แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยปิดราคา 55 บาท ลงบนกระป๋องน้ำมันหล่อลื่นซึ่งเป็นสินค้าควบคุมทับราคาควบคุม 52 บาท ให้ไม่ปรากฏ อันเป็นความผิดฐานปิดทับราคาที่พิมพ์ไว้ตามกฎหมายที่สินค้าควบคุมให้ไม่ปรากฏก็เพราะจำเลยมีจุดประสงค์ที่จะจำหน่ายน้ำมันหล่อลื่นดังกล่าวในราคากระป๋องละ 55 บาท ซึ่งสูงกว่าราคาควบคุม อันเป็นความผิดฐานจำหน่ายสินค้าให้สูงกว่าราคาที่พิมพ์ไว้ตามกฎหมายที่สินค้าควบคุม ดังนั้นเมื่อจำเลยจำหน่ายน้ำมันหล่อลื่นกระป๋องนั้นในราคา 55 บาทก็เป็นการกระทำที่ทำให้จำเลยบรรลุจุดประสงค์ดังกล่าว จึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาและจุดมุ่งหมายอันเดียวกันและต่อเนื่องกันทั้งเป็นการฝ่าฝืนประกาศคณะกรรมการกลางกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด ฉบับที่ 88 พ.ศ. 2528 ฉบับเดียวกัน และมีบทลงโทษตามกฎหมายบทเดียวกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดกรรมเดียวและผิดกฎหมายบทเดียว ความผิดของจำเลยอยู่ที่การฝ่าฝืนประกาศของคณะกรรมการกลางกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด ฉบับที่ 88พ.ศ. 2528 น้ำมันหล่อลื่นที่จำเลยได้จำหน่ายไปมิใช่ทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิดอันจะพึงริบได้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33(1).
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้ร่วมกับจัดทำแผ่นกระดาษสติ๊กเกอร์ 1 แผ่น แล้วเขียนราคาลงบนกระดาษเป็น 55 บาท แล้วนำแผ่นกระดาษสติ๊กเกอร์ที่ทำขึ้นใหม่ไปปิดทับลงบนภาชนะบรรจุน้ำมันหล่อลื่นตราดาวชนิด ซี เอ็กซ์ ที เทอร์โบ ขนาดกระป๋องผนึก1 ลิตร อันเป็นสินค้าควบคุมราคาจำหน่ายปลีก 52 บาท โดยปิดทับที่บริเวณราคา 52 บาท ที่บริษัทคาลเท็กซ์ จำกัด ผู้ทำผลิตสินค้าได้พิมพ์ไว้บนภาชนะบรรจุโดยชอบตามกฎหมาย ทั้งนี้จำเลยทั้งสองมีเจตนาเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าน้ำมันหล่อลื่นชนิดดังกล่าวมีราคา 55 บาท การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมและปิดทับให้ราคาที่คณะกรรมการกลางกำหนดที่ได้พิมพ์ไว้บนภาชนะสินค้าเปลี่ยนแปลงไปและเพื่อไม่ให้ราคาที่พิมพ์ไว้ปรากฏ โดยไม่ได้แจ้งรายการเปลี่ยนแปลงราคาอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย แล้วจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันนำเอาน้ำมันหล่อลื่นกระป๋องเดียวกันกับสินค้าที่จำเลยทั้งสองได้มาจากการกระทำผิดโดยเปลี่ยนแปลงราคาจำหน่ายปลีกจาก 52 บาท เป็นราคา 55 บาทมาจำหน่ายให้แก่นายสมชัย เวชโพธิ์กลาง ผู้ซื้อในราคา 55 บาทซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าราคาที่กำหนดถึง 3 บาท การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการจำหน่ายสินค้าควบคุมในราคาที่สูงเกินกว่าราคาที่กำหนดไว้ อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด พ.ศ. 2522มาตรา 8, 23, 24, 25, 27, 40, 43ประกาศคณะกรรมการกลางกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาดฉบับที่ 71 ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2527 เรื่อง การกำหนดสินค้าและควบคุม ประกาศคณะกรรมการกลางกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด ฉบับที่ 88 ลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528 เรื่องกำหนดมาตรการในการจำหน่ายสินค้าควบคุม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91 ริบน้ำมันหล่อลื่นของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด พ.ศ. 2522 มาตรา 8, 23,24, 25, 27, 40, 43 ประกาศคณะกรรมการกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด ฉบับที่ 71 ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2527 เรื่องการกำหนดสินค้าและควบคุม ประกาศคณะกรรมการกลางกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด ฉบับที่ 88 ลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528เรื่อง กำหนดมาตรการในการจำหน่ายสินค้าควบคุม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91 (ที่ถูกไม่ต้องระบุมาตรา 91) ปรับจำเลยที่ 1เป็นเงิน 4,000 บาท จำเลยที่ 2 ให้จำคุก 6 เดือน และปรับ4,000 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 2,000 บาทจำคุกจำเลยที่ 2 กำหนด 3 เดือน และปรับ 2,000 บาท โทษจำคุกจำเลยที่ 2 เห็นสมควรรอไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56ในกรณีที่จำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30 ริบน้ำมันหล่อลื่นของกลาง
โจทก์อุทธรณ์ว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดสองกรรม
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า การที่จำเลยปิดทับราคาที่พิมพ์ไว้ตามกฎหมายที่สินค้าควบคุมให้ไม่ปรากฏคือจำเลยปิดราคา55 บาท ทับราคาควบคุม 52 บาท ลงบนกระป๋องบรรจุน้ำมันหล่อลื่นนั้น ก็เพราะจำเลยมีจุดประสงค์ที่จะจำหน่ายน้ำมันหล่อลื่นดังกล่าวในราคากระป๋องละ 55 บาท ซึ่งสูงกว่าราคาควบคุม ดังนั้นเมื่อจำเลยจำหน่ายน้ำมันหล่อลื่นกระป๋องนั้นในราคา 55 บาท ก็เป็นการกระทำที่ทำให้จำเลยบรรลุจุดประสงค์ดังกล่าว จึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาและจุดมุ่งหมายอันเดียวกันและต่อเนื่องกัน ทั้งการกระทำของจำเลยทั้งสองประการดังกล่าวยังเป็นการฝ่าฝืนประกาศฉบับเดียวกันคือประกาศคณะกรรมการกลางกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาดฉบับที่ 88 พ.ศ. 2528 เรื่อง กำหนดมาตรการในการจำหน่ายสินค้าควบคุมข้อ 11 และข้อ 12 นอกจากนี้การกระทำของจำเลยทั้งสองประการดังกล่าวยังมีบทลงโทษบทเดียวกันคือพระราชบัญญัติกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด พ.ศ. 2522 มาตรา 43 อีกด้วย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดกรรมเดียวและผิดกฎหมายบทเดียว หาใช่เป็นการกระทำผิด 2 กระทงดังที่โจทก์ฎีกาไม่ ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น อย่างไรก็ตามที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ริบน้ำมันหล่อลื่นของกลางตามฟ้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เพราะเห็นได้ชัดว่า ความผิดของจำเลยในคดีนี้อยู่ที่การฝ่าฝืนประกาศของคณะกรรมการกลางตามมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว น้ำมันหล่อลื่นที่จำเลยได้จำหน่ายไปมิใช่ทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิดอันจะพึงริบได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา33(1) แม้จำเลยมิได้อุทธรณ์ฎีกาขึ้นมา แต่ปัญหาเรื่องริบของกลางนี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ริบน้ำมันหล่อลื่นของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.