คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11637/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เช็คพิพาททั้งสี่ฉบับมิได้มีคำว่ากู้หรือยืมเลย และอ่านข้อความในเช็คพิพาททั้งหมดก็ไม่มีข้อความใดเลยที่ส่อแสดงให้รู้ได้ว่าเป็นการกู้ยืมเงินกัน อีกทั้งสภาพของเช็คก็เป็นการใช้เงิน ไม่ใช่การกู้หรือยืมเงิน เช็คพิพาททั้งสี่ฉบับจึงมิใช่เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินตามเช็คทั้งสี่ฉบับพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินถึงวันฟ้องเป็นเงิน 310,561 บาท กับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 300,000 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยโดยกำหนดค่าทนายความให้ 5,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน จำเลยไม่ได้แก้อุทธรณ์ จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยต้องรับผิดชำระหนี้ตามเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับให้แก่โจทก์ตามฟ้อง เห็นว่า โจทก์อ้างว่าจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ตามสำเนาหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน แต่จำเลยให้การปฏิเสธว่า ไม่เคยกู้ยืมเงินโจทก์และไม่เคยมอบเช็คพิพาทให้โจทก์ โจทก์จึงต้องมีพยานหลักฐานมานำสืบแสดงให้เห็นว่า จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์และมอบเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินจริง แต่ข้อเท็จจริงกลับได้ความตามคำเบิกความของโจทก์เองว่า จำเลยไม่ได้มาติดต่อขอกู้ยืมเงินโจทก์ด้วยตนเองแต่จำเลยมอบหนังสือสัญญากู้ยืมเงินที่โจทก์อ้างว่าจำเลยลงลายมือชื่อในช่องผู้กู้ไว้แล้วพร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนให้นางวิภามากู้ยืมเงินไปจากโจทก์ แต่นางสาววิลาศิณีย์พยานโจทก์เบิกความแตกต่างไปจากโจทก์ว่า นายวีรชนเลขาส่วนตัวของจำเลยเป็นผู้มอบหนังสือสัญญากู้ยืมเงินที่จำเลยลงลายมือชื่อในช่องผู้กู้ไว้แล้วพร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนให้นางสาววิลาศิณีย์และนางวิภาไปกู้ยืมเงินโจทก์ จากคำเบิกความดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า นางสาววิลาศิณีย์และนางวิภาไม่ได้รับต้นฉบับของสำเนาหนังสือสัญญากู้ยืมเงินและสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน จากจำเลยโดยตรง จึงไม่มีพยานโจทก์ปากใดเลยที่เห็นจำเลยลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญากู้ยืมเงินต่อหน้าตนเอง ส่วนจำเลยนอกจากมีตัวจำเลยเบิกความยืนยันว่า ไม่เคยลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวแล้วยังนำสืบหักล้างอีกว่าตามรายงานการตรวจพิสูจน์ ที่พันตำรวจโทพิษณุ ผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจพิสูจน์เอกสาร กองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ตรวจพิจารณาลายมือชื่อตรงช่องผู้กู้ในสำเนาหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน เปรียบเทียบกับลายมือชื่อของจำเลยในเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับ และตัวอย่างลายมือชื่อของจำเลยที่เขียนต่อหน้าศาลแล้ว ปรากฏว่ามีคุณสมบัติของการเขียนและรูปลักษณะของตัวอักษรแตกต่างกัน จึงลงความเห็นว่าไม่ใช่ลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกัน ข้อเท็จจริงจึงเชื่อได้ว่า จำเลยไม่ได้ลงลายมือชื่อในสำเนาหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน นอกจากนี้โจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านยอมรับว่า นางวิภาจะนำเงินกู้ไปมอบให้จำเลยจริงหรือไม่โจทก์เองก็ไม่ทราบ ส่วนที่โจทก์ฎีกาอ้างว่า นางสาววิลาศิณีย์พยานโจทก์เห็นนางวิภามอบเงิน 300,000 บาท ให้นายวีรชนแล้วนางวิภาโทรศัพท์แจ้งจำเลยว่ามอบเงินให้นายวีรชนไปแล้วนั้น เห็นว่า พยานปากนี้เบิกความกล่าวอ้างเพียงลอย ๆ เท่านั้น เพราะพยานเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านยอมรับว่า พยานไม่เคยติดต่อกับจำเลย นางวิภานั้นก็ไม่รู้จักกับจำเลย และนายวีรชนเป็นคนบอกพยานว่านายวีรชนเป็นเลขาส่วนตัวของจำเลย ดังนี้ พยานปากนี้ย่อมต้องไม่ทราบอย่างแน่แท้ว่าผู้ที่นางวิภาโทรศัพท์ไปหานั้นเป็นจำเลยจริงหรือไม่ ส่วนที่นายวีรชนบอกว่าเป็นเลขาส่วนตัวของจำเลยก็เป็นเพียงคำกล่าวอ้างของนายวีรชนเท่านั้น แต่นายวีรชนจะเป็นเลขาส่วนตัวของจำเลยจริงหรือไม่ เชื่อว่าพยานปากนี้ก็ไม่ทราบ อีกทั้งจำเลยเองก็เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านยืนยันว่า นายวีรชนมิได้เป็นเลขาส่วนตัวของจำเลยและจำเลยไม่เคยมอบแบบฟอร์มหนังสือสัญญากู้ยืมเงินให้แก่นายวีรชน กรณีจึงมีข้อพิรุธน่าสงสัยว่า จำเลยจะมอบหมายให้นายวีรชนมาติดต่อขอกู้ยืมเงินโจทก์แล้วมอบเงินกู้จำนวนดังกล่าวให้แก่จำเลยจริงหรือไม่ ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อพิเคราะห์ถึงความสมเหตุสมผลของการกู้ยืมเงินและรายละเอียดตามสำเนาหนังสือสัญญากู้ยืมเงินแล้วยิ่งมีข้อพิรุธน่าสงสัยหลายประการ กล่าวคือ ประการแรกข้อเท็จจริงได้ความตามที่โจทก์เบิกความตอบจำเลยถามค้านว่า โจทก์รู้จักกับจำเลยเพียงเพราะจำเลยเคยลงสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและเคยไปหาเสียงที่บ้านของโจทก์ บ่งชี้แสดงว่า โจทก์รู้จักกับจำเลยเพียงผิวเผินเท่านั้น จึงเป็นข้อพิรุธอย่างยิ่งที่โจทก์จะยินยอมให้คนที่รู้จักกันเพียงผิวเผินและไม่ได้มาขอกู้ยืมเงินกับโจทก์โดยตรงกู้ยืมเงินโจทก์เป็นจำนวนมากถึง 300,000 บาท ทั้งที่ไม่มีหลักประกันอื่นใดนอกจากเช็คพิพาทเท่านั้น ประการต่อมาโจทก์อ้างว่ากู้ยืมเงินกัน 300,000 บาท แต่ขัดแย้งกับข้อความตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินที่ระบุว่า กู้ยืมเงินกัน 350,000 บาท แม้โจทก์จะเบิกความให้เหตุผลว่า ส่วนที่เกินไป 50,000 บาท นั้นเป็นเพราะหากจำเลยผิดนัดจำเลยจะให้โจทก์เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีก็ตาม แต่เช็คพิพาทที่โจทก์อ้างว่าจำเลยให้ไว้เป็นหลักฐานในการกู้ยืมเงินก็มีจำนวนเงินรวมกันเพียง 300,000 บาท เท่านั้น ไม่ครอบคลุมถึงค่าใช้จ่ายตามที่โจทก์อ้าง ประการสุดท้ายเมื่อมีการแก้ไขขีดฆ่าข้อความในหนังสือสัญญากู้ยืมเงินข้อ 3 และข้อ 4 จำเลยในฐานะผู้กู้ก็ไม่ได้ลงลายมือชื่อกำกับ แต่กลับเป็นนางวิภาซึ่งเป็นเพียงพยานในหนังสือสัญญากู้ยืมเงินและไม่รู้จักกับจำเลยมาก่อนลงลายมือชื่อกำกับ ส่วนที่โจทก์ฎีกาอ้างอีกว่า เช็คพิพาทที่จำเลยลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายจึงเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินได้เช่นกันนั้น เห็นว่า เช็คพิพาททั้งสี่ฉบับมิได้มีคำว่า กู้หรือยืมเลย และอ่านข้อความในเช็คพิพาททั้งหมดก็ไม่มีข้อความใดเลยที่ส่อแสดงให้รู้ได้ว่าเป็นการกู้ยืมเงินกัน อีกทั้งสภาพของเช็คก็เป็นการใช้เงิน ไม่ใช่การกู้หรือยืมเงิน ฉะนั้น เช็คพิพาททั้งสี่ฉบับจึงมิใช่เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืม ด้วยเหตุผลดังที่ได้วินิจฉัยมาเป็นลำดับ พยานหลักฐานของจำเลยจึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่จำเลยนำสืบหักล้างว่า จำเลยไม่ได้ลงลายมือชื่อในช่องผู้กู้และไม่ได้กู้ยืมเงินจากโจทก์ตามสำเนาหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน เช็คพิพาทจึงไม่มีมูลหนี้ ดังนั้น จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ตามเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share