำเลยอุทธรณ์ไม่ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยมานั้น ชอบแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ