คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11692/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนังสือรับรองข้อความที่นายทะเบียนเก็บรักษาไว้ตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ออกโดยนายทะเบียนการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้น ถือเป็นเอกสารมหาชน ดังนั้น สำเนาหนังสือรับรองดังกล่าวที่ทนายโจทก์รับรองความถูกต้อง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้และถูกต้อง เมื่อจำเลยทั้งสองมิได้นำพยานหลักฐานมาสืบให้เห็นว่าหนังสือรับรองข้อความมีข้อความไม่ถูกต้องอย่างไร ย่อมต้องฟังว่าเป็นหนังสือรับรองที่แท้จริงและถูกต้อง ข้อความในหนังสือที่รับรองว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลจดทะเบียน ณ สหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือย่อมรับฟังได้
โจทก์อ้างสำเนาหนังสือมอบอำนาจช่วงเป็นพยานเอกสารโดยจำเลยทั้งสองมิได้คัดค้านการนำเอกสารมาสืบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 125 ศาลย่อมรับฟังสำเนาเอกสารเป็นพยานหลักฐานโดยไม่ต้องปิดอากรแสตมป์ เมื่อศาลมิได้รับฟังต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจช่วงเป็นพยานหลักฐาน ต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจช่วงจะปิดอากรแสตมป์หรือไม่ ปิดอากรแสตมป์แล้วไม่ได้ขีดฆ่าหรือไม่ ย่อมไม่มีผลให้การรับฟังสำเนาหนังสือมอบอำนาจช่วงเป็นพยานเปลี่ยนแปลงไป
แม้เอกสารท้ายฟ้องถือเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง แต่เอกสารท้ายฟ้องส่วนที่เป็นภาษาอังกฤษเป็นการรับรองการมอบอำนาจของโจทก์ที่ทำในต่างประเทศโดยโนตารีปับลิกแห่งกรุงลอนดอน ซึ่งคำฟ้องโจทก์บรรยายเป็นภาษาไทยไว้ชัดเจนว่า โจทก์ได้แต่งตั้งและมอบอำนาจให้ ว. กระทำการแทนโจทก์รวมทั้งมีอำนาจมอบอำนาจช่วงได้ ซึ่งจำเลยทั้งสองก็ได้ให้การต่อสู้คดีไว้แล้วว่าการมอบอำนาจไม่ว่าการมอบอำนาจภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร มิได้กระทำโดยผู้มีอำนาจ ลายมือชื่อผู้มอบอำนาจปลอมและตราประทับไม่ใช่ตราประทับที่แท้จริง การที่ไม่มีคำแปลหนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้องเป็นภาษาไทย ก็ไม่มีผลทำให้ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม
โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญากันว่าในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งในอนาคต จำเลยที่ 1 ตกลงสั่งซื้อน้ำมันจากโจทก์ตามราคาที่กำหนดไว้ในสัญญา และโจทก์ก็ตกลงจะขายให้จำเลยที่ 1 ในราคาดังกล่าว เมื่อถึงช่วงเวลาตามสัญญาคู่สัญญาก็ต้องปฏิบัติตามข้อตกลงต่อกัน ฝ่ายใดไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญาถือว่าเป็นฝ่ายผิดสัญญา สัญญาดังกล่าวไม่มีลักษณะเป็นการพนันขันต่อ จึงใช้บังคับได้ ไม่เป็นโมฆะ
ค่าปรับคือ ค่าเสียหายที่คู่สัญญาตกลงกันไว้ล่วงหน้า กำหนดให้ฝ่ายที่ปฏิบัติผิดสัญญาต้องชดใช้ค่าปรับที่กำหนดไว้ให้แก่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งการที่ศาลจะกำหนดให้ฝ่ายที่ผิดสัญญารับผิดชำระค่าปรับเพียงใด ศาลจะต้องคำนึงถึงความเสียหายที่แท้จริงที่เกิดขึ้นแก่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง ไม่เฉพาะแต่ความเสียหายในเชิงทรัพย์สิน
โจทก์เป็นผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ของประเทศ มีการสั่งซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงจากต่างประเทศหรือในประเทศมาจำหน่ายให้แก่ลูกค้ารายย่อยในประเทศไทยจำนวนมากเป็นธรรมดาที่โจทก์ต้องมีการเจรจาตกลงสั่งซื้อน้ำมันล่วงหน้าจากผู้ผลิตน้ำมันจากต่างประเทศ ซึ่งโจทก์ต้องยอมรับความเสี่ยงเรื่องการขึ้นลงของน้ำมันในตลาดโลกและอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศซึ่งเคลื่อนไหวตลอดเวลา การแนะนำลูกค้าให้ทำสัญญาซื้อขายน้ำมันล่วงหน้าจากโจทก์ ถือเป็นการแบ่งเบาภาระและความเสี่ยงอันเกิดจากราคาน้ำมันของโจทก์ไปให้แก่ลูกค้าของโจทก์นั่นเอง สัญญาซื้อขายดังกล่าวไม่เข้าลักษณะของสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 จึงไม่อาจนำบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหาย 6,957,342 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.9 ต่อปี ของต้นเงิน 6,096,233 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 1,225,019 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.9 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 สิงหาคม 2551 จนถึงวันที่จำเลยทั้งสองชำระเสร็จ กับค่าเสียหายจำนวน 5,212,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 7 กันยายน 2552) จนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้โจทก์ 50,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย นางเตียว นางสาวทัศนีย์และนางสาวนภัสกร ผู้ร้องทั้งสามในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำสั่งอนุญาต
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน 1,225,019 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.9 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 สิงหาคม 2551 จนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้ชำระค่าเสียหาย 2,021,281.35 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 7 กันยายน 2552) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ตามจำนวนทุนทรัพย์เท่าที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความให้รวม 60,000 บาท
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน จำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายราคาคงที่ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เชลล์ ไบโอดีเซล (บี 5) จากโจทก์ มีกำหนด 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2551 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2551 โดยจำเลยที่ 1 สัญญาว่าจะสั่งซื้อสินค้าดังกล่าวจากโจทก์ให้ได้จำนวนไม่ต่ำกว่าหรือเท่ากับเดือนละ 120,000 ลิตร อย่างสม่ำเสมอ จนครบกำหนดเวลาตามสัญญา โดยโจทก์จะไม่ขึ้นราคาสินค้าในระหว่างที่สัญญายังบังคับใช้อยู่และหากจำเลยที่ 1 ไม่สามารถซื้อสินค้าได้ตามกำหนดในงวดใดงวดหนึ่ง ยอมชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าปรับในอัตราร้อยละ 15 ของจำนวนราคาสินค้าที่จำเลยที่ 1 ยังซื้อไม่ครบตามสัญญา หรือเท่ากับมูลค่าที่แตกต่างกันระหว่างราคาสินค้าตามสัญญากับราคาตลาดเฉลี่ยของสินค้าของผู้ค้ารายอื่นอย่างน้อย 3 รายในพื้นที่เดียวกัน ทั้งนี้แล้วแต่ว่าจำนวนใดจะสูงกว่ากัน โดยมีจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ตามสัญญาซื้อขายและสัญญาค้ำประกันตามลำดับ หลังจากทำสัญญาแล้ว จำเลยที่ 1 สั่งซื้อสินค้าน้ำมันจากโจทก์ในงวดเดือนสิงหาคม 2551 เพียง 30,000 ลิตร ในราคารวมภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงิน 1,225,019.46 บาท หลังจากนั้น จำเลยที่ 1 ไม่ได้สั่งซื้อสินค้าน้ำมันจากโจทก์อีกเลย ทั้งยังมิได้ชำระราคาน้ำมันที่สั่งซื้อไป โจทก์ทวงถามจำเลยทั้งสองแล้ว จำเลยทั้งสองเพิกเฉย
พิเคราะห์แล้ว สมควรวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อแรกก่อนว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์มิได้มีหนังสือรับรองการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือมาแสดง จึงรับฟังไม่ได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ โจทก์ไม่มีพยานมาเบิกความรับรองลายมือชื่อของนางพิศวรรณและนางสุรนี กรรมการผู้มีอำนาจโจทก์ กับนายวิทยา ผู้รับมอบอำนาจ รวมทั้งรับรองตราประทับในหนังสือมอบอำนาจว่า เป็นตราประทับของโจทก์ที่แท้จริง ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่า หนังสือมอบอำนาจเป็นหนังสือมอบอำนาจที่แท้จริง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง นั้น เห็นว่า หนังสือรับรองข้อความที่นายทะเบียนเก็บรักษาไว้ตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 มีข้อความว่า ข้อ 1. หนังสือฉบับนี้ออกให้เพื่อรับรองว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลจดทะเบียน ณ สหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ ได้รับหนังสือรับรองประกอบธุรกิจจากอธิบดีกรมทะเบียนการค้าแห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 บัญชีข. เลขที่ 23970 และบัญชี ค. เลขที่ 4256 (ทะเบียนเลขที่ 0100515042462) โดยประกอบธุรกิจได้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2515 ตลอดไป ออกโดยนายทะเบียนการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ตามสำเนาหนังสือรับรองข้อความ ที่นายทะเบียนเก็บรักษาไว้ตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต้างด้าว พ.ศ.2542 หนังสือรับรองดังกล่าวพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้น ถือเป็นเอกสารมหาชน ดังนั้น สำเนาหนังสือรับรองที่ทนายโจทก์รับรองความถูกต้อง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้และถูกต้อง ย่อมเป็นหน้าที่ของจำเลยทั้งสองที่โต้แย้งความไม่ถูกต้องของเอกสารต้องนำพยานหลักฐานมาสืบให้เห็นถึงความไม่ถูกต้องแห่งเอกสารนั้น เมื่อจำเลยทั้งสองมิได้นำพยานหลักฐานมาสืบให้เห็นว่า หนังสือรับรองข้อความ มีข้อความไม่ถูกต้องอย่างไร ย่อมต้องฟังว่าเป็นหนังสือรับรองที่แท้จริงและถูกต้อง ข้อความในหนังสือที่รับรองว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลจดทะเบียน ณ สหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ ย่อมรับฟังได้ ส่วนหนังสือรับรองการมอบอำนาจของโนตารีปับลิกแห่งกรุงลอนดอน ที่รับรองตราสำคัญของบริษัทโจทก์ และรับรองลายมือชื่อของนางพิศวรรณและนางสุรนี กรรมการบริษัทโจทก์ ว่าบุคคลทั้งสองได้มอบอำนาจและประทับตราสำคัญของโจทก์ มอบอำนาจให้นายถาวร หรือนายวิทยา หรือนางจิตติยา หรือนางธาริณี เป็นผู้กระทำการแทนโจทก์และหนังสือมอบอำนาจที่นายวิทยา มอบอำนาจให้นายบัณฑิตและหรือนายไกรศร เป็นผู้รับมอบอำนาจช่วง การที่โจทก์มิได้นำนางพิศวรรณ นางสุรนี และนายวิทยามาเป็นพยานเบิกความรับรองการมอบอำนาจ แต่มีนางสาวเพ็ญศิริ นายสุวิทย์และนายไกรศร เป็นพยานเบิกความรับรองหนังสือมอบอำนาจ นางสาวเพ็ญศิริ เป็นพนักงานของโจทก์ ตำแหน่งผู้จัดการเขตน้ำมันเชื้อเพลิงอุตสาหกรรมภาคกลาง นายสุวิทย์เป็นพนักงานของโจทก์ ตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงภาคใต้ถือเป็นฝ่ายบริหาร ส่วนนายไกรศรเป็นพนักงานของโจทก์และได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ให้ดำเนินคดีนี้ ย่อมมีความคุ้นเคยกับลายมือชื่อของนางพิศวรรณ นางสุรนีและนายวิทยา ซึ่งถือเป็นผู้บริหารระดับสูงและเป็นผู้บังคับบัญชาตามสายงาน การที่พยานโจทก์ทั้งสามปาก เบิกความรับรองความถูกต้องของการมอบอำนาจตามเอกสาร ย่อมรับฟังได้แล้วว่า การมอบอำนาจและการมอบอำนาจช่วงของโจทก์ตามหนังสือมอบอำนาจได้กระทำไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว หากจำเลยทั้งสองเห็นว่า การมอบอำนาจไม่ชอบอย่างไร ลายมือชื่อผู้มอบอำนาจไม่ใช่ลายมือชื่อที่แท้จริง จำเลยทั้งสองชอบที่จะนำพยานหลักฐานเข้าสืบเพื่อให้ศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงเป็นไปดังที่จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ไว้ เมื่อจำเลยทั้งสองไม่มีพยานหลักฐานใดมานำสืบหักล้างพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์ให้เห็นเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังตามที่โจทก์นำสืบ ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า สำเนาหนังสือมอบอำนาจช่วงถ่ายจากต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจที่ติดอากรแสตมป์และไม่ได้มีการขีดฆ่าอากรแสตมป์ จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์อ้างสำเนาหนังสือมอบอำนาจช่วง เป็นพยานเอกสารโดยจำเลยทั้งสองมิได้คัดค้านการนำเอกสารมาสืบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 125 ศาลย่อมรับฟังสำเนาเอกสารเป็นพยานหลักฐานโดยไม่ต้องปิดอากรแสตมป์ เมื่อศาลมิได้รับฟังต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจช่วงเป็นพยานหลักฐาน ต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจช่วงจะปิดอากรแสตมป์หรือไม่ ปิดอากรแสตมป์แล้วไม่ได้ขีดฆ่าหรือไม่ ย่อมไม่มีผลให้การรับฟังสำเนาหนังสือมอบอำนาจช่วงเป็นพยานหลักฐานเปลี่ยนแปลงไป ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองต่อไปว่า คำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ด้วยการใช้เอกสารท้ายฟ้องส่วนหนึ่งเป็นภาษาต่างประเทศ ไม่มีคำแปล อ่านแล้วไม่เข้าใจ นั้น เห็นว่า แม้เอกสารท้ายฟ้องถือเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง แต่เอกสารท้ายฟ้องส่วนที่เป็นภาษาอังกฤษก็เป็นการรับรองการมอบอำนาจของโจทก์ที่ทำในต่างประเทศโดยโนตารีปับลิกแห่งกรุงลอนดอน ซึ่งคำฟ้องโจทก์ก็บรรยายเป็นภาษาไทยไว้ชัดเจนว่า โจทก์ได้แต่งตั้งและมอบอำนาจให้นายวิทยา กระทำการแทนโจทก์รวมทั้งมีอำนาจมอบอำนาจช่วงได้ ซึ่งจำเลยทั้งสองก็ได้ให้การต่อสู้คดีไว้ แล้วว่าการมอบอำนาจไม่ว่าการมอบอำนาจภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร มิได้กระทำโดยผู้มีอำนาจ ลายมือชื่อผู้มอบอำนาจปลอมและตราประทับไม่ใช่ตราประทับที่แท้จริง จึงเป็นเอกสารปลอม การที่ไม่มีคำแปลหนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้องเป็นภาษาไทย ก็ไม่มีผลทำให้ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ฎีกาของจำเลยทั้งสองในส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองต่อไปว่า สัญญาซื้อขายน้ำมันตามฟ้องมีลักษณะเป็นการพนันขันต่อหรือไม่ เห็นว่า สัญญาซื้อขายน้ำมันตามฟ้องเป็นเรื่องที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญากันว่าในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งในอนาคต จำเลยที่ 1 ตกลงสั่งซื้อน้ำมันจากโจทก์ตามราคาที่กำหนดไว้ในสัญญาและโจทก์ก็ตกลงจะขายให้จำเลยที่ 1 ในราคาดังกล่าว เมื่อถึงช่วงเวลาตามสัญญาคู่สัญญาก็ต้องปฏิบัติตามข้อตกลงต่อกัน ฝ่ายใดไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญาก็ถือว่าเป็นฝ่ายผิดสัญญา สัญญาไม่มีลักษณะเป็นการพนันขันต่อแต่อย่างใด จึงใช้บังคับได้ ไม่เป็นโมฆะ ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์ไม่ได้รับอนุญาตจากทางราชการให้ทำสัญญาซื้อขายน้ำมันล่วงหน้าได้นั้น จำเลยทั้งสองมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ เพิ่งยกขึ้นอุทธรณ์และฎีกา จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยทั้งสองว่า โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระค่าปรับตามสัญญาเพียงใด เห็นว่า ค่าปรับคือ ค่าเสียหายที่คู่สัญญาตกลงกันไว้ล่วงหน้า กำหนดให้ฝ่ายที่ปฏิบัติผิดสัญญาต้องชดใช้ค่าปรับที่กำหนดไว้ให้แก่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งการที่ศาลจะกำหนดให้ฝ่ายที่ผิดสัญญารับผิดชำระค่าปรับเพียงใด ศาลจะต้องคำนึงถึงความเสียหายที่แท้จริงที่เกิดขึ้นแก่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง ไม่เฉพาะแต่ความเสียหายในเชิงทรัพย์สิน สำหรับคดีนี้ ค่าปรับที่กำหนดไว้ในสัญญาซื้อขายมี 2 กรณี คือ กรณีแรก ร้อยละ 15 ของจำนวนราคาสินค้าที่ผู้ซื้อยังซื้อไม่ครบตามสัญญา หรือกรณีที่สอง เท่ากับมูลค่าที่แตกต่างระหว่างราคาสินค้าตามสัญญากับราคาตลาดเฉลี่ยของสินค้าของผู้ค้ารายอื่นอย่างน้อย 3 ราย ภายในพื้นที่เดียวกันกับผู้ซื้อแล้วแต่ว่าจำนวนใดจะสูงกว่ากัน เมื่อพิจารณาถึงจำนวนค่าปรับสำหรับกรณีแรกตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 เป็นเงิน 2,021,281.35 บาท ส่วนค่าปรับกรณีที่สองที่โจทก์คำนวณและขอมาเป็นเงิน 5,212,200 บาท ซึ่งคำนวณเป็นประมาณร้อยละ 40 ของราคาน้ำมันที่จำเลยที่ 1 ยังสั่งซื้อไม่ครบ ซึ่งนับเป็นค่าปรับที่สูงมาก แต่เมื่อพิจารณาถึงว่าโจทก์เป็นผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ของประเทศ มีการสั่งซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงจากต่างประเทศหรือในประเทศมาจำหน่ายให้แก่ลูกค้ารายย่อยในประเทศไทยจำนวนมาก เป็นธรรมดาที่โจทก์ต้องมีการเจรจาตกลงสั่งซื้อน้ำมันล่วงหน้าจากผู้ผลิตน้ำมันจากต่างประเทศ ซึ่งโจทก์ต้องยอมรับความเสี่ยงเรื่องการขึ้นลงของน้ำมันในตลาดโลกและอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศซึ่งเคลื่อนไหวตลอดเวลา ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์เพิ่งแนะนำให้ลูกค้าของโจทก์ทำสัญญาซื้อขายน้ำมันล่วงหน้าจากโจทก์เมื่อต้นปี 2551 โดยโจทก์เชิญชวนลูกค้าเข้าสัมมนาก่อนทำสัญญา จึงเห็นได้ว่า การแนะนำลูกค้าให้ทำสัญญาซื้อขายน้ำมันล่วงหน้าจากโจทก์ ถือเป็นการแบ่งเบาภาระและความเสี่ยงอันเกิดจากราคาน้ำมันของโจทก์ไปให้แก่ลูกค้าของโจทก์นั่นเอง จำเลยที่ 1 เป็นผู้ค้าน้ำมันรายย่อยที่จังหวัดสุรินทร์ ความรู้ความเข้าใจถึงความเสี่ยงของราคาน้ำมันและอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศอาจยังไม่เพียงพอ พยานได้สอบถามจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 บอกว่า ราคาน้ำมันสูงกว่าราคาตลาดจึงไม่ซื้อน้ำมันจากโจทก์เจือสมคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ทำให้คำเบิกความของจำเลยที่ 2 มีน้ำหนักให้รับฟัง จึงทำให้เกิดความสงสัยว่า โจทก์ได้รับความเสียหายเท่ากับจำนวนส่วนต่างของราคาน้ำมันจริงหรือไม่ ซึ่งโจทก์มีหน้าที่นำสืบให้เห็นว่า โจทก์ได้รับความเสียหายจากการที่จำเลยที่ 1 ไม่สั่งซื้อน้ำมันตามสัญญาเท่ากับส่วนต่างของราคาน้ำมันตามสัญญากับราคาน้ำมันของตลาดในพื้นที่ แต่โจทก์มีนางสาวศิริเพ็ญเป็นพยานเบิกความเพียงว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยมีหนังสือถึงธนาคารเจพีมอร์แกน เชส จำกัด สาขากรุงเทพมหานคร อนุญาตให้โจทก์ทำสัญญาคุ้มครองความเสี่ยงของราคาน้ำมันกับบริษัทเชลล์อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งก็ไม่ได้ความว่า สัญญาระหว่างโจทก์กับบริษัทเชลล์อินเตอร์เนชั่นแนล มีข้อตกลงซื้อขายน้ำมันล่วงหน้ากันอย่างไรหรือไม่ เกี่ยวข้องกับจำนวนน้ำมันที่โจทก์ทำสัญญาซื้อขายน้ำมันล่วงหน้ากับจำเลยที่ 1 หรือไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่า เมื่อโจทก์ตกลงทำสัญญาซื้อขายน้ำมันกับจำเลยที่ 1 ตามฟ้องแล้ว โจทก์ต้องไปทำสัญญาไพร์ซิ่ง สวอป (Product Pricing Swap) กับต่างประเทศ เพื่อคุ้มครองความเสี่ยงราคาน้ำมัน มีจำนวนเงินเท่ากับสัญญาซื้อขาย โจทก์ต้องรับผิดชำระเงินให้ต่างประเทศตามสัญญาไพร์ซิ่ง สวอป เท่ากับจำนวนที่จำเลยที่ 1 ไม่สั่งซื้อน้ำมันจากโจทก์ จึงไม่อาจรับฟังได้ ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตนั้น จำเลยทั้งสองมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ต้องห้ามมิให้จำเลยทั้งสองฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ทั้งสัญญาซื้อขายตามฟ้องไม่เข้าลักษณะของสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 จึงไม่อาจนำบทบัญญัติของกฎหมายมาใช้บังคับดังที่จำเลยทั้งสองฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระค่าปรับแก่โจทก์ จำนวนร้อยละ 15 ของจำนวนราคาน้ำมันที่จำเลยที่ 1 ยังสั่งซื้อไม่ครบตามสัญญาเป็นเงิน 2,021,281.35 บาท นั้น เหมาะสมแล้ว ฎีกาของโจทก์และจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share