คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3149/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้และยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอายัดเงินค่าก่อสร้างที่ผู้ร้องจะจ่ายให้แก่จำเลยที่ 1 ไว้ก่อนพิพากษา เงินจำนวนนี้เป็นเงินค่าปรับที่ผู้ร้องใช้สิทธิปรับตามสัญญาจ้างก่อสร้างซึ่งผู้ร้องมีสิทธิที่จะปรับได้ตั้งแต่เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดและยินยอมให้ผู้ร้องปรับโดยหักกลบลบหนี้ค่าก่อสร้างตั้งแต่ก่อนที่จะมีหมายอายัด ดังนั้น ในขณะที่มีการออกหมายอายัดและนับแต่นั้นต่อมา จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องใดต่อผู้ร้องอันจะเป็นเหตุให้โจทก์ขออายัดและจัดการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 310311 แม้ต่อมาผู้ร้องจะมีหนังสือแจ้งเจ้าพนักงานบังคับคดีว่ามีเงินจำนวนนั้นและจะจัดส่งมาให้เมื่อได้รับอนุญาตจาก กระทรวงการคลัง และได้รับเงินจากกรมบัญชีกลางแล้ว ก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเดิมไม่มีสิทธิเรียกร้องใดต่อผู้ร้องกลับกลายมาเป็นผู้มีสิทธิเรียกร้อง หมายอายัดจึงไม่มีผลบังคับผู้ร้อง ศาลเพิกถอนหมายอายัดนั้นได้.

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์และยื่นคำร้องในกรณีฉุกเฉินขอให้ศาลมีคำสั่งอายัดเงินค่าก่อสร้างอาคารที่ผู้ร้องจะจ่ายให้แก่จำเลยที่ 1ไว้ก่อนพิพากษา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งและออกหมายอายัดชั่วคราว ลงวันที่ 28 มิถุนายน 2525 ต่อมาโจทก์จำเลยตกลงกันทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยตกลงให้คำสั่งอายัดชั่วคราวมีผลเป็นคำสั่งอายัดตลอดไป ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม แต่จำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์ขอหมายบังคับคดี ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอเฉลี่ยเงินที่โจทก์อายัดไว้ ซึ่งศาลอนุญาต
ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้เพิกถอนหมายอายัดชั่วคราวที่ศาลชั้นต้นสั่งให้ผู้ร้องส่งเงินตามหมายอายัดไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดี อ้างว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาก่อสร้างอาคารผู้ร้องจึงหักเงินค่าจ้างเป็นค่าปรับรวม 164,000 บาท ซึ่งผู้ร้องมีสิทธิปรับได้ตามสัญญาตั้งแต่ก่อนที่จะได้รับหมายอายัดของศาลและมีสิทธินำเงินดังกล่าวที่หักไว้เป็นค่าปรับมาหักกลบลบหนี้ค่าจ้างโดยไม่ต้องคืนจำเลยที่ 1 โจทก์ไม่มีสิทธิขอให้อายัดเงินจำนวนนั้น ขอให้เพิกถอนหมายอายัดชั่วคราวลงวันที่ 28 มิถุนายน 2524
โจทก์และผู้คัดค้านคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้ววินิจฉัยว่า ผู้ร้องได้มีหนังสือถึงเจ้าพนักงานบังคับคดี แจ้งว่ามีเงินค่าปรับที่ผู้ร้องหักไว้ซึ่งอยู่ที่กระทรวงการคลัง ผู้ร้องจะส่งมอบเงินจำนวนนี้ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังให้เบิกเงินจากกรมบัญชีกลางได้แล้วโดยผู้ร้องจะทำความตกลงกับกระทรวงการคลังต่อไป เท่ากับผู้ร้องยินยอมจะส่งเงินจำนวนดังกล่าวตามคำสั่งอายัดแล้ว จึงเป็นการอายัดสิทธิเรียกร้องให้ชำระเงินหรือมอบทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 310 (3),311 เมื่อผู้ร้องไม่ปฏิเสธหรือโต้แย้งหนี้ เจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมดำเนินการตามมาตรา 312 วรรคสอง ให้ผู้ร้องส่งมอบเงินตามคำสั่งอายัดได้ ให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้เพิกถอนหมายอายัดชั่วคราวฉบับลงวันที่ 28 มิถุนายน 2525
โจทก์และผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้ร้องกับจำเลยที่ทำสัญญาจ้างก่อสร้างอาคารของโรงพยาบาลบำราศนราดูรฉบับลงวันที่ 31 มกราคม 2523 มีข้อตกลงว่าจำเลยที่ 1 จะต้องทำการก่อสร้างให้แล้วเสร็จบริบูรณ์ ภายในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2524(และต่ออายุสัญญาให้ถึงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2525) โดยแบ่งงานออกเป็น 22 งวด งานงวดที่ 1 ถึงงวดที่ 14 จำเลยที่ 1 ส่งมอบให้ผู้ร้องตามกำหนดในสัญญาและรับเงินค่าจ้างไปครบถ้วนแล้ว ส่วนงานงวดที่ 15 และงวดที่ 16 ผู้ร้องอ้างว่า จำเลยที่ 1 ส่งมอบงานล่าช้ากว่ากำหนดต้องถูกปรับเป็นเงิน 164,000 บาท ส่วนงานงวดที่ 17จำเลยที่ 1 ก็ละทิ้งงาน ผู้ร้องจึงบอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 21กันยายน 2525 และจ้างบุคคลอื่นทำการก่อสร้างต่อจนเสร็จ ทำให้ผู้ร้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น กับต้องถูกปรับรายวัน รวมเป็นเงินค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 จะต้องใช้ให้ผู้ร้องทั้งสิ้น 7,066,644 บาผู้ร้องฟ้องจำเลยที่ 1 กับพวกให้ชดใช้เงินแก่ผู้ร้อง และจำเลยที่ 1เป็นโจทก์ฟ้องผู้ร้องให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 1 ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 7011-7012/2527 ของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ร้อง โดยให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 3,683,346 บาท พร้อมดอกเบี้ย ส่วนคดีสำนวนที่จำเลยที่ 1 ฟ้องผู้ร้องนั้น ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง จำเลยที่ 1ไม่อุทธรณ์ คดีถึงที่สุดไปแล้ว ส่วนผู้ร้องอุทธรณ์ขอให้จำเลยที่ 1กับพวกชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้ร้องเต็มตามฟ้อง
มีปัญหาในชั้นฎีกาว่า ผู้ร้องมีเหตุจะให้เพิกถอนการอายัดสิทธิเรียกร้องตามหมายอายัดลงวันที่ 28 มิถุนายน 2525 หรือไม่ ได้ความว่จำเลยที่ 1 ส่งมอบงานงวดที่ 15 และงวดที่ 16 เมื่อวันที่ 1 และ21 ธันวาคม 2524 ตามลำดับ ผู้ร้องได้ตรวจรับและใช้สิทธิปรับจำเลยที่ 1 เพราะส่งมอบงานล่าช้ารวม 2 งวดงาน เป็นเงิน 164,000 บาทโดยหักกลบลบหนี้เงินค่าก่อสร้างที่ผู้ร้องชำระให้จำเลยที่ 1จำเลยที่ 1 ยินยอมรับเงินค่าจ้างที่หักกลบลบหนี้แล้วนั้น ตั้งแต่วันที่ 4 และ 20 มกราคม 2525 ตามลำดับ ซึ่งเป็นระยะเวลาก่อนที่จะมีหมายอายัดชั่วคราว ดังกล่าว หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ละทิ้งงานศาลชั้นต้นวินิจฉัยถึงที่สุดแล้วว่า จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาจ้าง พิพากษาหักกลบลบหนี้ที่จำเลยที่ 1 จะพึงได้จากผู้ร้องแล้ว ให้จำเลยที่ 1 ต้องชำระค่าเสียหายแก่ผู้ร้อง แม้เรื่องค่าเสียหายจะยังไม่ถึงที่สุด แต่สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ที่จะพึงมีต่อผู้ร้องนับแต่วันที่ออกหมายอายัดชั่วคราวเป็นอันหมดสิ้นไป คดีมีปัญหาโต้เถียงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาสำหรับเงินจำนวน 164,000 บาท ที่ผู้ร้องใช้สิทธิปรับจำเลยที่ 1 เท่านั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เงินจำนวนนี้เป็นเงินค่าปรับที่ผู้ร้องใช้สิทธิปรับตามสัญญาซึ่งผู้ร้องมีสิทธิที่จะปรับได้ตั้งแต่เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดและเมื่อจำเลยที่ 1 ยินยอมให้ผู้ร้องปรับโดยหักกลบลบหนี้ค่าก่อสร้างตั้งแต่ก่อนที่จะมีหมายอายัดชั่วคราวดังกล่าว กับทั้งศาลชั้นต้นก็มิได้พิพากษาให้ผู้ร้องต้องส่งคืน ดังนั้นในขณะที่มีการออกหมายอายัดชั่วคราวดังกล่าวและนับแต่นั้นต่อมา จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องใดต่อผู้ร้องอันจะเป็นเหตุให้โจทก์ขออายัดและจัดการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 310 (3), 311 แม้ต่อมาผู้ร้องจะมีหนังสือแจ้งเจ้าพนักงานบังคับคดีว่ามีเงินจำนวน164,000 บาท จะจัดส่งมาให้เมื่อได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังและได้รับเงินจากกรมบัญชีกลางแล้ว ก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเดิมไม่มีสิทธิเรียกร้องใดต่อผู้ร้องกลับกลายมาเป็นผู้มีสิทธิเรียกร้องหมายอายัดชั่วคราวลงวันที่ 28 มิถุนายน 2525 จึงไม่มีผลบังคับผู้ร้อง ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์และผู้คัดค้านต่อไป
พิพากษายืน.

Share