แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ขณะจำเลยปฏิบัติหน้าที่ตรวจคนโดยสารขาออกนอกราชอาณาจักร จ. คนต่างด้าวซึ่งเป็นคนโดยสารขาออกถือหนังสือเดินทางมาให้จำเลยตรวจเพื่อเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เมื่อจำเลยตรวจพบว่า จ. มีเพียงหนังสือเดินทางโดยไม่มีตราประทับขาเข้ากับไม่มีเอกสารการเดินทางครบถ้วน แต่จำเลยไม่ได้ยึดหนังสือเดินทางและควบคุม จ.ไว้เพื่อให้นายตำรวจสัญญาบัตรมารับตัวไปดำเนินคดีตามระเบียบปฏิบัติ กลับปล่อยให้ จ. ผ่านช่องตรวจของจำเลยเพื่อเดินทางออกนอกราชอาณาจักรได้ จำเลยจึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กรมตำรวจ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จำคุก 5 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นที่ยุติได้ว่า ขณะเกิดเหตุ จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจกองตรวจคนเข้าเมือง 2 สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กรมตำรวจ ประจำด่านตรวจคนเข้าเมือง ท่าอากาศยานกรุงเทพ มีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง บัตร ตม.6 (ขาออก) และบัตรขึ้นเครื่องบินของคนโดยสารที่จะเดินทางออกนอกราชอาณาจักรให้เป็นไปตามระเบียบการตรวจคนโดยสารขาออกเอกสารหมาย จ.1 ของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง วันเกิดเหตุจำเลยได้ปล่อยให้นายเจี้ย หมิง คนต่างด้าวสัญชาติจีน ซึ่งถือหนังสือเดินทางเอกสารหมาย จ.4 อันเป็นเอกสารปลอมเดินผ่านช่องตรวจผู้โดยสารขาออกที่จำเลยประจำอยู่ โดยที่นายเจี้ย หมิง มีหนังสือเดินทางเอกสารหมาย จ.4 เพียงเล่มเดียวและไม่มีตราประทับขาเข้าในหนังสือเดินทางฉบับดังกล่าว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า จำเลยมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบดังที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ โจทก์มีร้อยตำรวจเอกหญิงยุพิน โพธิ์ชนะพันธุ์ หัวหน้าเวรตรวจคนโดยสารขาออกกองตรวจคนเข้าเมือง 2 ท่าอากาศยานกรุงเทพและเป็นประจักษ์พยานเบิกความถึงพฤติการณ์ของจำเลยก่อนปล่อยนายเจี้ย หมิง ผ่านช่องตรวจคนโดยสารขาออกของจำเลยว่าก่อนเกิดเหตุ พยานเดินออกมานอกห้องทำงานเห็นคนโดยสารขาออกที่ยืนรอจะเข้าช่องตรวจของจำเลยจำนวน 2 คน (หมายถึงนายเจี้ย หมิง และนายหวัง เฉีย เซิน) มีลักษณะเป็นชาวจีน ซึ่งขณะนั้นไม่มีเที่ยวบินเดินทางไปหรือผ่านประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน พยานสงสัยว่าคนโดยสารดังกล่าวจะเดินทางไปประเทศใด และถือหนังสือเดินทางของประเทศใด พยานจึงกลับเข้าไปในห้องและรอจนถึงเวลาที่คนโดยสารทั้งสองคนเข้าช่องตรวจของจำเลย พยานจึงเดินไปยืนอยู่ทางด้านหลังจำเลยห่างจากจำเลยประมาณ 2 ถึง 3 เมตร เมื่อคนโดยสารคนแรกที่ต้องสงสัย (หมายถึงนายเจี้ย หมิง) เข้าช่องตรวจ พยานเห็นจำเลยทำท่ากดแป้นพิมพ์เครื่องคอมพิวเตอร์แต่ที่หน้าจอเครื่องคอมพิวเตอร์ของจำเลยไม่มีการพิมพ์ข้อมูลใด แล้วจำเลยส่งหนังสือเดินทางคืนให้คนโดยสารคนดังกล่าวและให้คนโดยสารเดินทางออกนอกราชอาณาจักรได้ เมื่อคนโดยสารดังกล่าวเดินผ่านมาทางพยาน พยานจึงขอตรวจสอบเอกสารการเดินทางปรากฏว่าไม่พบตราประทับการตรวจที่หนังสือเดินทาง รวมทั้งไม่พบบัตรขึ้นเครื่องบินและบัตร ตม.6 (ขาออก) แต่อย่างใด หลังจากนั้นคนโดยสารที่ต้องสงสัยคนที่สอง (หมายถึงนายหวัง เฉีย เซิน) ก็เดินผ่านออกมา พยานขอตรวจดูหนังสือเดินทางอีกก็พบสิ่งปกติเช่นเดียวกับคนโดยสารคนแรก พยานจึงควบคุมตัวคนโดยสารทั้งสองไว้ดำเนินคดีและรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ ความในข้อนี้ พันตำรวจโทยงยศ พิกุลทอง สารวัตรด่านตรวจคนเข้าเมืองท่าอากาศยานกรุงเทพ พยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของร้อยตำรวจเอกหญิงยุพินและจำเลยก็เบิกความรับรองว่า คืนเกิดเหตุเวลาประมาณ 22 นาฬิกา ร้อยตำรวจเอกหญิงยุพินได้แจ้งให้พยานทราบว่า เมื่อเวลาประมาณ 21 นาฬิกา จำเลยได้ปล่อยให้คนโดยสารขาออกจำนวน 2 คน ออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่มีการตรวจสอบจริง เป็นการสนับสนุนให้คำเบิกความของร้อยตำรวจเอกหญิงยุพินมีน้ำหนักอันควรแก่การรับฟังยิ่งขึ้น โจทก์ยังมีนายดาบตำรวจชูชีพ วิสุทธิไพบูลย์ เจ้าพนักงานตำรวจธุรการ กองตรวจคนเข้าเมือง 2 ซึ่งประจำอยู่ด่านตรวจคนเข้าเมืองท่าอากาศยานกรุงเทพที่เกิดเหตุเป็นประจักษ์พยานเบิกความยืนยันอีกว่าขณะเกิดเหตุพยานไปยืนอยู่หลังช่องตรวจคนโดยสารขาออกช่องตรวจที่ 16 ที่จำเลยปฏิบัติหน้าที่โดยยืนอยู่ใกล้ร้อยตำรวจเอกหญิงยุพิน พยานเห็นจำเลยตรวจหนังสือเดินทางของบุคคลที่มีลักษณะคล้ายชาวจีน 2 คน และทำท่ากดแป้นเครื่องคอมพิวเตอร์โดยไม่มีการใส่ข้อมูลเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์จริง และจำเลยทำท่าประทับตราเอกสารของคนโดยสารขาออกดังกล่าว หลังจากนั้นจำเลยก็คืนหนังสือเดินทางให้คนโดยสารขาออกดังกล่าว และปล่อยคนโดยสารขาออกดังกล่าวผ่านช่องตรวจไป ร้อยตำรวจเอกหญิงยุพินขอตรวจดูหนังสือเดินทางของคนโดยสารทั้งสองคนปรากฏว่าหนังสือเดินทางไม่มีการประทับตราขาออกและไม่มีบัตรขึ้นเครื่องบินกับไม่มีบัตร ตม.6 (ขาออก) เห็นว่า นายดาบตำรวจชูชีพเป็นเพื่อนร่วมงานของจำเลยและไม่ปรากฏว่าเคยมีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน ไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่านายดาบตำรวจชูชีพจะสมคบกับร้อยตำรวจเอกหญิงยุพินปรุงแต่งเรื่องราวอันร้ายแรงเช่นนี้ขึ้นมาปรักปรำจำเลยให้ต้องถูกลงโทษทางอาญาและทางวินัย แม้นายดาบตำรวจชูชีพมิได้ร่วมลงลายมือชื่อในบันทึกการจับกุมนายเจี้ย หมิง และนายหวัง เฉีย เซิน ตามเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 ด้วย ก็อาจเป็นเพราะนายดาบตำรวจชูชีพเป็นเพียงเจ้าพนักงานตำรวจธุรการซึ่งไม่มีหน้าที่โดยตรงในการจับกุมผู้กระทำความผิด และที่แผนที่เอกสารหมาย จ.13 มิได้ระบุว่า ขณะเกิดเหตุนายดาบตำรวจชูชีพยืนอยู่ที่บริเวณใด ก็อาจเป็นเพียงข้อบกพร่องของผู้ทำแผนที่ ประกอบกับจำเลยก็มิได้นำสืบต่อสู้ว่าขณะเกิดเหตุนายดาบตำรวจชูชีพมิได้อยู่บริเวณที่เกิดเหตุ หรือมิได้เห็นเหตุการณ์ในขณะเกิดเหตุและการที่ร้อยตำรวจเอกหญิงยุพินมิได้เบิกความถึงนายดาบตำรวจชูชีพว่าขณะเกิดเหตุพยานเห็นนายดาบตำรวจชูชีพอยู่ในที่เกิดเหตุ ก็ไม่ได้หมายความว่านายดาบตำรวจชูชีพมิได้อยู่ในที่เกิดเหตุด้วย ดังนั้น เหตุต่างๆ ดังกล่าวจึงยังไม่เพียงพอที่จะนำมาเป็นเหตุผลฟังว่านายดาบตำรวจชูชีพเป็นพยานที่เสริมแต่งขึ้นในภายหลังโดยที่นายดาบตำรวจชูชีพมิได้เห็นเหตุการณ์ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ส่วนที่จำเลยเบิกความอ้างว่าจำเลยถูกร้อยตำรวจเอกหญิงยุพินกลั่นแกล้งกล่าวหา โดยก่อนเกิดเหตุประมาณ 1 เดือน ร้อยตำรวจเอกหญิงยุพินทำตราประทับหาย จำเลยพูดว่านายตำรวจทำตราประทับหายไม่เป็นไร ถ้าเป็นพวกจำเลยจะถูกขัง 3 วัน คำพูดดังกล่าวไปเข้าหูร้อยตำรวจเอกหญิงยุพิน ร้อยตำรวจเอกหญิงยุพินได้พูดกับจำเลยว่าให้ระวังปากไว้ เห็นว่า ความในข้อนี้จำเลยมิได้ถามค้านร้อยตำรวจเอกหญิงยุพินไว้ในขณะที่ร้อยตำรวจเอกหญิงยุพินเข้าเบิกความต่อศาล และในชั้นสอบสวนจำเลยได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนตามบันทึกคำให้การเอกสารหมาย จ.26 ยืนยันว่าจำเลยไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้ใดในคดีนี้มาก่อน ดังนั้น การที่จำเลยมานำสืบเอาข้างเดียวในภายหลังอ้างว่าจำเลยมีสาเหตุโกรธเคืองกับร้อยตำรวจเอกหญิงยุพิน จึงถูกกลั่นแกล้งกล่าวหานั้น ย่อมไม่มีน้ำหนักให้รับฟังเป็นความจริงได้ ประกอบกับร้อยตำรวจเอกหญิงยุพินเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลย และขณะเกิดเหตุก็มีบุคคลอื่นอีกหลายคนอยู่ในที่เกิดเหตุด้วย ในสถานการณ์เช่นนี้ ไม่มีเหตุผลให้คิดว่าร้อยตำรวจเอกหญิงยุพินจะกล้าบิดเบือนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นให้เป็นอย่างอื่นเพื่อกลั่นแกล้งจำเลยได้ ศาลฎีกาจึงเชื่อว่า ร้อยตำรวจเอกหญิงยุพินและนายดาบตำรวจชูชีพเบิกความถึงพฤติการณ์ของจำเลย ขณะตรวจหนังสือเดินทางของนายเจี้ย หมิง ไปตามความสัตย์จริง โดยมิได้กลั่นแกล้งจำเลย ส่วนที่ร้อยตำรวจเอกหญิงยุพินเบิกความเกี่ยวกับนายหวัง เฉีย เซิน ผู้ถือหนังสือเดินทางเอกสารหมาย จ.3 ขัดแย้งกับข้อเท็จจริงในบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.6 ซึ่งศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยไว้โดยละเอียดนั้น เห็นว่า จำเลยได้รับประโยชน์ในส่วนนี้ไปแล้ว โดยโจทก์มิได้ฟ้องว่าจำเลยละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ สำหรับคนโดยสารขาออกรายนายหวัง เฉีย เซิน ด้วย และร้อยตำรวจเอกหญิงยุพินก็ได้เบิกความเกี่ยวกับนายเจี้ย หมิง สอดคล้องตรงกับข้อเท็จจริงในบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.5 ซึ่งเป็นการบันทึกการจับกุมนายเจี้ย หมิง ผู้ถือหนังสือเดินทางเอกสารหมาย จ.4 อันเป็นคนละส่วนกัน โจทก์ยังมีสิบตำรวจเอกสุทิน สุวรรณศักดิ์ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่ช่องตรวจที่ 15 ติดกับช่องตรวจที่ 16 ของจำเลยเป็นพยานเบิกความอีกว่า ขณะเกิดเหตุพยานเห็นจำเลยตรวจหนังสือเดินทางของคนโดยสารขาออกชาวจีน (หมายถึงนายเจี้ย หมิง) แล้วพยานได้ยินเสียงจำเลยบ่นพึมพำ 2 ถึง 3 ครั้งว่า “อะไรวะ ไม่เห็นมีอะไรเลย ไป ไป ไป” คำบ่นพึมพำของจำเลยตามที่สิบตำรวจเอกสุทินเบิกความดังกล่าวจึงไม่เป็นการสื่อความหมายว่า จำเลยไล่ให้คนโดยสารขาออกดังกล่าวไปพบร้อยตำรวจเอกหญิงยุพินหรือเป็นการรายงานให้ร้อยตำรวจเอกหญิงยุพินซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาการทราบเพื่อรับตัวนายเจี้ย หมิง ไปดำเนินคดี แม้สิบตำรวจเอกสุทินพยานโจทก์จะเบิกความอีกตอนหนึ่งว่า หลังจากถูกจำเลยไล่แล้ว คนโดยสารดังกล่าวก็ยังไม่ยอมไป ร้อยตำรวจเอกหญิงยุพินจึงเข้ามาจูงมือคนโดยสารดังกล่าว (หมายถึงนายเจี้ย หมิง) เข้าไปในห้องกระจกและให้คนโดยสารชาวจีนคนหลังเดินตามไปด้วย แต่ความในข้อนี้กลับได้ความจากคำให้การในชั้นสอบสวนของสิบตำรวจเอกสุทินตามบันทึกคำให้การเอกสารหมาย จ.16 ว่า ขณะเกิดเหตุพยานเห็นจำเลยรับหนังสือเดินทางจากคนโดยสารชาวจีนคนแรก (หมายถึงนายเจี้ย หมิง) มาตรวจแล้วจำเลยได้พูดว่า “ไม่มีอะไรเลย” ซึ่งพยานไม่ได้สังเกตหรือสนใจมาก แต่เห็นจำเลยดูหนังสือเดินทางอยู่นาน 1 นาทีเศษ แล้วจำเลยก็คืนหนังสือเดินทางให้คนโดยสารดังกล่าวถือเข้าไปข้างในคือผ่านช่องทางตรวจได้ โดยสิบตำรวจเอกสุทินมิได้ให้การว่า ร้อยตำรวจเอกหญิงยุพินเป็นคนเข้ามาจูงนายเจี้ย หมิง ให้เดินผ่านช่องตรวจของจำเลยแต่อย่างใด การที่สิบตำรวจเอกสุทินมาเบิกความแปรเปลี่ยนข้อเท็จจริงที่เคยให้การไว้ในชั้นสอบสวน เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่จำเลย จึงส่อไปทางว่าสิบตำรวจเอกสุทินจะเบิกความช่วยเหลือจำเลยให้พ้นจากความผิดในภายหลัง ศาลฎีกาย่อมไม่นำคำเบิกความของสิบตำรวจเอกสุทินดังกล่าวมาฟังเป็นข้อพิรุธหักล้างคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกหญิงยุพินและนายดาบตำรวจชูชีพ ทั้งนี้เพราะในการรับฟังพยานหลักฐานในสำนวนนั้น เป็นอำนาจของศาลที่จะต้องใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงที่คู่ความนำสืบว่า ข้อใดควรรับฟังได้หรือไม่และเพียงใด เพราะเหตุผลใดมิใช่ว่าพยานเบิกความอย่างไรแล้วศาลจะต้องรับฟังตามนั้นเสมอไป และตามคำให้การในชั้นสอบสวนของสิบตำรวจเอกสุทินดังกล่าวก็ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายห้ามมิให้รับฟัง ศาลฎีกาจึงนำมารับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์เพื่อลงโทษจำเลยได้ตามคำให้การในชั้นสอบสวนของสิบตำรวจเอกสุทินข้อที่ว่า หลังจากจำเลยตรวจหนังสือเดินทางของคนโดยสารชาวจีนดังกล่าว (หมายถึงนายเจี้ย หมิง) อยู่นานประมาณ 1 นาทีแล้ว จำเลยได้คืนหนังสือเดินทางให้แก่คนโดยสารชาวจีนดังกล่าวและปล่อยให้ผ่านช่องตรวจของจำเลยเข้าไปด้านใน ก็ปรากฏว่าสอดคล้องตรงกับคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกหญิงยุพินและนายดาบตำรวจชูชีพ ข้อนำสืบของโจทก์ดังกล่าวจึงมีน้ำหนักรับฟังเป็นความจริงได้ และน่าเชื่อว่าขณะที่จำเลยตรวจหนังสือเดินทางของนายเจี้ย หมิง ตามเอกสารหมาย จ.4 อยู่นั้น ตามประสบการณ์ในหน้าที่การงานของจำเลย จำเลยควรจะตรวจพบว่า หนังสือเดินทางดังกล่าวไม่มีการประทับตราขาเข้า แสดงว่าคนโดยสารขาออกดังกล่าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย ได้ความจากคำเบิกความของพันตำรวจโทยงยศ ร้อยตำรวจเอกหญิงยุพินและสิบตำรวจเอกสุทินพยานโจทก์อีกว่า ตามระเบียบปฏิบัติหากเจ้าพนักงานตำรวจกองตรวจคนเข้าเมืองตรวจพบว่าคนโดยสารขาออกคนใดมีเอกสารไม่ครบถ้วนหรือไม่ถูกต้อง เจ้าพนักงานตำรวจผู้ตรวจพบจะต้องกดสัญญาณไฟแดงให้ปรากฏเพื่อให้สารวัตรเวรหรือนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรมาดำเนินการต่อไปตามขั้นตอนโดยเจ้าพนักงานตำรวจผู้ตรวจจะต้องยึดหนังสือเดินทางและเอกสารต่างๆ ของคนโดยสารนั้นไว้ และต้องกักตัวคนโดยสารนั้นให้รออยู่ด้านหลังจนสารวัตรเวรหรือนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรมารับตัวคนโดยสารพร้อมเอกสารไป ซึ่งความในข้อนี้จำเลยก็เบิกความยอมรับว่า หากเกิดปัญหาในการปฏบัติงานจะต้องกดสัญญาณไฟแดงให้นายตำรวจหัวหน้าเวรเข้ามารับทราบปัญหา ดังนั้น การที่จำเลยคืนหนังสือเดินทางให้แก่นายเจี้ย หมิง โดยไม่ยึดหนังสือเดินทางดังกล่าวไว้ และไม่กดสัญญาณไฟแดง จึงไม่เป็นไปตามระเบียบปฏิบัติของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ส่อให้เห็นเป็นข้อพิรุธของจำเลยอย่างยิ่ง แม้จำเลยจะเบิกความอ้างว่าเหตุที่จำเลยไม่ได้ปฏิบัติตามวิธีการดังกล่าวเนื่องจากเห็นร้อยตำรวจเอกหญิงยุพินมายืนอยู่ด้านหลังห่างไปประมาณ 2 ถึง 3 เมตร จำเลยจึงหันไปรายงานร้อยตำรวจเอกหญิงยุพินว่า “หัวหน้าไม่เห็นมีอะไรเลย” และส่งหนังสือเดินทางของนายเจี้ย หมิง ให้ร้อยตำรวจเอกหญิงยุพินรับไปนั้น เป็นการเบิกความอ้างลอยๆ และไม่สมเหตุสมผล เพราะไม่ปรากฏว่าก่อนหน้านั้นจำเลยได้เห็นร้อยตำรวจเอกหญิงยุพินมายืนอยู่ด้านหลังของจำเลย ทั้งเมื่อพิจารณาจากแผนที่เอกสารหมาย จ.13 จะเห็นได้ว่าจุดที่ร้อยตำรวจเอกหญิงยุพินยืนนั้นอยู่ทางด้านหลังของจำเลยห่างจากจำเลยประมาณ 3 เมตร และก่อนหน้านั้นไม่ปรากฏว่ามีมูลเหตุจูงใจใดๆ ที่จำเลยจะต้องหันไปมองร้อยตำรวจเอกหญิงยุพิน เนื่องจากขณะปฏิบัติหน้าที่จำเลยจะต้องมีใจจดจ่ออยู่กับการตรวจเอกสารของคนโดยสารขาออกที่มาให้จำเลยตรวจตีตราประทับขาออกอย่างต่อเนื่องกัน ในสถานการณ์เช่นนั้น จำเลยไม่น่าจะเห็นร้อยตำรวจเอกหญิงยุพินที่ยืนอยู่ด้านหลังจำเลยได้ ยิ่งกว่านั้น ศาลฎีกาเห็นว่าการที่นายเจี้ยหมิง และนายหวัง เฉีย เซิน คนต่างด้าวซึ่งเป็นคนโดยสารขาออกทั้งสองคนดังกล่าวเจาะจงนำหนังสือเดินทางเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 ไปเข้าช่องตรวจที่จำเลยประจำอยู่และให้จำเลยตรวจเพื่อเดินทางออกนอกราชอาณาจักร ทั้งๆ ที่หนังสือเดินทางดังกล่าวเป็นเอกสารปลอมและไม่มีตราประทับขาเข้ากับไม่มีเอกสารประกอบการเดินทางคือบัตรขึ้นเครื่องบินและบัตร ตม.6 (ขาออก) โดยไม่เกรงกลัวว่าจะถูกจับกุมดำเนินคดี ก็เป็นพฤติการณ์ที่ชี้ให้เห็นว่าน่าจะเป็นเพราะได้มีการติดต่อกับจำเลยไว้ก่อนแล้วนั่นเอง ไม่ใช่เป็นเรื่องโดยบังเอิญ แม้จะปรากฏว่าสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเพิ่งแจ้งความดำเนินคดีแก่จำเลยภายหลังเกิดเหตุแล้ว 1 เดือนเศษ โดยพันตำรวจโทยงยศและร้อยตำรวจเอกหญิงยุพินมิได้จับกุมจำเลยดำเนินคดีทันทีทั้งๆ ที่เป็นความผิดซึ่งหน้านั้น ได้ความจากคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกหญิงยุพินพยานโจทก์ว่า คืนเกิดเหตุพยานได้รายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้พันตำรวจโทยงยศผู้บังคับบัญชาทราบแล้ว จึงเป็นหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาจะต้องดำเนินการต่อไปเอง และได้ความจากคำเบิกความของพันตำรวจโทยงยศผู้บังคับบัญชาของร้อยตำรวจเอกหญิงยุพินและจำเลยพยานโจทก์ว่า เหตุที่ไม่มีการจับกุมจำเลยในวันนั้นเนื่องจากจำเลยเป็นนายดาบตำรวจ ต้องทำเรื่องขออนุมัติจับกุมต่อผู้บังคับบัญชาและได้มีการทำรายงานพฤติการณ์ของจำเลยให้ผู้บังคับบัญชาทราบแล้ว ต่อมาผู้บังคับบัญชามีความเห็นให้แจ้งความดำเนินคดีแก่จำเลย และผู้บังคับการกองตรวจคนเข้าเมืองก็ได้มอบอำนาจให้พยานไปแจ้งความดำเนินคดีแก่จำเลยตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.14 การที่มีการดำเนินคดีแก่จำเลยล่าช้า จึงไม่อ้าจถือว่าเป็นข้อพิรุธของพยานโจทก์ แม้จะปรากฏว่าในการสอบสวนทางวินัย กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 จะมีความเห็นว่าพยานหลักฐานทางวินัยไม่เพียงพอรับฟังลงโทษจำเลยได้ แต่จำเลยมีมลทินมัวหมองและให้ออกจากราชการ ก็เป็นดุลพินิจในการลงโทษทางวินัยเท่านั้น ไม่มีผลผูกมัดดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลยุติธรรมในคดีนี้ได้ สรุปแล้วศาลฎีกาเห็นว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบเมื่อนำมาฟังประกอบกันแล้วมีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่า ขณะที่นายเจี้ย หมิง คนต่างด้าวซึ่งเป็นคนโดยสารขาออกถือหนังสือเดินทางเอกสารหมาย จ.4 มาให้จำเลยตรวจเพื่อเดินทางออกนอกราชอาณาจักร จำเลยตรวจพบว่านายเจี้ย หมิง มีหนังสือเดินทางเพียงเล่มเดียวเท่านั้น และไม่มีตราประทับขาเข้ากับไม่มีเอกสารการเดินทางครบถ้วน แต่จำเลยกลับปล่อยให้นายเจี้ย หมิง ผ่านช่องตรวจของจำเลยเพื่อให้เดินทางออกนอกราชอาณาจักรได้ โดยจำเลยมิได้ยึดหนังสือเดินทางและควบคุมตัวนายเจี้ย หมิง ไว้ให้นายตำรวจสัญญาบัตรมารับตัวไปดำเนินคดีตามระเบียบปฏิบัติ จำเลยจึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กรมตำรวจ (ชื่อในขณะเกิดเหตุ) ดังที่โจทก์ฟ้อง พยานหลักฐานของจำเลยไม่อาจรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ให้จำคุก 2 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ เห็นสมควรลดโทษให้จำเลยหนึ่งในหกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 8 เดือน